อัพเดท! ‘สงกรานต์ 2564’ ส่องพิกัดจังหวัดไหน 'งด' จัดงานบ้าง?
อัพเดท “สงกรานต์ 2564” พื้นที่ไหนจัดงานบ้าง กิจกรรมที่ทำได้ และเงื่อนไขการจัดงานเป็นอย่างไร เช็คได้ที่นี่
8 เม.ย.64 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษก ศบค. ได้แถลงชัดเจนถึงข้อปฏิบัติ และข้อห้ามต่างๆ เกี่ยวกับกิจกรรมช่วง "สงกรานต์" 2564 ว่ากิจกรรมใดยังสามารถทำได้ และกิจกรรมใดที่ "งด" ทำเด็ดขาด เพื่อป้องกันและสกัดการแพร่ระบาด "โควิด-19" ระลอกที่ 3 ในครั้งนี้ โดยมีรายละเอียดต่างๆ ได้แก่
กิจกรรมที่จัดได้ :
- สรงน้ำพระ รวมทั้งกิจกรรมทางศาสนาอื่นๆ
- รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ตามประเพณี หรือรูปแบบที่ วธ. กำหนด
- เดินทางข้ามจังหวัด เพื่อการท่องเที่ยว ไปได้ทุกพื้นที่
ข้อควรปฏิบัติ เมื่อจัดกิจกรรม :
- ยึดมาตรการ D-M-H-T-T และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด
- จัดกิจกรรมทางศาสนาช่วง "สงกรานต์" ในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศระบายได้ดี
- หลีกเลี่ยงจัดกิจกรรมในพื้นที่คับแคบ หรือในห้องปรับอากาศ
กิจกรรมที่ต้อง "งด" :
- กิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น รวมกลุ่มเล่นสาดน้ำ คอนเสิร์ต
- กิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิด เช่น ปะแป้ง ปาร์ตี้โฟม กิจกรรมรวมตัวของผู้สูงอายุ เป็นต้น
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนส่องพิกัดดูว่ามีพื้นที่ไหนในประเทศไทยที่ออกมาประกาศจัดงานงด "สงกรานต์ 2564" เผื่อจะได้วางแผนเตรียมตัวเที่ยวสงกรานต์ล่วงหน้าได้ เช็คเลย..
- ยกเลิกงานสงกรานต์ กทม. แนะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เคร่งครัด
นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่พบเป็นกลุ่มก้อนจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อและมีการแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มีประชาชนติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 กรุงเทพมหานครจึงยกเลิกการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ประจำปีของกรุงเทพมหานครที่ลานคนเมือง ทั้งในส่วนของสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ การทำบุญตักบาตร การรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ รวมไปถึงในส่วนของสำนักงานเขตและหน่วยงานในสังกัดทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มคนจำนวนมาก เป็นการลดความเสี่ยงจากเชื้อโควิด-19 พร้อมทั้งขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากไม่สามารถงดการจัดงานได้ ขอให้พิจารณาการจัดกิจกรรมสงกรานต์อย่างระมัดระวังการก่อให้เกิดการแพร่ระบาด
ทั้งนี้แนะนำให้ประชาชนใช้วิธีการสรงน้ำพระพุทธรูปอยู่ที่บ้าน หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่ที่มีคนมารวมกันจำนวนมาก หากเป็นไปได้ควรงดการรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือประชาชนได้ปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด อาทิ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากบ้านหรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือบ่อย ๆ งดเว้นการดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน กรณีเดินทางไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดให้ศึกษาหลักเกณฑ์การเข้าพื้นที่ของจังหวัดนั้น ๆ และระมัดระวังความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนด้วย
