'สงกรานต์' ปี 64 บรรยากาศท่องเที่ยวไทยจะดีขึ้น หากคุมโควิดได้
แม้เทศกาลสงกรานต์ปี 2564 จะไม่เหมือนเดิมจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ภาพรวมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมีสัญญาณดีขึ้น หากไม่มีการแพร่ระบาดที่เข้ามากระทบ คาดว่าการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยน่าจะอยู่ที่ 3.84 ล้านคน-ครั้ง
การท่องเที่ยวในประเทศช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวน่าจะดีขึ้น แม้ในปีนี้การฉลองเทศกาลสงกรานต์จะแตกต่างจากในปีก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทางการจึงงดการจัดกิจกรรมการสาดน้ำ การจัดปาร์ตี้โฟมและคอนเสิร์ต แต่อนุญาตให้จัดกิจกรรมสงกรานต์ตามประเพณีทางศาสนาและสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้
ประกอบกับในวันที่ 12 เม.ย.2564 เป็นวันหยุดราชกรณีพิเศษ ส่งผลทำให้เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มีวันหยุดราชการติดต่อกันถึง 6 วัน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวได้ทำแคมเปญการตลาด เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งนับเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อตลาดท่องเที่ยวในประเทศ
สงกรานต์ปี 2564 การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมีสัญญาณดีขึ้น แต่ยังอยู่ระดับต่ำกว่าก่อนเกิดการระบาดโควิด เนื่องจากยังมีความกังวลสถานการณ์โควิด-19
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจความคิดเห็นการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 นี้ (เป็นกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวแบบพักค้าง ไปเช้า-เย็นกลับ และที่เดินทางไปเยี่ยมญาติต่างจังหวัดและมีการท่องเที่ยว) ของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ของตลาดไทยเที่ยวไทย โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน
เพื่อสะท้อนมุมมองและความรู้สึกต่อสถานการณ์โควิดและการเดินทางท่องเที่ยว จากผลสำรวจการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดของคนกรุงเทพฯ ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 นี้ สะท้อนภาพบรรยากาศการเดินทางที่ดีขึ้น แต่ในภาพรวมก็นับว่ายังต่ำกว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก่อนเกิดการระบาดของโควิด
กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ที่ไม่มีแผนเดินทางต่างจังหวัดยังมีสัดส่วนสูงหรือคิดเป็นประมาณ 40.1% (จากผลการสำรวจการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2564 ซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาดโควิดระลอกใหม่ ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งไม่มีแผนเดินทางท่องเที่ยว) ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีแผนเดินทางไปต่างจังหวัดคิดเป็น 39.9% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด
เทศกาลสงกรานต์นี้ กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มองหาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล (อาทิ หัวหิน ชะอำ พัทยา และภูเก็ต เป็นต้น) การเดินทางสะดวกสามารถขับรถไปได้ หลีกหนีแหล่งท่องเที่ยวที่หนาแน่น และให้ความสำคัญกับจังหวัดที่ปลอดโรคโควิด และกลุ่มตัวอย่างที่ยังไม่แนใจคิดเป็น 20.0% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนี้มีความเป็นไปได้ที่จะตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว
กรณีที่โควิด-19 ไม่มีการแพร่ระบาดจนกระทบแผนการท่องเที่ยว คาดว่าการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.84 ล้านคน-ครั้ง
เนื่องจาก ณ ขณะนี้ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ความไม่แน่นอนจึงยังมีสูง แต่หากทางการสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ และในแหล่งท่องเที่ยวไม่พบผู้ติดเชื้อจำนวนสูงอย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวนั้น
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 9 วัน ระหว่างวันที่ 10-18 เม.ย.2564 (แม้ในวันที่ 12 เม.ย.นี้จะเป็นวันหยุดราชการไม่รวมภาคเอกชนก็ตาม แต่คนไทยบางกลุ่มจะมีการหยุดเพิ่มเติมเพื่อเดินทางท่องเที่ยว และเอกชนบางแห่งมีการปรับเปลี่ยนวันหยุดเพื่อให้พนักงานหยุดยาวติดต่อกัน เช่น โรงงานอุตสาหกรรม) น่าจะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจำนวน 3.84 ล้านคน-ครั้ง (หดตัวประมาณ 30.2% เมื่อเทียบกับช่วงกรอบระยะเวลาเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นปีปกติก่อนมีโควิด)
แต่เนื่องจากในช่วงนี้มีช่วงวันหยุดยาวติดต่อกัน กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 59.8% มีการเดินทางทั้งแบบไปพัก-ค้าง และเดินทางไปเช้า-เย็นกลับ ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยน่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.59 หมื่นล้านบาท (หดตัวประมาณ 37.2% เมื่อเทียบกับช่วงกรอบระยะเวลาเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นปีปกติก่อนมีโควิด)
โดยค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในเทศกาลสงกรานต์เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4,150 บาทต่อทริป ลดลงจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ปกติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4,900 บาทต่อทริป ทั้งนี้ การลดลงของค่าใช้จ่ายต่อทริปมาจากหลายเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการเลือกเดินทางระยะใกล้ คนส่วนใหญ่นิยมเดินทางโดยรถส่วนตัว ประกอบการท่องเที่ยวที่มีการแข่งขันด้านราคาอย่างค่าที่พักแรมที่ปรับลดลง รวมถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ปรับลดค่าใช้จ่ายในการซื้อของฝาก
โดยสรุป ณ ปัจจุบัน เนื่องจากโรคระบาดโควิด-19 ยังไม่จบ ทำให้จึงยากที่จะประเมินเหตุการณ์ในระยะข้างหน้า ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอย่างโรงแรมและที่พัก หรือบริษัทนำเที่ยวยังคงต้องมีความยืดหยุ่นในการจัดการบริหาร เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนแผนการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว เช่น ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนตารางการเดินทาง ให้ยกเลิกหรือปรับรูปแบบเป็นเครดิตสำหรับการใช้บริการในอนาคตโดยไม่ต้องคำนึงถึงฤดูกาลท่องเที่ยว
นอกจากนี้ การปรับผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวให้เข้ากับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไทย เช่น นักท่องเที่ยวนิยมการแชร์ประสบการณ์ท่องเที่ยวบนโลกสังคมออนไลน์ ผู้ประกอบการคงจะปรับผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวสร้างความแตกต่างด้วยการนำเสนอกิจกรรมท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์ประสบการณ์ หรือ Experience+Activity ซึ่งเป็นเทรนด์ท่องเที่ยวที่กำลังมาในขณะนี้
รวมถึงการเพิ่มช่องทางการขายและการสื่อสารผ่านดิจิทัลมากขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ไปสู่กลุ่มเป้าหมาย และที่สำคัญการช่วยกันรักษามาตรฐานความสะอาดและปลอดภัยจากโรคโควิดยังมีความจำเป็นเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะมาใช้บริการ
หากเหตุการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และการฉีดวัคซีนดำเนินไปได้ด้วยดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าภาพรวมของตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะทยอยกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ ในช่วงที่เหลือของปีตลาดยังพอมีปัจจัยบวกโดยภาครัฐยังมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ได้แก่ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” ระยะที่ 3 และ “โครงการทัวร์เที่ยวไทย” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.2564