การพัฒนา EEC เพื่อรองรับ สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)
“Aging Society” หรือ “สังคมผู้สูงวัย” ถือเป็นประเด็นระดับโลกหรือ “Global Issue” ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เล็งเห็นประเด็นปัญหาสำคัญของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และยุคนี้เองถือเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงวัยที่กำลังจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว
ในประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยปัจจุบันมีประชากรที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีถึง 16.06% ของประชากรทั้งประเทศและมีแนวโน้มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ (Age Society) คือมีประชากรกว่า 20% ของประชากรทั้งหมดที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีในปี 2566 และสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 28% ในปี 2576 ซึ่งเป็นระดับที่เรียกว่า Super Aged Society ซึ่งจากการสำรวจของงานวิจัยจากสถาบันที่มีชื่อเสียงหลายแห่งพบว่าผู้สูงอายุมีการย้ายถิ่นฐานจากที่อยู่เดิมที่เคยอาศัยในตอนทำงานไปยังที่อยู่อาศัยใหม่ที่เอื้อต่อการอาศัยในช่วงบั้นปลายชีวิตโดยมีเหตุผลในเรื่องของค่าครองชีพ รวมทั้งในเรื่องของความสะดวกและความพร้อมของสาธารณูปโภคที่เข้ากับวิถีชีวิตในช่วงวัยเป็นสำคัญ
ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะมีการพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ มีสมาร์ทซิตี้และมีการขยายตัวของเมืองสูง แนวทางการพัฒนาเมืองในพื้นที่ EEC จึงควรมีการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสถานบริการทางการแพทย์ สถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงวัย สิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยโดยตรงแก่ผู้สูงวัย จุดบริการขนส่งที่เอื้อต่อผู้สูงวัย ย่านที่พักอาศัย สถานบริการอาหาร เป็นต้น ที่เอื้อต่อผู้สูงวัย ซึ่งในพื้นที่ EEC บางส่วนพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงวัย (Age Society City) เพื่อให้คนสูงวัยได้ย้อนระลึกถึงวันวานสมัยเมื่อยังเป็นหนุ่มสาวก็จะดึงดูดผู้สูงวัยที่มีกำลังซื้อเข้าไปอยู่อาศัยได้มากขึ้น
หากถามถึงความคุ้มค่าว่าเหมาะหรือที่จะพัฒนาเมืองท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงวัย ในบางครั้งความคุ้มค่ามาได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นคุณค่าที่เป็นตัวเงิน หรือคุณค่าในรูปแบบทางจิตใจ แต่เมื่อเรามองภาพรวมแล้วพื้นที่ EEC ของประเทศไทยเรา ความคุ้มค่าอาจจะได้มากกว่านั้น เพราะ ทำเลที่ตั้ง ภูมิอากาศ ค่าครองชีพ และความมีไมตรีจิตของคนไทย ทำให้ชาวต่างชาติวัยเกษียณต่างก็ต้องการมาพำนักในเมืองไทยของเรา
เห็นได้จากในพื้นที่อีอีซีในปัจจุบันก็มีชุมชนของชาวต่างชาติมาตั้งอยู่แล้ว เช่น ชุมชนญี่ปุ่นย่านศรีราชา เชียงใหม่ หรือชาวตะวันตกชาติอื่น ๆ ที่ต่างเห็นพ้องอยากมาใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่เมืองไทย และที่สำคัญไปกว่านั้นที่เมืองไทยของเราได้พิสูจน์แล้วและเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก นั่นคือ “ระบบสาธารณสุขและด้านการแพทย์” ที่เราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
เราคงต้องมองกันใหม่ถึงจุดแข็งของเรา นอกจากที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนแล้ว “ผู้สูงวัยจากต่างชาติ” ก็อาจเป็นแหล่งเงินทุนและรายได้หนึ่งที่มีความสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาพื้นที่ EEC ในอนาคต