- "สาดแสง สาดสี สาดของดีบุรีรัมย์" สงกรานต์ บุรีรัมย์ อัพเดทล่าสุดประกาศงด
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับจังหวัดบุรีรัมย์ จัดเทศกาล “อะเมซิ่ง สงกรานต์บุรีรัมย์ พรีเซ็นเต็ด บาย เครื่องดื่มตราช้าง” สุดยอดงานสงกรานต์แนวคิดใหม่ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ปลอดภัยที่สุด และสนุกสนานที่สุด ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สาดแสง สาดสี สาดของดีบุรีรัมย์ แต่ไม่สาดน้ำ” ในวันที่ 6-15 เม.ย.64
ภายในงานนักท่องเที่ยวจะได้ตื่นตาไปกับสงกรานต์เรืองแสง คอนเสิร์ตศิลปินดังคับคั่ง ณ สนามฟุตบอลช้าง อารีนา, มีการประดับไฟจากเส้นทางหลวงหมายเลข 2445 ไปจนถึงวงเวียนพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1, ขบวนจักรยานบุรีรัมย์ ไบค์ไนท์, เทศกาลประกวดโคมไฟ, บุรีรัมย์ สตรีทฟู้ด
ล่าสุด จังหวัดบุรีรัมย์ ประกาศยกเลิกจัดงานสงกรานต์บุรีรัมย์ “สาดแสง สาดสี สาดของดี บุรีรัมย์ แต่ไม่สาดน้ำ” หลังผลตรวจ ผู้มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด 19 ในสถานบันเทิงที่กรุงเทพจำนวน 2 ราย เป็นบวก
- กทม. งดกิจกรรมพิเศษถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง ป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
(7 เม.ย. 64) นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่กรุงเทพมหานครกำหนดจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของดีกรุงเทพมหานคร 50 เขต ภายใต้กิจกรรมถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 9-14 เม.ย. นี้ ตั้งแต่เวลา 16.00–22.00 น. นั้น เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ที่มีความเชื่อมโยงกับสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ
ซึ่งพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานคร จึงของดกิจกรรมพิเศษภายในถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง ได้แก่ กิจกรรมพายเรือคายัค การแสดงดนตรี และกิจกรรมของดี 50 เขต โดยในระหว่างวันที่ 9-14 เม.ย. นี้ ตั้งแต่เวลา 16.00–22.00 น. ประชาชนยังสามารถเที่ยวชมตรอกศิลป์ (Art Alley) และซื้อสินค้าจากร้านค้าในพื้นที่ได้ตามปกติ
ทั้งนี้ บริเวณถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง กรุงเทพมหานครได้มีการตรวจคัดกรองและการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (D-M-H-T-T) อย่างเคร่งครัด ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้านหรืออยู่ในพื้นที่สาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือ รวมทั้งตรวจวัดอุณหภูมิ และใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เช็คอินเมื่อเข้าใช้บริการ ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
กิจกรรมที่ประกาศจัดงาน (รอการอัพเดต)
อัพเดทล่าสุด 29 มี.ค.64
1. สงกรานต์ ททท. ลาน Airport Rail Link มักกะสัน
เริ่มต้นด้วยงาน “มหัศจรรย์กิจกรรมท่องเที่ยวไทย” (เทศกาลสงกรานต์) ประจำปี พ.ศ. 2564 “สงกรานต์ ริน รด พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ Amazing ยิ่งกว่าเดิม” ซึ่งงานนี้จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ณ ลาน Airport Rail Link มักกะสัน ในวันที่ 13-15 เมษายน 2562 เวลา 11.00 น. - 21.00 น.
โดยมีแนวคิดการจัดงานคือ “มหัศจรรย์กิจกรรมท่องเที่ยวไทย” (เทศกาลสงกรานต์) ประจำปี พ.ศ. 2564 “สงกรานต์ ริน รด พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ Amazing ยิ่งกว่าเดิม” รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกิจกรรม "สงกรานต์ แต่งดอก ออกเที่ยว" โดยเป็นการนำวัฒนธรรม วิถีไทย วิถีถิ่น ของประเพณีสงกรานต์ มานำเสนอการจัดกิจกรรมในรูปแบบประเพณีไทยดั้งเดิมผสนผสานกับความทันสมัย
ภายในงานนักท่องเที่ยวจะพบกับ กิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลายหลาย จุดเด่นของปีนี้คือมีการจำลองบรรยากาศเทศกาล สงกรานต์แบบศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น มาให้นักท่องเที่ยวได้รับชม ได้แก่
- การอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จาก 5 ภูมิภาค มาให้นักท่องเที่ยวได้ "สรงน้ำพระ" ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย
- การแสดงวัฒนธรรมที่หาดูได้ยาก อาทิ โขนนั่งราว หนังใหญ่ หุ่นกระบอก การแสดงนาฏยมวยไทย กิจกรรม Talk ธรรมมะ โดยพระอาจารย์ชื่อดัง และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับการแสดงทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นชุดการแสดงที่ครีเอทขึ้นสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ
- การสาธิตศิลปะหัตถกรรมไทย การจำหน่ายอาหารชาววัง อาหารที่หาทานได้ยาก และอาหารที่นิยมทานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อาทิ ส้มฉุน มะยงชิดริ้วลอยแก้ว ปลาแห้งแตงโม เป็นต้น
- จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น งานค Craft เช่น ขันลงหินบ้านบุ เครื่องหอมต่าง ๆ ฯลฯ
2. มหัศจรรย์เจ้าพระยา มหาสงกรานต์ 2564 ไอคอนสยาม
ไอคอนสยามจัดงาน "มหัศจรรย์เจ้าพระยา มหาสงกรานต์ 2564" ในวันที่ 9-18 เมษายน 2564 เวลา 10.00-22.00 น. ณ ศูนย์การค้า ไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจในงาน ได้แก่
- การสักการะองค์พระบรมสารีริกธาตุ
- การสักการะพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง 4 ภาค ที่อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่งาน ได้แก่ พระพุทธสิหิงค์จังหวัดนครศรีธรรมราช, พระเชียงแสน จังหวัดเชียงใหม่, หลวงพ่อพระใส จังหวัดหนองคาย และหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา
- กิจกรรมสรงน้ำพระ ซึ่งนำน้ำมาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 4 ภาค คือ วัดหน้าพระลาน จังหวัดนครศรีธรรมราช, สระพยานาค จังหวัดหนองคาย, คลองท่าลาด จังหวัดฉะเชิงเทรา และ วัดบุพพาราม จังหวัดเชียงใหม่
- กิจกรรม Workshop การทำดอกไม้ ทำของถวายพระ เป็นต้น
3. สงกรานต์ “A Sense of Thai 2021” เซ็นทรัลเอ็มบาสซี
ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเอ็มบาสซี กรุงเทพมหานคร จัดงานวันสงกรานต์ "A Sense of Thai 2021" ในวันที่ 1-18 เมษายน 2564 เวลา 10.00-22.00 น. ส่วนกิจกรรมหลักๆ ในงาน ได้แก่
- เปิดพื้นที่ขายสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม สายการบิน และธุรกิจพาหนะอื่น ๆ ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ผู้ประกอบการสินค้าชุมชน ร้านอาหารถิ่นไทย และกลุ่มหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น
- การจัดกิจกรรมและนิทรรศการเพื่อสืบทอดและส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ได้แก่ การสรงน้ำพระ เวิร์คช็อปงานศิลปะ การประกอบอาหาร นิทรรศการท่องเที่ยวไทย และการแสดงดนตรีพื้นบ้าน เป็นต้น
- การออกร้านจำหน่ายอาหาร กลุ่มคนรักกาแฟและคาเฟ่ แฟชั่นดีไซน์เนอร์ สวนดอกไม้ จากผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียง เป็นต้น
4. สงกรานต์ เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย ครั้งที่ 6
การจัดงานสงกรานต์ "เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย ครั้งที่ 6" ในวันที่ 1-18 เมษายน 2564 เวลา 10.00-22.00 น. มีสถานที่จัดงานจำนวน 4 พื้นที่หลัก ได้แก่
4.1 กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย วัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามราชวรวิหาร, วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรมหาวิหาร, วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร, วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ยอดพิมานริเวอร์วอล์ค, ท่ามหาราช, เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ และล้ง 1919 ในวันที่ 13-15 เมษายน 2564
4.2 บริเวณพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 13-15 เมษายน 2564
4.3 วัดรอบเมือง จังหวัดลำพูน ในวันที่ 13 เมษายน 2564
4.4 บริเวณริมหาดไม้ขาว อุทยานแห่งชาติสิรินารถ จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 13 เมษายน 2564
โดยมีกิจกรรมหลัก คือ แนวคิดการจัดงาน “ชื่นจิต ชื่นใจ” ซึ่งกำหนดจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงาน เช่น อุโมงค์ชื่นใจ กิจกรรมการทำบุญตักบาตร การสรงน้ำพระพุทธรูป กิจกรรมรดน้ำดำหัว การแสดงทางวัฒนธรรม กิจกรรม Workshop ทำของที่ระลึก และการออกร้านค้าชุมชน เป็นต้น
5. สงกรานต์ 2564 "ถนนข้าวสาร"
ที่ประชุมของกลุ่มผู้ประกอบการในข้าวสาร ประกาศจัดงาน "สงกรานต์ 2564" โดยจะจัดงานในรูปแบบสืบสานประเพณีไทย ให้ประชาชนเข้าร่วมงานแบบ New Normal และสั่งให้ทุกร้านในข้าวสารต้องงดกิจกรรมสาดน้ำ ประแป้งทุกกรณี
โดยจุดเข้า-ออก จะตั้งอยู่หัวถนนและท้ายถนนข้าวสาร ระยะทางรวม 400 เมตร จะมีจุดคัดกรองนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงาน วัดอุณหภูมิ ลงทะเบียนบันทึกประวัติเข้าออก และห้ามนำน้ำ ปืนฉีดน้ำ ดินสอพอง หรือแป้งเข้ามาในพื้นที่ พร้อมเชิญชวนประชาชนที่มาเที่ยวสงกรานต์สวมใส่ชุดไทยมาเที่ยวงาน
ส่วนภายในงานจะอัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดต่างๆ ในเขตพระนคร มาให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำพระ ขบวนแห่รถบุปผชาติจากถนนข้าวสาร ไปวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และซุ้มกิจกรรมก่อเจดีย์ทราย แต่ไฮไลท์สำคัญคือ อุโมงค์น้ำมนต์ โดยจะตั้งอยู่ใจกลางถนนข้าวสาร มีลักษณะเป็นโดมโค้ง ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ให้ประชาชนที่เดินผ่านได้รับน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลช่วงปีใหม่ไทย
6. ประเพณีสงกรานต์ 2564 พระนครศรีอยุธยา
เมืองอยุธยาจัดงานประเพณีสงกรานต์กรุงเก่า “เล่นน้ำกับช้าง” ณ ถนนศรีสรรเพชญ์ บริเวณด้านหน้า ททท. สำนักงานพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 13-15 เมษายน 2564 โดยกิจกรรมหลักๆ ได้แก่
ชมการแสดงเล่นน้ำกับช้างสไตล์ไทยๆ "รดน้ำดำหัวของน้องช้าง", ชมการแสดงทางวัฒนธรรมรำวงย้อนยุค, กิจกรรมก่อพระเจดีย์ทราย, กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูป, ถ่ายรูปกับมุมย้อนยุค, ตกแต่งบรรยากาศแบบไทยๆ
7. มหาสงกรานต์ สุโขทัย 2564 รวม งาน
7.1) "เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2564" และประเพณีแห่ช้างบวชนาคไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว ณ วัดหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ในวันที่ 6-7 เมษายน 2564 โดยกิจกรรมหลัก ได้แก่ ชมขบวน ‘นั่งช้าง บวชนาค” ของชุมชนชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว ตระการตากับช้างและนาคที่ได้รับการตกแต่งอย่างมีเอกลักษณ์ ชมขบวนช้างข้ามแม่น้ำยม สนุกสนานเล่นสาดน้ำกับขบวนแห่นาคของชุมชนชาวไทยพวน (ชมขบวนแห่วันที่ 7 เมษายน 2564)
7.2) "ประเพณีสรงน้ำโอยทาน สงกรานต์ศรีสัชนาลัย" ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระยาลิไท และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ในวันที่ 8-11 เมษายน 2564 ส่วนกิจกรรมหลักๆ ในงานได้แก่ ชมกิจกรรมพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์พระยาลิไทและบูรพกษัตริย์ ณ อนุสาวรีย์พระยาลิไท, งานเทศกาลอาหารและกิจกรรมการแสดงดนตรี
7.3) "ย้อนอดีตมหาสงกรานต์กรุงสุโขทัย" ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อ.เมือง จังหวัดสุโขทัย ในวันที่ 13-15 เมษายน 2564 กิจกรรมหลักๆ ได้แก่ ชมการแข่งขันการก่อเจดีย์ทราย การประกวดเทพีสงกรานต์ ชมขบวนแห่ล้อเกวียนโบราณจาก 12 ชุมชนเมืองเก่า ชมการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การละเล่นพื้นเมือง ชิมอาหารถิ่น ร่วมสนุกบนถนนคนเล่นน้ำหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
7.4) "ประเพณีสงกรานต์เสื้อลายดอก ถนนข้าวตอกสุโขทัย" ณ บริเวณเมืองสุโขทัยและสวนสาธารณะริมแม่น้ำยม จังหวัดสุโขทัย ในวันที่ 13-15 เมษายน 2564 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การก่อพระเจดีย์ทรายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดไทยชุมพล ชมขบวนแห่สืบสานวัฒนธรรมตำนานนางสงกรานต์, ร่วมกิจกรรมสรงน้ำพระภิกษุสงฆ์ และรูปหล่อพระแม่ย่าองค์จำลอง หลวงพ่อเป๋า, รำวงย้อนยุค
7.5) "ประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง สรงน้ำเจ้าหมื่นด้ง" ณ บริเวณอนุสาวรีย์เจ้าหมื่นด้ง ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ในวันที่ 18-20 เมษายน 2564 โดยมีกิจกรรมหลัก คือ พิธีบวงสรวง พิธีสู่ขวัญช้าง และชมขบวนแห่ช้างถวายราชสักการะอนุสาวรีย์เจ้าหมื่นด้ง และขบวนแห่วัฒนธรรมประเพณีของดีประจำตำบล
7.6) "บ้านบ้านโขทัย สุโขทัย คราฟต์แอนด์โฟล์คอาร์ต" ณ บริเวณสวนน้ำเปรมสุข จังหวัดสุโขทัย ในวันที่ 10-14 เมษายน 2564 เวลา 17.00-22.00 น. โดยมีกิจกรรมหลัก คือ เที่ยวชมบรรยากาศ บ้านบ้าน คราฟต์ ของดีจากท้องถิ่นทั่วไทยและของอร่อยจากยอดฝีมือทั่วสารทิศ
8. ป๋าเวณีปี๋ใหม่ สงกรานต์ จ.เชียงใหม่
เชียงใหม่จัดงานสงกรานต์ 2564 ในชื่องาน "ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง" ร่วมฉลองเมืองเชียงใหม่ครบ 725 ปี ณ หลากหลายสถานที่สำคัญในเมืองเชียงใหม่ ได้แก่
8.1) วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร : กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ที่ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ในวันที่ 11-15 เมษายน 2564 และร่วมสรงน้ำองค์พระสำคัญและกิจกรรมทางวัฒนธรรมของวัดเชียงมั่น เชียงยืน วัดโลกโมฬี วัดพันอ้น วัดยางกวง ฯลฯ
8.2) อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ : ร่วมพิธีตานตุงไชย ฟื้นใจ๋เมืองเชียงใหม่ ตุงจากสล่าตุงเมืองเชียงใหม่ ที่จัดทำอย่างปราณีตเพื่อร่วมฉลองเชียงใหม่ ครบ 725 ปี, ตุงมงคลจาก 9 ชาติพันธุ์ (ไม่เคยมีการรวมมาก่อน), อุโมงค์ตุงไชย ที่เพียงแค่ลอดผ่านก็เป็นสิริมงคลม, ตุงเจดีย์ 5 ชั้นที่มีที่เดียวในโลก และมีการตกแต่งตุงไชยอย่างสวยงามบริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่ ในวันที่ 1-19 เมษายน 2564
8.3) งานยอสวยไหว้สาพระญามังราย และพิธีทำบุญตักบาตรครบ 725 ปี ก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ : กิจกรรมสืบฮีตสานฮอย วิถีชุมชนล้านนา ร่วมขบวนแห่เครื่องสักการะพญา แห่พระอุปคุต การประกวดและการสาธิต การแสดงดนตรีและศิลปวัฒนธรรมล้านนา กิจกรรมสืบฮีต สานฮอย ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง ชมข่วงสาธิตวัฒนธรรม กาดหมั้วครัวเมือง ประกวดเครื่องสักการะล้านนา การประกวดแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้าง
8.4) พิธีสักการะกู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ ณ วัดสวนดอก : กิจกรรม “แอ่วออนอาน สืบฮีตสานฮอย 725 ปี เมืองเจียงใหม่” กับ 13 ชุมชนในข่วงเวียง ในวันที่ 1-19 เมษายน 2564 “น้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่”ในวันที่ 17 เมษายน 2564
พิธีหุงน้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองฯ เป็นพิธีล้านนาโบราณที่หาชมได้ยาก (ไฟที่ใช้หุงก็ต้องเป็นไฟจากธรรมชาติ เช่น จากแสงอาทิตย์ จากความร้อนการไสไม้) จากการสืบค้นบันทึกล้านนาไม่พบว่ามีการประกอบพิธีแบบเต็มรูปแบบมานานกว่าร้อยปี และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ฯ ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ในวันที่ 9 เมษายน 2564
ประชาชนรับน้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองฯ จำนวน 9,725 ขวด ฉลองเมืองเชียงใหม่ครบ 725 ปี วันที่ 11 - 13 เมษายน 2564 ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ วัดพระสิงห์ฯ วัดเจดีย์หลวง วัดบุพพาราม และอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ทั้งนี้สามารถลงทะเบียนรับน้ำทิพย์ได้ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2564 ผ่านทาง เฟซบุซ ททท. สนง.เชียงใหม่ / TAT Chiang Mai
9. สลุงหลวงกลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง 2564
ลำปางจัดงานสงกรานต์ "สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง ประจำปี 2564" ณ ลานกิจกรรมพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง (มิวเซียม ลำปาง) อำเภอเมืองลำปาง ในวันที่ 9-13 เมษายน 2564 กิจกรรมหลักๆ ได้แก่ ชมการแสดง 2 ทศวรรษก๋องปู่จานครลำปาง (ตีประชันก๋องปู่จา 126 ชุด เล่าเรื่องราว 20 ปีในการอนุรักษ์สืบสานตีก๋องปู่จานครลำปาง
ชมนิทรรศการ 2 ทศวรรษแห่งการอนุรักษ์ก๋องปู่จา, สาธิตภูมิปัญญาการทำก๋องปู่จาจำลอง, ชม ชิม ช็อป ข่วงแก้วเวียงละกอน, การประกวดเทพบุตร- เทพธิดาสลุงหลวง ประจำปี 2564, ขบวนอัญเชิญพระแก้วดอนเต้า และขบวนสลุงหลวง, พิธีสรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำปาง
10. เสน่ห์วิถีอีสาน ย้อนวันวานสงกรานต์ขอนแก่น
ขอนแก่นจัดงานสงกรานต์ “เสน่ห์วิถีอีสาน ย้อนวันวานสงกรานต์ขอนแก่น” #บ่ซิดบ่สาดก็ม่วนได้ วิถีไทยขอนแก่น ณ บริเวณสวนสาธารณะบึงแก่นนคร และวัดไชยศรี ตำบลสาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ในวันที่ 8-13 เมษายน 2564 โดยมีกิจกรรมหลักๆ ได้แก่ ชวนชมขบวนอัญเชิญพระพุทธพระลับ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองขอนแก่น ใน Themeย้อนยุควิถีอีสานในอดีต จากศาลากลางจังหวัดขอนแก่นไปยังวัดธาตุพระอารามหลวง (10 เมษายน 2564)
กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธพระลับ, พระพุทธอภัยมงคลสมังคี และพระพุทธรูปจากวัด ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น 20 คุ้มวัด, รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้สูงอายุ, การออกร้านอาหารโบราณ/อาหารถิ่นของจังหวัดขอนแก่น, การประกวดก่อเจดีย์ทราย การละเล่นพื้นบ้าน, กิจกรรมแห่ต้นดอกไม้ และพิธีเสียเคราะห์ ที่วัดไชยศรี (13 เมษายน 2564)
11. มหาสงกรานต์อีสานหนองคาย 2564
หนองคายจัดงานสงกรานต์ร่วมสรงน้ำพระหลวงพ่อพระใส ณ วัดโพธิ์ชัย (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ในวันที่ 12-18 เมษายน 2564 โดยกิจกรรมหลัก ได้แก่ แห่หลวงพ่อพระใสบริเวณรอบพระอุโบสถ 3 รอบ ณ วัดโพธิ์ชัย (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
และใช้วิธีสวดมนต์แทนการการสรงน้ำ การทำบุญตักบาตรเช้าวันที่ 13 เมษายน 2564 กิจกรรมสรงน้ำพระกับชุมชนปะโค และกิจกรรมม่วนกุ๊บสงกรานต์อีสานหนองคาย ตอนม่วนซื่น นุ่งซิ่น เยือนถิ่นนครา ณ ตำบลปะโค อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
12. งานสงกรานต์สรงน้ำพระธาตุประจำวันเกิด 8 พระธาตุ
จัดงานตลอดทั้งเดือน เม.ย. 64 สถานที่คือพระธาตุประจำวันเกิด 8 พระธาตุ จังหวัดนครพนม
กิจกรรม Highlight
- กิจกรรมสรงน้ำพระธาตุพนม พระธาตุประจำวันอาทิตย์ อ.ธาตุพนม
- กิจกรรมสรงน้ำพระธาตุเรณูนคร พระธาตุประจำวันจันทร์ อ.เรณูนคร
- กิจกรรมสรงน้ำพระธาตุมหาชัย พระธาตุประจำวันพุธกลางคืน อ.ปลาปาก -กิจกรรมสรง
น้ำพระธาตุมรุกขนคร พระธาตุประจำวันพุธกลางคืน อ. ธาตุพนม
- กิจกรรมสรงน้ำพระธาตุประสิทธิ์ พระธาตุประจำวันพฤหัสบดี อ.นาหว้า
- กิจกรรมสรงน้ำพราตุท่าอุเทน พระธาตุประจำวันศุกร์ อ. ท่าอุเทน
- กิจกรรมสรงน้ำพระธาตุนคร พระธาตุประจำวันเสาร์ อ.เมืองนคร
- กิจกรรมสรงน้ำพระธาตุโพนสวรรค์ อ. โพนสวรรค์
13. งานสงกรานต์สรงน้ำพระธาตุเชิงชูม
วันที่จัดงานตลอดทั้งเดือน เม.ย. 64 ณ วัดพระธาตุเชิงชูมวรวิหารพระธาตุเชิงชูม อ.เมือง จังหวัดสกลนคร
กิจกรรม Highlight กิจกรรมสรงน้ำพระธาตุเชิงชุม พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร
15. งานสงกรานต์สรงน้ำพระใหญ่ วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์
วันที่จัดงานตลอดทั้งเดือน เม.ย 64 สถานที่จัดงาน คือวัดรอยพุทธบาทภูมโนรมย์ อ.เมือง จังหวัดมุกดาหาร
กิจกรรม Highlight สรงน้ำพระเจ้าใหญ่แก้วมุกดาศรีไตรรัตน์ องค์พระใหญ่ ที่ประดิษฐานอยู่ที่เขาวัด รอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์
154. งานบวงสรวงพญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช
วันที่จัดงาน 12 เม.ย 64 สถานที่จัดงานบริเวณลานรอบองค์พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช
กิจกรรม Highlight กำหนดจัดขึ้นช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ณ บริเวณลานรอบองค์พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช แก่งกะเบา อ.หว้าน ชมขบวนนางรำจำนวนกว่า 1,200 คนในชุดไทยอีสาน
15. เทศกาลเที่ยวแก่งกระเบา
วันที่จัดงาน 13-15 เม.ย 64 และตลอดทั้งเดือน เม.ย 64 สถานที่จัดงาน แก่งกะเบา อ.หว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร
กิจกรรม Highlight จัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคมของทุกปี มีการจัดกิจกรรมรับลมโขง ชิมหมูหัน และออกร้านจำหน่ายสินค้าในบริเวณพื้นที่แก่งกะเบา
16. งานสงกรานต์นครพนม
วันที่จัดงาน 13-15 เม.ย 64 สถานที่จัดงาน หาดทรายศรีโคตรบูร อ.เมือง จังหวัดนครน
กิจกรรม Highlight ตกแต่งบรรยากาศให้เหมือนนั่งอยู่ชายทะเลแต่อยู่บนหาดทรายแม่น้ำโขงการแสดงและ จำหน่ายสินค้าของดีเมืองนครพนม การแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ อาทิ ฟุตซอล เปตอง วอลเลย์บอล ชายหาด และตระกร้อ
17. ประเพณีสงกรานต์บ้านหนองขาว
วันที่จัดงาน 12-13 เมษายน 2564 สถานที่จัดงาน ณ วัดอินทาราม ต.หนองขาว อ.ท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
18. ประเพณีสงกรานต์มอญ อ.สังขละบุรี
วันที่จัดงาน 13-18 เมษายน 2564 สถานที่จัดงาน ณ วัดวังก์วิเวการาม และ บริเวณเจดีย์พุทธคยา อ.สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
19. งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2564
วันที่จัดงาน 25 เม.ย 64 สถานที่จัดงาน ณ บริเวณเทศบาลเมืองพระประแดง
กิจกรรม Highlight
- กิจกรรมทำบุญเลี้ยงพระ
- กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูป
- กิจกรรมรดน้ำขอพรผู้ใหญ่
- กิจกรรมการละเล่นพื้นเมือง (สะบ้ารามัญ)
- กิจกรรมการกวนกาละแม
- กิจกรรมการปล่อยนก-ปล่อยปลา
20. งานบุญเดือน ๕ สงกรานต์แตแรก @เมืองคอน
วันที่จัดงาน 12-15 เมษายน 64 สถานที่จัดงาน ณ บริเวณลานพระบรมธาตุ วัดมหาธาตุ วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
กิจกรรม Highlight
- ขึ้นเบญจาสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์
- ขึ้นเบญจาสรงน้ำรูปเหมือนพ่อท่าน
- จุดเปรียง ก่อเจดีย์ทราย
- ฟังธรรมเถลิงศก
- เขียนผ้าพระบฏ
- มหรสพสมโภช อาทิ โนราถวายมือ โนราโรงดิน หนังตะลุง เพลงบอก