'สถานพยาบาลเอกชน' ใช้กัญชาทางการแพทย์ ต้องทำอย่างไร
กระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนกัญชาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ ขยายบริการกัญชาทางการแพทย์สู่ สถานพยาบาลเอกชน เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยโรคร้ายแรง เรื้อรัง เข้าถึงการรักษามากขึ้น ลดความแออัด ลดการรอคอย รพ.รัฐ
ที่ผ่านมา สธ.ได้ขับเคลื่อนกัญชามาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนเข้าถึง ขณะนี้ มีสถานพยาบาลที่ให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์และคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยในสังกัด สธ. ราว 800 แห่ง ให้บริการผู้ป่วยกว่า 1 แสนรายต่อปี โดยมีแผนขยายบริการกัญชาทางการแพทย์ไปสู่ภาคเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาด้วยสารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์อย่างรวดเร็วและครอบคลุม เพิ่มโอกาส เพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยโรคร้ายแรง เรื้อรัง เข้าถึงการรักษามากขึ้น ลดความแออัด ลดการรอคอยการรับบริการในโรงพยาบาลรัฐ
โดยในการประชุมแนวทางกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการในสถานพยาบาลเอกชน ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข "อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินนโยบายเรื่องกัญชามาเป็นเวลา 2 ปี ปัจจุบัน มีความเป็นรูปธรรมและการตอบรับที่ดีทุกภาคส่วน นโยบาย "กัญชาเสรีทางการแพทย์" ถูกบรรจุไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน ด้านภาคเอกชน ได้เห็นการตอบรับและเตรียมความพร้อมในการนำพืชกัญชา และชิ้นส่วนอื่นๆ ของกัญชาไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ยา ในหลายแขนง
การขับเคลื่อนนโยบาย "กัญชา" มีเป้าหมาย คือ 1. กัญชาต้องเป็นยารักษาโรคที่ถูกกฎหมาย ขึ้นบัญชียาหลักได้ ครอบคลุมระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ 2. กัญชาเป็นยารักษาโรคที่ประชาชนเข้าถึงได้ผ่านแพทย์ที่เป็นตัวกลางในการให้ประชาชนเข้าถึง และ 3. ให้กัญชา เป็นยารักษาโรคอย่างเท่าเทียม โดยต้องอาศัยความร่วมมือในการวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ เศรษฐกิจให้ประชาชน ทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะเกษตรกร แต่ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการต่างๆ ทั้งเอกชน ภาครัฐ รพ. แพทย์ เครื่องมือแพทย์ต่างๆ ควบคู่กันไป
“ปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ก้าวต่อไป คือ ผลักดันสู่ “Health Cannabis Hub” ของเอเชียและของโลกให้ได้ เพื่อต่อยอดสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบสาธารณสุขของไทย กระทรวงสาธารณสุขเปิดกว้างให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์มากขึ้น ส่วนการขยายขอบข่ายการผลิตผลิตภัณฑ์กัญชา ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ มั่นใจว่าภาคเอกชนจะสามารถขยายผลไปได้เป็นวงกว้างในระยะเวลาที่รวดเร็ว ช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับการแพทย์และภาคเศรษฐกิจประเทศ”
ทั้งนี้ข้อมูล ณ วันที่ 9 มีนาคม 2564 มี "สถานพยาบาลเอกชน" ได้รับใบอนุญาตจำหน่ายกัญชาทางการแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว 86 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 22 แห่ง และคลินิก 64 แห่ง "สถานพยาบาลเอกชน" ได้ซื้อผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์จากองค์การเภสัชกรรม เพื่อให้บริการกัญชาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยแล้ว 31 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 10 แห่ง และคลินิก 21 แห่ง และเตรียมเปิดให้บริการในโรงพยาบาลเอกชน 382 แห่ง และคลินิกเวชกรรม/ ทันตกรรม/ แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์อีกประมาณ 21,000 แห่ง
