ภารกิจเร่งฟื้นประเทศ ทุกมาตรการต้องรอบคอบ

ภารกิจเร่งฟื้นประเทศ ทุกมาตรการต้องรอบคอบ

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประชาชนและภาคธุรกิจต่างเริ่มเคลื่อนไหวดำเนินการอีกครั้ง ขณะเดียวกันรัฐบาลเร่งเดินหน้าฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็ว ซึ่งสิ่งสำคัญคือการออกแบบมาตรการต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือหลายหน่วยงานและความรอบคอบ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่เริ่มคลี่คลาย รวมถึงการมาของวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรค เริ่มทำให้ทุกภาคส่วนของประเทศมั่นใจในการดำเนินธุรกิจ และการใช้ชีวิตเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมาเราบอบช้ำมากจากวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้นกินเวลาเป็นปี ระบบเศรษฐกิจประเทศสาหัส จนต้องเยียวยาแก้ไขกันอย่างสุดความสามารถ ถึงวันนี้หลายมาตรการเยียวยาได้ต่ออายุให้มีผลให้ยาวนานขึ้น เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบใช้ประโยชน์ และบรรเทาความเดือดร้อน แม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะการเข้าถึงตัวมาตรการ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทบทวน และออกแบบให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด ที่สำคัญทุกคนในประเทศต้องเข้าถึงได้ไม่เว้นแม้ว่ากลุ่มไหน เพราะโควิด-19 สร้างผลกระทบให้ทุกคน ทุกกลุ่ม

ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้าฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมาได้เร็ว หลังสถานการณ์โดยภาพรวมเริ่มดีขึ้น ซึ่งวานนี้ (4 มี.ค.) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับหัวหน้าทีมชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงทีมงานที่ออกไปรับฟังความคิดเห็นจากนักธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ เพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรคของการลงทุนในประเทศไทยว่า ยังติดขัดเรื่องของปัญหาและกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งต้องแก้ไขอย่างจริงจัง รวมถึงต้องปรับเปลี่ยนมาตรการทางภาษีบางส่วน เพื่อจูงใจนักลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย โดยคาดว่าการลงทุนจากต่างประเทศจะฟื้นตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565 หลังจากที่ปี 2564 เป็นการให้น้ำหนักกับการประคับประคองเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ

หนึ่งในมาตการที่รัฐกำลังพิจารณา คือ เรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลว่าจะปรับลดลง เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับประเทศที่เป็นคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทั้งเวียดนาม

ซึ่งหากเราเน้นมาตรการด้านภาษี ก็อาจเป็นตัวดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาบ้านเราได้มากขึ้น ซึ่งนักลงทุนเองก็พิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ดังนั้นรัฐบาลต้องพิจารณาให้ดี และรอบคอบ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงการขอวีซ่าและต่ออายุสมาร์ทวีซ่าของคนที่ทำงานในไทย ขั้นตอนศุลกากรส่งออกนำเข้าที่ต้องปรับปรุงให้รวดเร็วขึ้น 

รวมถึงอีกหลายมาตรการที่เป็นข้อเสนอของภาคเอกชน ที่รัฐควรต้องพิจารณา เช่น การผ่อนปรนการเดินทางระหว่างประเทศแบบบิซิเนส บับเบิล สำหรับนักลงทุนที่ต้องการเดินทางเข้ามาเพื่อติดต่อธุรกิจในประเทศไทยจำนวนมากต้องการให้ลดเวลากักตัว หรือไม่ต้องมีเลย จากเดิมที่ต้องกักตัว 14 วัน ส่วนนี้น่าจะช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามาได้อีก ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศก็เริ่มเปิดประเทศมากขึ้น ผ่อนคลายกฎต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนเดินทางระหว่างประเทศได้ เราเห็นว่า การออกแบบมาตรการต่างๆ ทุกกระบวนการ ทุกขั้นตอนต้องอาศัยความร่วมมือหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นทุกมาตรการเพื่อพลิกฟื้นประเทศครั้งนี้ ควรต้องรอบคอบ และประเทศต้องได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง