ปรับการคิดเชิงออกแบบ    เพื่อองค์กรที่มีการแข่งขัน

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารที่มีจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันทางธุรกิจ

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารที่มีจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันทางธุรกิจ ทำให้บางธุรกิจยังคงดำรงอยู่ได้ แต่บางธุรกิจไปไม่รอด สิ่งที่องค์กรจะต้องปรับตัวให้ได้ในการแข่งขัน จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมืออันทรงพลัง ที่จะทำให้องค์กรยังคงอยู่ได้ในสภาพที่ทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและพลิกผัน

เมื่อกล่าวถึง การคิดเชิงออกแบบ (Design thinking) นั้น มีหลายคนรู้จักและนำมาปรับใช้ในองค์กร แต่ก็ยังมีหลายคนที่ยังไม่รู้จัก วันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอกระบวนการการคิดเชิงออกแบบ เพื่อให้เข้าใจและนำมาปรับใช้ภายในองค์กร ซึ่ง Tim Brown, CEO ของ IDEO ได้กล่าวถึง การคิดเชิงออกแบบเป็นกระบวนการที่ใช้มนุษย์(คน) เป็นศูนย์กลางในการสร้างนวัตกรรมซึ่ง ได้ออกแบบจากเครื่องมือในการออกแบบที่ผสมผสานความต้องการของคน ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีและสิ่งที่ธุรกิจจะต้องมีในการสร้างความสำเร็จ โดยใช้กระบวนการออกแบบ ซึ่งมุ่งเน้นในการใช้คนเป็นศูนย์กลางในการออกแบบ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงซึ่งเกิดจากการสร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง การนิยามหรือตีกรอบปัญหา การระดมความคิดและการคัดเลือกไอเดีย การสร้างต้นแบบ และการทดสอบ

เมื่อมองลึกลงไปในธุรกิจในยุคที่มีการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ องค์กรขนาดเล็ก หรือ องค์กรที่เกิดใหม่ ทุกองค์กรต่างก็ต้องปรับตัวและค้นหาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานหรือผู้บริโภค สิ่งที่สำคัญคือ การนำกระบวนการการคิดเชิงออกแบบมาปรับใช้พร้อมจะขับเคลื่อนและสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมขององค์กร โดยเริ่มจาก เห็นปัญหาขององค์กรให้ได้อย่างชัดเจน เช่น ปัญหาจากผลิตภัณฑ์หรือการบริการขององค์กร ในกระบวนการนี้จะต้องทำความเข้าใจปัญหาให้ชัดเจนในทุกประเด็น จะต้องสร้างความเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการของผู้ใช้งานอย่างลึกซึ้ง

 โดยอาจนำวิธีการ การสร้างความเข้าใจผ่านการสังเกตและการสวมบทบาท (Observe & Immerse) การสร้างความเข้าใจผ่านการสัมภาษณ์ (Interview) จานนั้นทำการรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งาน และจัดทำแผนภูมิแห่งการสร้างความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (Empathy Map) ให้เห็นองค์ประกอบ ต่อไปนี้ ลูกค้าคิดและรู้สึกอย่างไร? ลูกค้าได้ยินอะไร? ลูกค้ามองเห็นอะไร? ลูกค้าพูดและทำอะไรบ้าง?จุดเจ็บปวด หรือปัญหาของคุณลูกค้าคืออะไร และสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้รับคืออะไร

ขั้นตอนต่อไปของกระบวนการในการคิดเชิงออกแบบ คือ การนิยามหรือการตีกรอบปัญหา (Define) โดยในขั้นตอนนี้จะเป็นการเรียบเรียงข้อมูลที่ได้รวบรวมมาจากการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เห็นจุดสัมผัสในแต่ละช่วง เช่น ในขั้นตอนการติดต่อประชาสัมพันธ์ จุดสัมผัสอาจเป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หรือ หากเป็นขั้นตอนการค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต จุดสัมผัสอาจเป็นหน้าเว็บ เป็นต้น 

หลังจากที่ได้ตีกรอบปัญหา (Define) ของผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการระดมความคิด (Ideate) เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาของผู้ใช้งาน ในขั้นตอนนี้เป้าหมายคือการค้นหาไอเดียสร้างสรรค์ที่จะสามารถตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของผู้ใช้งานได้มากที่สุด 

ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือการส่งเสริมให้สมาชิกในทีมนักออกแบบสามารถใช้พลังแห่งความสร้างสรรค์และจินตนาการได้อย่างเต็มที่ผ่านการระดมสมองในทีม ขั้นตอนต่อไปคือ การสร้างต้นแบบวัตถุประสงค์ของการสร้างต้นแบบ คือ การทดสอบสมมติฐานที่ว่าไอเดียที่ได้คิดค้นขึ้นนั้นจะสามารถ ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของผู้ใช้งานได้จริงหรือไม่ โดยการสร้างต้นแบบจะต้องเป็นการสร้างการจำลอง สถานการณ์นั้น ๆ หรือสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำได้เร็วและทดสอบได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้ทีมงาน สามารถกลับไปปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดของต้นแบบได้อย่างรวดเร็ว แล้วทำการทดสอบซ้ำเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลงาน ออกแบบที่คิดขึ้นจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างถูกต้องครบถ้วนที่สุด 

ดังนั้น การคิดเชิงออกแบบ (Design thinking) จึงเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญต่อองค์กร ที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จและสามารถแข่งขันได้ในปัจจุบันและอนาคต