จับตาอนาคต 'AI' แดนมังกร จะแซงหน้าอเมริกา-ยุโรป หรือไม่?

จับตาอนาคต 'AI' แดนมังกร จะแซงหน้าอเมริกา-ยุโรป หรือไม่?

จับตาอนาคต "AI" แดนมังกร จะแซงหน้าอเมริกา-ยุโรป หรือไม่? ผ่านรายงานของ Center for Data Innovation ที่เปรียบเทียบศักยภาพการพัฒนา AI ของประเทศจีน สหรัฐ และกลุ่มสหภาพยุโรป หลังจากรัฐบาลจีนมุ่งเน้นนโยบายด้านนี้และทุ่มงบประมาณมหาศาล

[บทความนี้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 เขียนโดยธนชาติ นุ่มนนท์ คอลัมน์ Think Beyond หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ]

ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 มีการกล่าวกันว่า มหาอำนาจโลกเปลี่ยนจากการแข่งขันไปอวกาศ (Space Race) เป็นการพัฒนา "AI" แข่งกัน ประเทศใดที่ทำเรื่อง AI ได้ดีกว่า ประเทศนั้นมีโอกาสสร้างความได้เปรียบในยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยจะพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ได้ดีกว่า สามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตและสร้างให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศดีกว่า ดังนั้นจึงพบว่ากว่า 30 ประเทศทั่วโลกเร่งพัฒนากลยุทธ์ AI เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายนี้

เมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาทาง Center for Data Innovation ได้ออกรายงานเรื่อง “Who is winning the AI race : China, the EU or the United States? 2021 Update” ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบศักยภาพการพัฒนา AI ของประเทศจีน สหรัฐ และกลุ่มสหภาพยุโรป เป็นรายงานล่าสุดหลังจากที่เคยนำเสนอผลการศึกษาแบบเดียวกันในครั้งแรกเมื่อ ส.ค. ปี 2562

รายงานปี 2562 เป็นการเปรียบเทียบโดยใช้ตัวชี้วัด 30 ตัวและแบ่งเป็น 6 กลุ่มคือ ด้านทักษะบุคลากร ด้านงานวิจัย ด้านการพัฒนา ด้านการประยุกต์ใช้งาน ด้านข้อมูล และด้านฮาร์ดแวร์ ซึ่งจากผลการศึกษาในปีนั้น สหรัฐยังนำจีนและสหภาพยุโรปอยู่ใน 4 ด้านคือ ด้านผู้เชี่ยวชาญ ด้านงานวิจัย ด้านการพัฒนา และด้านฮาร์ดแวร์ แต่จีนเป็นฝ่ายนำในด้านข้อมูล และด้านการประยุกต์ใช้งาน โดยภาพรวมจากคะแนนเต็ม 100 สหรัฐมีคะแนนนำที่ 44.2 คะแนน จีน 32.3 คะแนน และสหภาพยุโรปได้ 23.5 คะแนน

สำหรับรายงานในปีนี้เป็นการใช้ตัวชี้วัดชุดเดิม แต่มีการอัพเดทข้อมูลล่าสุดสำหรับ 15 ตัวชี้วัด และเพิ่มตัวชี้วัดขึ้นอีกหนึ่งด้าน ซึ่งผลการสำรวจก็ยังออกมาเช่นเดิม คือสหรัฐยังนำเป็นที่หนึ่งด้วยคะแนนรวม 44.6 คะแนน ตามด้วยจีน 32 คะแนน และสหภาพยุโรป 23.3 คะแนน หากดูคะแนนรวมเพียงผิวเผินจะเห็นว่าช่องว่างระหว่างจีนและสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ข้อเท็จจริงจากการพิจารณาตัวชี้วัดที่มีข้อมูลมาอัพเดท 15 ตัวจะพบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของตัวชี้วัดเหล่านั้นจีนมีคะแนนเข้ามาใกล้สหรัฐมากขึ้น

สหรัฐมีคะแนนรวมสูงกว่าจีนเพราะทำคะแนนได้ดีในตัวชี้วัดที่มีค่าน้ำหนักสูงในบางตัวอย่างเช่น เรื่องเงินลงทุนในบริษัทกลุ่ม Start-up ทางด้าน AI ที่สหรัฐมีจำนวนเงินมากกว่าจีนถึง 8,000 ล้านดอลลาร์ และเงินลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนาของบริษัทซอฟต์แวร์ของสหรัฐนั้น สูงกว่าบริษัทในจีนถึง 3 เท่า รวมถึงคุณภาพด้านวิจัยที่ตีพิมพ์ของสหรัฐก็ยังโดดเด่นกว่า

แต่ทั้งนี้ภาพรวมยังเป็นเช่นเดิมที่สหรัฐนำอยู่ในทุกด้านยกเว้นด้านข้อมูล และด้านการประยุกต์ใช้งาน ซึ่งในด้านข้อมูลทีมวิจัยใช้ตัวชี้วัดหลายด้าน อาทิ จากปริมาณการใช้บรอดแบนด์ การชำระเงินผ่านมือถือ การสร้างข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT ข้อมูลใหม่อื่นๆ ที่สร้างขึ้น ข้อมูลด้านการแพทย์ ข้อมูลพันธุกรรม และข้อมูลแผนที่ที่มีความละเอียดสูง ซึ่งโดยรวมจีนได้คะแนนทางด้านนี้ 11.6 ตามด้วยสหรัฐ 8.0 และสหภาพยุโรป 5.3 คะแนน

ส่วนด้านการประยุกต์ใช้งานผู้วิจัยยังใช้ข้อมูลเก่าในรายงานปี 2562 โดยวัดจากจำนวนแรงงานของบริษัทที่มีการประยุกต์ใช้ AI ซึ่งจีนมีจำนวนคนทำงานเป็นจำนวนมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่อีกตัวชี้วัดหนึ่งที่จีนดูโดดเด่น คือ จำนวน Supercomputer ปีล่าสุดที่ติดอันดับ Top 500 ของโลก ซึ่งมีจำนวนถึง 214 เครื่อง ในขณะที่สหรัฐมีเพียง 113 เครื่อง และสหภาพยุโรป 91 เครื่อง โดยจีนเริ่มมีบริษัทที่ออกแบบ AI Chip เพิ่มขึ้นเป็น 29 บริษัท ขณะที่สหรัฐมี 62 บริษัท ส่วนบริษัทชั้นนำดำเนินธุรกิจด้าน Semiconductor ที่ติดอันดับ Top 15 ของโลกนั้นจีนยังไม่มีจึงต้องพึ่งทางสหรัฐที่มีถึง 8 บริษัท และเป็นของสหภาพยุโรป 1 บริษัท

จากผลการศึกษาโดยรวมแม้สหรัฐยังเป็นผู้นำทางด้าน AI แต่ด้วยนโยบายของรัฐบาลจีนที่มุ่งเน้นในด้านนี้ ประกอบกับจำนวนงบประมาณมหาศาล พร้อมกับเริ่มมีการใช้งานแล้วจำนวนมาก ทำให้จีนดูน่ากลัวและอาจสามารถแซงสหรัฐขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในอนาคตได้ไม่ยาก