‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด‘อ่อนค่า’ที่ 30.41บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด‘อ่อนค่า’ที่ 30.41บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินปรับตัวรับยีลด์สูงขึ้น ฝั่งเงินบาทคาดมีโอกาสอ่อนค่าลงตามทิศทางราคาทองคำและเงินดอลลาร์ แม้มีกระแสเงินทุนไหลเข้าทั้งหุ้นและบอนด์ไทยติดต่อกัน มองเงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบแคบ จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์(SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.41 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.35 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.33-30.53 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินทั่วโลกปรับตัวรับภาพยีลด์ที่สูงขึ้นในคืนที่ผ่านมา หลังนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐเห็นการเทขายบอนด์ในช่วงนี้และกำลังกำลังจับตาอยู่ แต่ไม่ได้กังวลกับความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อ

และเชื่อว่านโยบายการเงินในปัจจุบันของเฟดอยู่ในจุดที่เหมาะสมความเห็นดังกล่าวหนุนให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปี ปรับตัวขึ้นต่อ 6.6bps มาที่ระดับ 1.55% กดดันตลาดหุ้นให้ปรับตัวลงโดยดัชนี S&P 500 ของสหรัฐลดลง 1.34% นำโดยหุ้นขนาดเล็กและหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ส่วนดัชนี STOXX 600 ของยุโรปแม้จะพบกับความผันผวนที่สูงขึ้นแต่ก็มีการฟื้นตัวของตลาดอิตาลีและสเปนจึงปรับตัวลงเพียง 0.32%

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐ (U.S. Initial Jobless Claims) ล่าสุดปรับตัวลงมาที่ระดับ 7.45 แสนตำแหน่ง ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (U.S. Jan. Durable Goods Orders) ปรับตัวขึ้น 3.4% จากเดือนก่อนสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังฟื้นตัว ผสมกับตลาดการเงินที่ผันผวน จึงทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นถึง 0.7% กดดันราคาทองคำร่วงลงแตะระดับ 1700 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง

ฝั่งเงินบาท มองว่ามีโอกาสอ่อนค่าลงตามทิศทางราคาทองคำและเงินดอลลาร์ แม้จะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าทั้งหุ้นและบอนด์ไทยติดต่อกันเป็นวันที่สอง มองว่าระหว่างวัน เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบแคบ เนื่องจากมีทั้งแรงหนุนและแรงต้านผสมผสานกัน ขณะที่การซื้อขายในตลาดช่วงนี้ก็ไม่สูงมาก เนื่องจากนักค้าเงินส่วนใหญ่กำลังรอดูแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและภาพรวมตลาดแรงงานของสหรัฐในวันศุกร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาท ประเมินว่า ในระยะสั้น ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่ยังคงผันผวนในกรอบกว้างอยู่ และอาจอ่อนค่าลง ตามทิศทางของเงินดอลลาร์ รวมถึงแรงเทขายสินทรัพย์ในฝั่ง EM โดยยังคงต้องระวัง กรณีที่ยีลด์ 10ปีสหรัฐฯ ยังพุ่งขึ้นต่อได้

ตามความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่อาจได้แรงหนุนจากการจ้างงานที่ดีกว่าคาดและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้ สกุลเงิน EM ผันผวนมากขึ้นและอ่อนค่าลงได้ ตามแรงเทขายสินทรัพย์ EM (ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออก)

ทั้งนี้ เงินบาทอาจจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะฝั่งผู้ส่งออกก็ต่างรอขายเงินดอลลาร์ หาก เงินบาทอ่อนค่าลงไปแตะระดับ30.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในกรอบกว้างถึง 30.15-30.50 บาทต่อดอลลาร์

แต่ถ้าหากเงินบาทอ่อนค่าลงไปหลุดระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ ก็มีโอกาสที่ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าลงไปในโซน30.75-30.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งเรามองว่า ผู้ส่งออกควรทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงิน ในช่วงที่เงินบาทกลับมาอ่อนค่า เนื่องจากในระยะยาว เราคงมองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มกลับไปแข็งค่าได้อยู่

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.35-30.50 บาทต่อดอลลาร์