'BCG' ช่วยธุรกิจไทยจริงหรือ?

'BCG' ช่วยธุรกิจไทยจริงหรือ?

ทำความรู้จักโมเดล "BCG" ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และวางเป้ายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว แล้วนโยบายนี้จะช่วยธุรกิจไทยได้จริงหรือไม่? อย่างไร?

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ในงานสัมมนา “มารู้จัก BCG และจะช่วยธุรกิจไทยให้เติบโตและยั่งยืนจริงหรือ” จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรม

หลักการของ BCG Model ภายใต้วิสัยทัศน์ในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยแบ่งออกเป็น 4 ยุทธศาสตร์ คือ

1.สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ปรับจาก “Nature as Resource” เป็น “Nature as Source”

2.พัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง “เดินหน้าไปด้วยกันและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” 

3.ยกระดับอุตสาหกรรม BCG ให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน “นวัตกรรมพรีเมียม ของเสียเป็นศูนย์”

4.สร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก “พึ่งตนเอง มีภูมิคุ้มกัน ฟื้นตัวเร็ว” 

รัฐบาลประกาศให้ BCG Economy Model เป็นระเบียบวาระแห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับ BCG ซึ่งทุกคนเห็นว่าเป็นจุดแข็งของประเทศไทย เนื่องจากเรามีทรัพยากร มีความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นความได้เปรียบของประเทศอยู่แล้ว (Comparative Advantage) การนำ BCG เข้ามาขับเคลื่อนจะช่วยให้สามารถดึงข้อได้เปรียบนี้ขึ้นมาเป็นความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ของประเทศได้

แนวคิดด้านนโยบายของ BCG คือการมองภาพรวมการพัฒนาโดยขับเคลื่อนในส่วนที่เป็นยอดและฐานของพีระมิด ส่วนยอดพีระมิดจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสูง มีผู้ทำได้ในจำนวนไม่มาก แต่สร้างมูลค่าได้สูง ในขณะที่ฐานของพีระมิด อาจไม่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงมากนัก ปรับเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม นำมาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ที่จะทำให้มีผู้ได้ประโยชน์เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ 

การนำเทคโนโลยีไปใช้ครอบคลุมทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่ เกษตรและอาหาร พลังงานและวัสดุ สุขภาพและการแพทย์ และการท่องเที่ยวและบริการ รวมแล้วมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจรวมกัน 3.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 

ตัวอย่างอุตสาหกรรมอาหารที่นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ เช่น ในส่วนยอดของพีระมิด คือการนำเปลือกมังคุดมาทำเป็นสารสกัดแซนโทน (Xanthone) นำไปขายได้ในราคากิโลกรัมละ 2,000 บาท ถ้าอยู่ในเกรดที่บริสุทธิ์มากจะขายได้กิโลกรัมละ 1-2 แสนบาท หรือเกรดที่เป็นระดับสแตนดาร์ดที่ไทยยังไม่สามารถผลิตเอง จะขายได้ในราคาสูงถึงกิโลกรัมละกว่าล้านบาท 

ในส่วนฐานของพีระมิดคือการส่งเสริมด้านการเกษตร เช่น การนำเรื่องเกษตรแม่นยำเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้า ผลิตภัณฑ์ ให้ขายได้ในราคาสูงขึ้น หากสามารถทำได้แบบนี้จะช่วยฉุดประเทศไทยให้ออกจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ โดยสินค้าที่มีศักยภาพสูงในการเพิ่มมูลค่าในไทยมีอยู่หลายกลุ่ม เช่น สมุนไพร ไขมันจากพืช น้ำตาล Cellulose Based Lignocellulose Based ยางพารา ไหม เป็นต้น

ในเรื่อง Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เป็นอีกส่วนสำคัญใน BCG Model เพราะเกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืนของประเทศ สถานะการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทยในปัจจุบันมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างการผลิตที่เป็นแบบเส้นตรง (Linear Model) ส่งผลกระทบต่อการกำจัดขยะที่มีต้นทุนสูง ไม่มีระบบจัดการของเสียอย่างครบวงจร 

ด้านแนวทางการส่งเสริมของรัฐบาลมีหลายด้าน เช่น R&D Programs, Funding, แพลตฟอร์มความร่วมมือ, กฎระเบียบและแรงจูงใจทางการเงิน/การคลัง, การส่งเสริมการขายและส่งออก เป็นต้น ในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มุ่งเน้นสนับสนุนด้านการให้ความรู้ เทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญ โดยในภาพรวมประมาณการงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา BCG ที่รัฐบาลสนับสนุนอยู่ที่ 3-4 หมื่นล้านบาท และคาดว่าอยู่ในส่วนสนับสนุนงานวิจัยกว่าหมื่นล้านบาท