สศอ.เปิดแผนอิเล็กฯอัจฉริยะ ดึงลงทุน5หมื่นล้าน

สศอ.เปิดแผนอิเล็กฯอัจฉริยะ ดึงลงทุน5หมื่นล้าน

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เพื่อยกระดับไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายให้ปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านล้านบาท และดึงลงทุน 5 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 มีเทคโนโลยีของตัวเองในปี 2570

พะเยาว์ คำมุข รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564-2570) ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมนี้ของไทยพึ่งพาผลิตภัณฑ์หลักไม่กี่ชนิด และมีแนวโน้มชะลอตัวลง นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงผู้รับจ้างประกอบ หรือ OEM โดยไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง และขาดความเชื่อมโยงระหว่างการวิจัยและพัฒนากับการผลิตเชิงพาณิชย์ และไม่มีการลงทุนในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูงกลุ่มใหม่ ๆ

ในขณะที่เวียดนามที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก เฉลี่ยถึง 20% ต่อปี เนื่องจากดึงดูดการลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเข้ามาลงทุนในประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศเวียดนามมีการส่งออกในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าประเทศไทย โดยอยู่ในอันดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ ดังนั้นอุตสาหกรรมนี้ของไทยจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการผลิตแบบเดิมที่พึ่งพาแรงงานสูงและใช้เงินลงทุนต่ำไปสู่การผลิตสินค้าที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในอนาคต และสร้าง Supply chain ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีสูงและมีมูลค่าเพิ่มสูง

โดยจากการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัด ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทย พบว่า ในจุดแข็ง ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทข้ามชาติมานานกว่า 50 ปี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีห่วงโซ่อุปทานในประเทศจำนวนมาก และมีสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศสูง สินค้าที่มีการผลิตหลายประเภทสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะได้ รวมทั้งผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศมีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสามารถต่อยอดไปสู่การออกแบบ และเพิ่ม Value Creation ได้ และมีความพร้อมในการบูรณาการภายในอุตสาหกรรมหรือระหว่างอุตสาหกรรม เพื่อสร้างระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพ

ส่วนจุดอ่อน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยยังขาดการบูรณาการกับภาคส่วนอื่น เช่น ภาคเกษตร ภาคสาธารณสุข เป็นต้น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะยังขาดแคลนบุคลากรที่มีศักยภาพในการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ บูรณาการระบบ และพัฒนาระบบ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่มีมูลค่าเพิ่มสูง รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานในการออกแบบและพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ยังมีไม่เพียงพอ ได้แก่ ห้องแล็ปเพื่อการวิจัยพัฒนา และห้องปฏิบัติการทดสอบมาตรฐาน ตลอดจนขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิจัยและพัฒนา และการกำหนดหรือทดสอบมาตรฐานสำหรับระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

161496482589

ด้านโอกาส ไทยสนับสนุนอุตสาหกรรม S-curve 10 ประเภทอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะจะช่วยพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาด และเพิ่มมูลค่าให้กับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายได้ จะส่งผลให้เกิดเป็นตลาดของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศที่ใหญ่ และมีโอกาสที่ผู้ประกอบการในประเทศจะพัฒนาต่อได้ รวมทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทยมีศักยภาพสูง และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นอย่างดี โอกาสในการพัฒนาอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ควบคู่กับการสั่งการผ่านระบบดิจิทัลขยายตัวได้ เพราะภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทยที่นำระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะไปใช้มีความเข้มแข็งมาก และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ทั้งภาคการเกษตร ภาคการสาธารณสุข ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งการนำเอาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะมาใช้นั้น นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่า และสร้างการยอมรับให้กับภาคธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น ยังเป็นการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะไปในตัวด้วย

สำหรับ ข้อจำกัด มีหลายประเทศในโลกเร่งพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพื่อใช้ประโยชน์ภายในอุตสาหกรรม ดังนั้นประเทศไทยต้องเร่งสนับสนุนการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่เป็นของตัวเอง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและรักษามูลค่าเพิ่มเอาไว้ในประเทศให้มากที่สุด รวมทั้งการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในหลายประเทศได้รับการสนับสนุน หรือร่วมลงทุนจากภาครัฐ หรืออาจเป็นการประกันการซื้อโดยภาครัฐ เพื่อลดความเสี่ยงของการพัฒนาในช่วงแรก และช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่รอดและประสบความสำเร็จในระยะยาว ซึ่งภาครัฐของไทยยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมากในการดำเนินบทบาทเช่นนี้

จากการประเมิณมูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของโลกปี พ.ศ.2565 – 2569 จะมีมูลค่าสูงถึง 2,537.24 พันล้านดอลลาร์ โดยตลาดที่มีมูลค่าสูงที่สุด ได้แก่ ตลาด Smart city & Community มีสัดส่วนประมาณ 77% ตลาด Smart Factory & Automation มีสัดส่วน 14% ตลาด Smart Home มีสัดส่วนประมาณ 4% ตลาด Smart Office มีสัดส่วนประมาณ 2% ตลาด Smart hospital & Health มีสัดส่วนประมาณ 2% และตลาด Smart Farm มีสัดส่วนประมาณ 1% ทั้งนี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ตื่นตัวและให้ความสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและ การบริหารจัดการ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐ และจีน มีการกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ทำให้ประเทศดังกล่าวสามารถรักษาการเป็นผู้ผลิตชั้นนำของโลกได้ในปัจจุบัน              

สำหรับเป้าหมายของแผนปฏิการนี้ จะยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 โดยมีเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ Smart Home, Smart Factory และ Smart Farm เป้าหมายระยะสั้น ปี 2564-2565 จะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 55% ของการส่งออกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2565 หรือเพิ่มจากปี 2562 มีมูลค่าการส่งออก 891,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48% เป้าหมายระยะกลาง ปี 2566-2570 ยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะให้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท ภายในปี 2567 หรือเพิ่มจากปี 2560 มีมูลค่าการลงทุน 38,270 ล้านบาท เพิ่มสัดส่วนการส่งออกในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะไม่น้อยกว่า 60% ของการส่งออกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2565 จากปี 2562 มีมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมนี้ 891,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48% โดยแนวทางในการพัฒนาจะสร้าง Supply chain ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กลุ่มใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และมีมูลค่าเพิ่มสูงให้เกิดขึ้นในประเทศ โดยแนวทางในการพัฒนาจะส่งเสริมความเชื่อมโยงตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมต้นน้ำ จะสนับสนุนการผลิตและการลงทุนชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ต้นน้ำในประเทศ เช่น อุตสาหกรรม Micro Electronics สำหรับอุตสาหกรรม S-Curve ต่าง ๆ เช่น Wafer Fabrication, Sensor, Micro Electro Mechanical Systems (MEMs), Optical Semiconductor และ IoT Semiconductor เป็นต้น ซึ่งจะนไไปสู่การต่อยอดจากอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีฐานการผลิตเดิม เช่น อุตสาหกรรมการผลิต IC Packaging ไปสู่อุตสาหกรรม IC Design ซึ่งใช้เงินลงทุนน้อยแต่สร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงมาก และมีศักยภาพในการขยายไปสู่การพัฒนาระบบ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะต่อไป นอกจากนี้ ยังต้องสนับสนุนการผลิตแรงงานที่มีทักษะเฉพาะด้าน เช่น IC Testing, IC Design และ Micro device design เป็นต้น ทั้งนี้ อาจใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและหน่วยงาน พัฒนาบุคลากรของภาครัฐที่มีอยู่ เช่น ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในการต่อยอดหรือพัฒนาหลักสูตรต่อไปในอนาคต

อุตสาหกรรมกลางน้ำ สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่สำคัญตลอด Supply chain ของอุตสาหกรรม S-Curve ต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ Sensor module, Electronic for EV, IoT Gateway, Electronic control device, Consumer Electronic, RFID, Smart Watchเป็นต้น โดยพัฒนาอีโคซิสเต็ม และอุตสาหกรรมสนับสนุนรองรับในประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เช่น ระบบการผลิตอัตโนมัติ โครงสร้างพื้นฐานด้าน IoT , 5G และ Data Analytics การเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการทดสอบ และการเตรียมความพร้อมด้านแรงงาน เช่น การพัฒนาบุคลากรทางด้าน System Developer (SD) เพื่อติดตั้งและเชื่อมโยงระบบ Smart Electronics รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในอนาคต

อุตสาหกรรมปลายน้ำ จะกระตุ้น ขยาย และเข้าถึงตลาดของอุตสาหกรรมเป้าหมายของระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ Smart Home, Smart Factory และ Smart Farm รวมถึง Electronic Vehicle (EV) เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อย่างเต็มที่ และมีการใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ผลิตขึ้นในประเทศให้มากที่สุด