“ในส่วนของสถานพยาบาลเอกชน ถือเป็นผู้ผลักดันให้กัญชาขยายวงกว้างและให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาจากยาต่างๆ ที่ผลิตจากกัญชาได้หากใช้ทางการแพทย์ เพียงแต่มาขึ้นทะเบียน แจ้งความจำนงเปิดคลินิกกัญชาในรพ.ได้เลย ขณะนี้ สธ. ได้เปิด สถาบันกัญชาเพื่อการแพทย์ เพื่อเป็นตัวกลางในการประสานงาน เชื่อมทุกประเด็นทั้งการบริหาร จัดการ ทำความเข้าใจ หากมีอุปสรรค หรือติดขัดใดๆ ในเรื่องของให้บริการเรื่องกัญชาแก้ผู้ป่วย สามารถแจ้งมายังสถาบันกัญชาเพื่อการแพทย์ได้"
อนุทิน กล่าวย้ำว่า ขอให้มีความเชื่อมั่นในนโยบายพืช "กัญชา" ถึงแม้ว่าโทษมหันต์ แต่มีคุณอนันต์ "กัญชา" เป็นพืชที่ทุกส่วนมีคุณค่า ทั้ง ราก ต้น ใบ ดอก เมล็ด ฯลฯ เป็นเหตุผลที่สนับสนุนให้ประชาชนปลูก 6 ต้น และสามารถร่วมกับวิสาหกิจชุมชนได้ ตอนนี้แม้จะไม่เสรีเต็มที่ แต่เป็นจุดเริ่มทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ หากมีคุณภาพ มีความเข้าใจ ภายใต้มาตฐานที่ดี มีการรับรอง โดยระบบสาธารณสุขที่น่าเชื่อถือ เราจะก้าวไปก่อนคนอื่น
อ่านเพิ่มเติม ค้นหาคำตอบ!! จับคู่ธุรกิจ 'กัญชา' ต้องทำอย่างไร?
สำหรับ การขออนุญาตจำหน่ายจำหน่ายกัญชาทางการแพทย์สำหรับสถานพยาบาลภาคเอกชน “ภญ.กรพินธุ์ ณ ระนอง” กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายว่า กัญชา ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับ 7) พ.ศ.2562 ระบุว่า 5 ปีแรก จะอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออกได้ เฉพาะหน่วยงานรัฐ หรือ หน่วยงานรัฐอื่นๆ
การใช้ "กัญชาทางการแพทย์" มี 3 ข้อหลัก คือ 1. แพทย์ผู้สั่งจ่ายต้องผ่านการอบรม ที่ สธ. ให้การรับรอง แพทย์ไม่ว่าจะแพทย์แผนปัจจุบันหรือแผนไทย โดยปัจจุบัน หน่วยงานที่รับผิดชอบคือกรมการแพทย์ ส่วนหน่วยงานอบรมแพทย์แพทย์ไทย คือ กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก แพทย์สั่งจ่ายต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมข้อบ่งใช้ และพิจารณาสั่งจ่าย
2. สถานที่จำหน่ายต้องมีใบอนุญาต โดยสถานพยาบาลยื่นเรื่องเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับกิจการสถานพยาบาลโดยเพิ่มการบริการกัญชาทางการแพทย์ หลังจากนั้น ขอใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 จัดหายากัญชาเข้ามาในสถานพยาบาล รวมถึงรายงานทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ทั้งประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และ 3. ตำรับยา ต้องเป็นตำรับยาที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
"ขั้นตอนขออนุญาต" ได้แก่ 1. ผู้ขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด คือ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ ผ่านการอบรม 2. ยื่นคำขอและเอกสารประกอบคำขอที่กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. 3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร การขอรับอนุญาต 4. พิจารณาผลการอนุญาต 5. ผู้ประกอบการรับใบอนุญาตและชำระเงิน โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ขณะที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดอบรมหลักสูตรกัญชาทางการแพทย์ ระหว่างวันที่ 15-16 มีนาคม 2564 เพื่อให้แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ความรู้ความเข้าใจในการสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชาให้กับผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วย นำไปใช้ได้ถูกต้องตามหลักวิชาการและเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อการเข้าถึงบริการและได้รับยากัญชาอย่างมีคุณภาพและปลอดภัยตามมาตรฐานวิชาชีพ ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด มีเป้าหมายจะให้บริการในโรงพยาบาลทุกระดับจำนวน 660 แห่ง
ปัจจุบันมี "แพทย์แผนปัจจุบัน" ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 3,230 คน และ แพทย์แผนไทย ด้านเวชกรรมไทย จำนวน 3,835 คน แพทย์แผนไทยประยุกต์ จำนวน 1,664 คน โดยมุ่งประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