สารพัดปัจจัยกดดันหุ้นไทยสัปดาห์นี้ไซด์เวย์
โบรกฯ ชี้หุ้นไทยสัปดาห์นี้ "ไซด์เวย์" รอความชัดเจนทั้งใน-ต่างประเทศ “เมย์แบงก์ฯ” คาดนักลงทุนชะลอดูผลประชุมเฟด-ต่างชาติปรับพอร์ต-โควิดคลัสเตอร์ใหม่ “กสิกรไทย” เตือนแวลูเอชั่นตึงตัว ยังไม่แนะนำเข้าซื้อ ด้าน “ฟินันเซีย ไซรัส” แนะจับตาการเมืองในประเทศ
ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ (15 มี.ค.) ไซด์เวย์ในกรอบแคบ 1,562.69-1,575.96 จุด และกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 1,565.73 จุด ลดลง 2.46 จุด หรือ 0.16 จุด ส่วนนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 829.20 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 2,907.16 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 413.33 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อสุทธิ 3,323.03 ล้านบาท
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า คาดดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์นี้ (15-19 มี.ค.2564) จะไซด์เวย์ในกรอบ 1,550-1,585 จุด เนื่องจากมีปัจจัยที่ยังไม่แน่นอนที่จะมีผลกดดัน โดยปัจจัยที่ให้น้ำหนักมากที่สุด คือการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยนักลงทุนรอดูปัจจัยดังกล่าว ซึ่งส่วนตัวคาดเฟดจะยังใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินผ่านการตรึงดอกเบี้ยในระดับต่ำ และยังคงการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE)
ส่วนปัจจัยถัดมาเป็นปัจจัยในประเทศ โดยจะต้องจับตาการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ว่าจะยังคงจะผ่อนคลายล็อกดาวน์เพิ่มในวันที่ 1 เม.ย.นี้หรือไม่ หลังจากที่พบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์ใหม่ที่ตลาดบางแค รวมถึงการระงับการฉีดวันซีนของบริษัท “แอสตร้าเซเนก้า” ซึ่งอาจส่งผลต่อการพิจารณาเปิดประเทศอีกครั้ง
รวมถึงการปรับพอร์ตลงทุนของนักลงทุนต่างชาติตามดัชนีฟุตซี่ (FTSE) จาก 2.3% เหลือ 2.25% หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 3.5 พันล้านบาท โดยจะมีผล ณ ราคาปิดวันที่่ 19 มี.ค.2564 ซึ่งหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดที่นักลงทุนต่างชาติจะขายออกมา ได้แก่ บมจ.ปตท. (PTT) ธนาคารทหารไทย (TMB) บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) และบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT)
“เรามองว่าดัชนีจะแกว่งไซด์เวย์ทั้งสัปดาห์ เพราะปัจจัยสำคัญทั้งหมดกระจุกอยู่ในช่วงท้ายสัปดาห์ รวมถึงปัจจัยด้านมูลค่า (Valuation) ที่ปรับขึ้นมาใกล้เป้าหมายดัชนีปี 2564 ที่ 1,600 จุดแล้ว ดังนั้น แนะนำนักลงทุนรอดูความชัดเจนก่อนเข้าลงทุน” นายวิจิตร กล่าว
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำนักลงทุนรอความชัดเจนของปัจจัยทั้งในและต่างประเทศสัปดาห์นี้ แล้วค่อยเริ่มลงทุนใหม่ในสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะแรงขายปรับพอร์ตของนักลงทุนต่างชาติที่จะส่งคำสั่งสุดท้ายเข้ามาในท้ายสัปดาห์ รวมถึงผลประชุมของ ศบค.ที่จะเห็นความชัดเจนในวันสุดท้ายของสัปดาห์เช่นกัน
นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักกับการประชุมเฟดรอบนี้เป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นรอบที่จะมีการปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ (จีดีพี) โดยคาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นมาอยู่ที่ 5.8% จากครั้งก่อนที่ 4.2% รวมถึงความเห็นเกี่ยวกับประมาณการปรับอัตราดอกเบี้ย (Dot Plot)
นอกจากนี้ คาดว่าตลาดหุ้นมีโอกาสปรับฐาน 1-3% เนื่องจากมูลค่าตลาดหุ้นไทยที่เริ่มตึงตัว หลังจากปีนี้ดัชนีปรับขึ้นกว่า 8%โดยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่แนวรับ 1,535 จุด และแนวต้าน 1,580 จุด แม้ บล.กสิกรไทย จะยังคงคำแนะนำเปิดรับความเสี่ยง (Risk on) ในระยะยาว แต่ในช่วงสัปดาห์นี้ไม่แนะนำซื้อ เมื่อดัชนีปรับขึ้นทดสอบแนวต้าน
ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา คือการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุด สัญญาการขายชอร์ต (Short Sell) ค่าเงินดอลลาร์ปรับขึ้นมากกว่า 5,000 สัญญา สูงสุดในรอบ 10 ปี โดยชี้ว่าเป็นสัญญาณที่นักลงทุนเชื่อว่าค่าเงินดอลลาร์จะไม่อ่อนค่าลงไปมากกว่านี้ และมีความเสี่ยงที่ค่าเงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาแข็งค่า ซึ่งจะกดดันตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไป
นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ในระยะสั้นคาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะแกว่งออกข้าง (ไซด์เวย์) ในกรอบการเคลื่อนไหว 1,530-1,600 จุด โดยปัจจัยสำคัญคือการประชุมเฟดที่คาดว่าจะทราบผลวันที่ 18 มี.ค.ช่วงเช้าของประเทศไทย โดยคาดหวังว่าถ้อยแถลงและเครื่องมือของเฟดจะช่วยลดความกังวลประเด็นเงินเฟ้อ รวมถึงช่วยดูแลความร้อนแรงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยีลด์)
นอกจากนี้ แนะนำติดตามปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากมีความล่าช้าจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้น และในกรณีเลวร้ายที่สุดจะกดดันให้ดัชนีปรับลงทดสอบ 1,500 จุด ถัดมาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่บางแค และการปรับน้ำหนักของนักลงทุนต่างชาติตามดัชนีฟุตซี่