ส่วนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก คือ มาตรการที่ 1 ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเดิม และส่งเสริมให้เกิดพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะใหม่ โดยสร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ประกอบด้วยการดึงดูดการลงทุน ในอุตสาหกรรม Micro Electronics, Power Electronics แ ล ะ Communication Electronics จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะอย่างครบวงจรกับผู้ประกอบการรายเดิมของไทยที่ดำเนินการอยู่ และผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามาลงทุน

การบูรณาการการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ เฉพาะทางเพื่อรองรับการลงทุน และส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม Smart Electronics เช่น ด้าน IC/Circuit/PCB Design, ด้าน Testing Design and Development, ด้าน Micro/Nano Device Design และ Wafer Fabrication และด้านการออกแบบวงจรรวมและเซ็นเซอร์ และการประกอบขั้นสูง เพื่อให้เกิดฐานข้อมูล อุปสงค์และอุปทานภายในประเทศ อันจะนำไปสู่การ matching และบูรณาการการผลิต

การส่งเสริมการผลิตด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยใช้ Automation, IoT, 5G และ Data Analytics เพื่อยกระดับและเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมไทย โดยอาจเป็นการสนับสนุนทางด้านตลาด เช่น สนับสนุนให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ผลิตโดยผู้ประกอบการไทย หรือสนับสนุนด้านการเงินและกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้าน Smart Electronics, IoT และ AI สำหรับภาคเอกชน

มาตรการที่ 2 กระตุ้นอุปสงค์ เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ โดยในระยะแรกจะเน้นการพัฒนาอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ Smart Home, Smart Factory และ Smart Farm โดยการกำหนดหรือสนับสนุนให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทยในโครงการของรัฐ หรือใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ดำเนินการโดยผู้ประกอบการไทยในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่า 50% หรือได้มาตรฐานตามที่หน่วยงานมาตรฐานของไทยกำหนด

นอกจากนี้ จะสร้างอุปสงค์การใช้ภายในประเทศให้มีขนาดใหญ่พอสำหรับผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยการกระตุ้นอุปสงค์การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของภาคเอกชนและภาครัฐในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคการก่อสร้าง ภาคการผลิตในโรงงาน ภาคการเกษตร และภาคการบริการเมือง ให้ใช้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเป็นการวางแนวทางให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็น Smart Home & Smart Appliance, Smart Factory และ Smart Farm ในอนาคต รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิด Smart Farm โดยสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและการให้คำปรึกษา เพื่อสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

สนับสนุนให้เกิด Smart Factory โดยสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในการติดตาม ควบคุมและตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักร โดยภาครัฐอาจจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือให้เงินทุนสนับสนุนในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในระยะเริ่มต้น และสนับสนุนให้เกิด Smart Home รวมถึง Smart Electrical Appliance โดยการส่งเสริมให้เกิดการใช้อุปกรณ์ Smart Home/Smart Electrical Appliance กับผู้บริโภคในประเทศ โดยอาจใช้มาตรการทางภาษีและสร้างการยอมรับในเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ

มาตรการที่ 3 สร้างและพัฒนา Eco System สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยการพัฒนาบุคลากร ระบบและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยการพัฒนาบุคลากรด้าน Smart Electronics ซึ่งอาจเป็นการฝึกอบรมระยะสั้น หรือเป็นการให้การศึกษาในหลักสูตร โดยอาจเป็นการให้ทุนการศึกษาหรือเก็บค่าธรรมเนียม ในอัตราพิเศษ เป็นต้น ๓.๒) สร้างและยกระดับบุคลากรให้เป็น Smart Developer (SD) เพื่อทำหน้าที่ออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้งและทดลองระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ยังจะช่วย สนับสนุนให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ

การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสร้าง Eco-system ให้สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยการพัฒนา IoT Platform ของประเทศ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้าน IoT Platform ที่มีคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม และการยกระดับสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นศูนย์กลางของความรู้และการพัฒนาเทคโนโลยี มาตรฐาน และบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งสร้าง Digital Platform เพื่อเชื่อมโยงการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของประเทศ

ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และพัฒนาระบบการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่การจัดเก็บรวบรวม การขนส่ง การถอดแยก การรีไซเคิล และ การกำจัดซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อันจะนำไปสู่การสร้างแรงจูงใจให้เกิดการออกแบบและพัฒนา ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ส่วนกลไกการดำเนินการ เพื่อให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการจากการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะใช้กลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อน โดยผ่านคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ ในการกำกับการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ รวมถึงการติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้แผนปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อให้มีการบูรณาการที่สอดคล้องกับ แนวนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