เปิดประสิทธิภาพ-ข้อห้าม วัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า'
"วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า" เป็น "วัคซีนโควิด19" ที่ระยะแรกประเทศไทยจะนำมาใช้ฉีดให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ใน 5 จังหวัด สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งเดิมจะฉีดนายกฯเข็มแรกนั้น ประสิทธิภาพ ข้อห้าม ข้อควรระวังเป็นอย่างไร
ในจำนวนการสั่งซื้อ"วัคซีนโควิด19"ของประเทศไทย ณ ขณะนี้ที่ยอด 63 ล้านโดส เป็น"วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า"ถึง 61 ล้านโดส แยกเป็น 2 ระยะ คือ 26 ล้านโดส และ 35 ล้านโดส เริ่มส่งมอบในราวเดือนมิ.ย.2564 ซึ่งจะเป็นการผลิตภายในประเทศโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมาจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า
แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นในประเทศไทยช่วงปลายปี 2563 รัฐบาลได้มีการเจรจาเพิ่มเติมเร่งด่วน เพื่อนำมาเสริมฉีดในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ก่อน โดยได้จัดซื้อ"วัคซีนซิโนแวค" 2 ล้านโดสจากจีนมาถึงล็อตแรกเดือนก.พ. 2 แสนโดส อีก 8 แสนโดสเดือนมี.ค. และ 1 ล้านโดสเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งเป็น"วัคซีนชนิดเชื้อตาย"
และได้เจรจาขอให้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ส่งมอบ "วัคซีนโควิด-19" ที่ไทยสั่งซื้อไว้จำนวนหนึ่งก่อนในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งบริษัทตกลงและจะส่งล็อตที่ผลิตในต่างประเทศมาให้ โดยหักออกจากที่สั่งซื้อไว้ 26 ล้านโดสแรก ซึ่งเป็น "วัคซีนชนิดไวรัลแว็กเตอร์" หรือ "วัคซีนชนิดไวรัสเป็นพาหะ" (Viral vector vaccine)
"วัคซีนโควิด-19"ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เดินทางถึงไทยพร้อมกัน เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 แต่บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เพิ่งส่งมอบให้กรมควบคุมโรคเมื่อ 8 มี.ค.2564 จำนวน 117,300 โดส เนื่องจากบริษัทต้องดำเนินการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนก่อน
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับข้อมูลการผลิตและการควบคุมของวัคซีนรุ่นที่นำเข้าเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2564 ได้เร่งดำเนินการพิจารณาข้อมูลการผลิตและการควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนสำคัญ ตั้งแต่เชื้อไวรัสตั้งต้นจนถึงวัคซีนสำเร็จรูป พบว่ามีกระบวนการผลิตและคุณภาพสอดคล้องตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) โดยกระบวนการรับรองรุ่นการผลิตนี้เป็นไปตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก หรือฮู นอกจากนี้ยังได้มีการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่าง ทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม จึงมั่นใจได้ว่าวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้ารุ่นการผลิตที่นำเข้ามาใช้นี้มีคุณภาพ และความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐาน
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพื่อตรวใจสอบคุณภาพ
ทั้งนี้ จากเอกสารแนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์การระบาดปี 2564 ของประเทศไทย จัดทำโดยกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ดังนี้
คุณสมบัติ "วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า"
- วัคซีนชนิดไวรัลแว็กเตอร์
- ผลิตจากเชื้อไวรัสชิมแปนซีอะดีโน มาดัดแปลงพันธุกรรม ทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวและก่อให้เกิดโรคในมนุษย์
- สามารถทำให้สร้างโปรตีนเหมือนของเชื้อซาร์สโควี-2 ที่ก่อโรคโควิด-19
- กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต่อต้านเชื้อนี้
- วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันความเจ็บป่วยจากโควิด-19 ได้สูงมาก โดยเฉพาะโรครุนแรง
- วัคซีนอาจป้องกันโรคแบบไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการไม่ได้
คำแนะนำในการใช้
- ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 10-12 สัปดาห์
- ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
- เก็บรักษา 2-8 องศาเซลเซียส
ประสิทธิภาพวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
- ป้องกันการติดเชื้อทุกแบบ 54.1%
- ป้องกันโรคแบบมีอาการ 70.4%
- ป้องกันโรครุนแรง เสียชีวิต 100 %
อาการข้างเคียง
- เข็มแรกจะมีอาการมากกว่าเข็มที่ 2
- อาจมีอาการปวด บวม คัน แดงบริเวณที่ฉีด
- อาการอื่น ๆ อาจพบ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว หรือมีไข้ได้
- ส่วนมากอาการไม่รุนแรงและหายไปได้เองใน 1-2 วัน
เจ้าหน้าที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เริ่มตรวจสอบคุณภาพวัคซีน
ข้อห้าม
- แพ้รุนแรงจากการฉีดครั้งก่อน
- แพ้ส่วนประกอบของวัคซีนรุนแรง
ข้อควรระวังวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
- ที่ควรเลื่อนการฉีดไปก่อน คือ ผู้ที่เจ็บป่วยเฉียบพลัน แต่หากเป็นหวัดเล็กน้อยสามารถฉีดได้
- กลุ่มบุคคลที่มีข้อมูลการศึกษาอยู่บ้างแต่ไม่มาก แต่พิจารณาให้ฉีดได้ หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงหรือเป็นกลุ่มเป้าหมาย คือ อายุมากกว่า 65 ปี มีโรคประจำตัว เช่น อ้วน โรคปอด หัวใจ หลอดเลือด เบาหวาน และผู้ที่เคยเป็นโควิด-19 มาก่อน
- ข้อควรระวังเนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษา แต่อาจจพิจารณาฉีดได้ในกรณี.....กลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดเชื้อเอชไอวี
หากมีอาการรุนแรงหลังรับวัคซีน
- หากฉีกแล้วแพ้รุนแรง เช่น มีผื่นทั้งตัว หน้าบวม คอบวม หายใจลำบาก ใจสั่น วิงเวียนหรืออ่อนแรงหรือมีอาการแขนขาอ่อนแรง
- รีบไปรพ.หรือโทร 1669 เพื่อรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน
สิ่งที่ควรปฏิบัติหลังฉีด
- สังเกตอาการที่รพ.ที่ฉีดอย่างน้อย 30 นาที
- ควรสังเกตอาการต่อที่บ้าน หากมีอาการข้างเคียงควรปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก่อนการรับวัคซีนครั้งต่อไป
- ควรรับวัคซีนตามกำหนด และเก็บบันทึกการรับวัคซีนไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
- หากมีข้อสงสัยใดเกี่ยวกับวัคซีนควรปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข