'โฆษณาดิจิทัล' ขึ้นแท่นสื่อหลัก เทียบชั้นทีวี-สื่อนอกบ้าน
สื่อหลัก ทีวี สื่อนอกบ้าน ทรงพลังในการสื่อสารการตลาด และครองเม็ดเงินโฆษณาสัดส่วนที่มาก แต่ปัจจุบัน "ดิจิทัล" มีบทบาทต่อผู้บริโภค แบรนด์ เป็นเครื่องมือการตลาดมีอานุภาพไม่แพ้กัน ได้เวลา "โฆษณาดิจิทัล" ขึ้นแท่นสื่อหลัก ชิงเงินลูกค้าเทียบสื่อดั้งเดิม
เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล จึงทำให้การทำตลาด โฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆไม่จำกัดอยู่แค่สื่อหลักดั้งเดิมอย่างทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ ฯ เหมือนในอดีต แต่แบรนด์ นักการตลาด นักวางแผนซื้อสื่อโฆษณาได้โยกเงินไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคเทเวลาชีวิตให้จนทำให้ “สื่อโฆษณาดิจิทัล” มีอิทธิพลเป็นสื่อหลักมากขึ้น
ปี 2564 อุตสาหกรรมโฆณาได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาด ฉุดแบรนด์เบรกใช้เงินจนทำให้ตลาด “ติดลบ” เกือบยกแผง เว้นโฆษณาดิจิทัล ล่าสุด สมาคมโฆษณาดิจิทัล(ประเทศไทย)หรือ DAAT ได้สรุปตัวเลขการใช้จ่ายเงินโฆษณาทั้งปีผ่านออนไลน์มีมูลค่า 21,058 ล้านบาท เติบโต 8% สูงกว่าที่คาดการณ์จะเติบโต 0.32% เท่านั้น
ชาญชัย พงศนันทน์ กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ฉายภาพว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมโฆณาดิจิทัลปี 2564 คาดว่าจะมีมูลค่า 22,800 ล้านบาท เติบโต 8% จากปี 2563 การเติบโตที่ต่ำเนื่องจากมีปัจจัยโรคโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายสู่ภาวะปกติ 100% รวมถึงการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว จึงมีผลต่อแบรนด์ที่ใช้จ่ายเงินทำตลาดเจาะตลาดท่องเที่ยว ทั้งนี้ หากผู้บริโภค แบรนด์ปรับตัว อาจเห็นการกลับมาใช้จ่ายเงินเพิ่ม และผลักดันให้โฆษณาดิจิทัลเติบโตในอัตรา 2 หลัก เหมือนหลายปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ โฆษณาดิจิทัลปี 2563 ที่เติบโต 8% สวนทางวิกฤติโควิดที่ทำให้เงินในอุตสาหกรรมโฆษณาโดยรวมหดตัวลง ยังสะท้อนให้เห็นว่าสื่อโฆษณาดิจิทัลได้กลายเป็น “สื่อหลัก” เทียบเท่ากับ “สื่อโทรทัศน์” และ “สื่อโฆษณานอกบ้าน” ด้วย
“สื่อโฆษณาดิจิทัลเป็นสื่อหลักเทียบเท่าสื่อทีวี สื่อโฆษณานอกบ้าน เพราะเม็ดเงินเติบโตขึ้น”
ราชศักดิ์ อัศวศุภชัย กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัลฯ ให้เหตุผลโฆษณาดิจิทัลโตท่ามกลางวิกฤติไวรัสโควิด เป็นผลจากไทยบริการจัดการการแพร่ระบาดโรคให้อยู่ในสถานการณ์ที่ดี จำนวนผู้ป่วยไม่เพิ่ม แบรนด์ต่างๆจึงใช้จ่ายเงินสะพัดไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงค้าปลีกออนไลน์ ส่งอาหารเดลิเวอรี่ ทำให้ตัวเลขเป็นบวก กระทั่งเจอการระบาดรอบใหม่ปลายปี
ทั้งนี้ ค้าปลีกออนไลน์ใช้จ่ายเงินคึกคัก 1,024 ล้านบาท เติบโต 13% เกิดจากการปรับตัวของผู้ประกอบการทุกหมวดทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต สเปเชียลตี้สโตร์ ที่หันมาโฟสกัสทำตลาดออนไลน์ โปรโมทโปรโมชั่น ส่วนลดในมหกรรมเมกะเซลล์ต่างๆ กระตุ้นยอดขาย จากเดิมเน้นทำกิจกรรม สื่อสารการตลาดผ่านช่องทางออฟไลน์ที่ห้างค้าปลีก และแนวโน้มในอนาคตจะเห็นค้าปลีกจับมือพันธมิตรเทเงินทำการตลาดดิจิทัลสร้างยอดขายเติบโตร่วมกันมากขึ้น
พัชรี เพิ่มวงศ์อัศวะ กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัลฯ กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่ใช้จ่ายเงินโฆษณา 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ 2,713 ล้านบาท ลดลง 3% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1,993 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% โทรคมนาคม 1,979 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ 1,922 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% และผลิตภัณฑ์นม 1,717 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% ส่วนแนวโน้มปี 2564 คาดว่ายานยนต์จะใช้จ่าย 2,912 ล้านบาท เติบโต 7% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2,206 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ 2,152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% โทรคมนาคม 2,138 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% และผลิตภัณฑ์นม 1,852 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7%
ทั้งนี้ ปี 2563 หมวดที่ใช้จ่ายลดลงจนหลุดท็อป 10 ได้แก่ ธนาคาร เพราะไม่มีการสร้างแบรนด์ รวมถึงโยกการใช้เงินไปช่วยลดภาระลูกหนี้ที่กระทบจากโควิด รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ เพราะการซื้อบ้านต้องใช้เงินมหาศาล แนวโน้มปีนี้คาดว่าจะชะลอใช้จ่ายต่อเนื่อง
ส่วนแพลตฟอร์มที่ยังครองเงินโฆษณาสูงสุด ยังเป็นเฟซบุ๊ก ยูทูป และครีเอทีฟ แต่ปี 2564 จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยโซเชียลมีเดียจะครองเงินเป็นอันดับ 3 ซึ่ง 3 แพลตฟอร์มแรกครองเม็ดเงินราว 14,603 ล้านบาท เกินกว่า 50% ของทั้งหมด