ทำความเข้าใจ "ไบโพลาร์" รักษาได้ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย
ที่ผ่านมา "โรคไบโพลาร์" ถูกนำมาพูดถึงในทางลบ เกิดการตีตรา ผู้ป่วยไบโพลาร์ ไม่กล้าไปพบแพทย์ทำให้การรักษาล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น มีผู้ป่วยได้รับการรักษาเพียง 1% เท่านั้น ดังนั้น จึงต้องสร้างความเข้าใจแก่สังคมและสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยไปพร้อมกัน
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า โรคไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์แปรปรวน เป็นโรคที่มีดัชนีการสูญเสียสุขภาวะด้านความพิการ สูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มจิตเวช และยังพบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่าโรคจิตเวชอื่นๆ โดยความชุกชั่วชีวิตของการพยายามฆ่าตัวตายอยู่ที่ร้อยละ 25.6 – 42 และ ร้อยละ 10-20 เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย
พฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์กับระดับความรุนแรงของ "ภาวะซึมเศร้า" และจำเป็นต้องได้รับการรักษาและการบำบัดที่ถูกต้อง โดยทุกวันนี้สังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เข้ารับการรักษา ซึ่งยังเป็นปัญหาของสังคมไทยที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งหาแนวทางในการบริหารจัดการโรคจิตเวช รวมถึงโรคไบโพลาร์ ควบคู่ไปกับสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน
“ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์” นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าว World Bipolar Day “เปิดใจให้ไบโพลาร์” ณ โรงพยาบาลศรีธัญญา ว่า คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 10 ล้านคน เป็นผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ถึง 1 ล้านคน แต่เข้ามารับการบำบัดรักษาเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ไบโพลาร์เป็นหนึ่งในโรคที่อยู่ในกลุ่มความผิดปกติทางอารมณ์ ไม่ใช่นิสัย ไม่ใช่บุคลิก เป็นสิ่งที่รักษาได้เรียกง่ายๆ คือ อารมณ์สองขั้ว บางช่วงอาจจะผิดปกติ คือ มีอารมณ์เศร้าเหมือน "โรคซึมเศร้า" ทุกประการ หรือ มีอารมณ์อีกขั้ว คือ อารมณ์คึก สนุก อารมณ์ดีเกินไป
“โรคไบโพลาร์จะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น แต่คนไม่รู้ และคิดว่าเป็นเพียงอารมณ์แปรปรวนตามประสาวัยรุ่น หรือบางรายที่มีอารมณ์ซึมเศร้า (Major Depressive Episode) เด่นกว่า อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (Mania) ก็มักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการวินิจฉัยและส่งผลต่อการรักษาที่ล่าช้าไปเฉลี่ยถึง 11 ปี”
อัตราการเกิดโรคครั้งแรก พบบ่อยที่สุดที่ช่วงอายุ 15-19 ปี รองลงมา คือ อายุ 20-24 ปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี อีกทั้งโรคอารมณ์แปรปรวน ถือเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคในระยะยาวเรื้อรัง และเป็นโรคที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง ประมาณร้อยละ 70-90 ประเทศไทยยังจำเป็นต้องเร่งพัฒนาด้านการจัดการสุขภาพจิตอย่างเป็นระบบ รวมถึงมุ่งเน้นการศึกษาในการพัฒนาศักยภาพเพื่อการจัดการกับอาการของตนเองด้วยตัวผู้ป่วยจิตเวชเองที่ชัดเจน
“ปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมา ยังพบว่าการดูแลช่วยเหลือยังขาดเรื่องการติดตามและการกระตุ้นให้ใช้ทักษะต่างๆ ในสถานการณ์จริงอย่างต่อเนื่อง และขาดแหล่งข้อมูลความรู้ที่ช่วยในการสนับสนุนผู้ป่วยขณะเผชิญปัญหาเมื่ออยู่ที่บ้าน จึงทําให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงของอาการที่มากขึ้น และเกิดการกลับมาเป็นซ้ำของผู้ป่วยได้”นพ.ชวนันท์ กล่าว
- แนวทางการรักษา "ไบโพลาร์"
สำหรับ แนวทางการรักษาโรคจิตเวช และโรคไบโพลาร์ คือ วิธีรักษาด้วยการใช้ยา ร่วมกับ การบําบัดทางจิตสังคม (Psychosocial therapy) เช่น จิตบําบัดปรับความคิดและพฤติกรรม จิตบําบัดเพื่อสัมพันธภาพระหว่างบุคคล สุขภาพจิตศึกษา และการบําบัดที่เน้นครอบครัว และจากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า การให้สุขภาพจิตศึกษาร่วมกับการรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพในการช่วยลดความรุนแรงของอาการและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ดี
นพ.สุทธา สุปัญญา นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการรักษาโรคไบโพลาร์ หลักๆ ยังเป็นการใช้ยา เป็นโรคที่รักษาได้ โดยแบ่งเป็น ช่วงที่เป็น และ ช่วงป้องกัน ทั้งสองช่วงมียาหลายกลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มคงอารมณ์ หรืออื่นๆ ที่ทำให้อารมณ์ไม่แปรเปลี่ยน แต่เนื่องจากไบโพลาร์มีโอกาสจะกลับเป็นซ้ำ ดังนั้น นอกจากยา คือ ความเข้าใจโรค ของทั้งผู้ป่วยเองและครอบครัว
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจิตแพทย์ทั่วประเทศ 1,000 คนต่อประชากรกว่า 70 ล้านคน แต่ระดับการกระจายค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ หากสงสัยว่าจะเป็นสามารถปรึกษาได้ที่ รพ. ใกล้บ้าน นอกจากนี้ ยังมีพยาบาลที่ผ่านการเทรนนิ่งด้านจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบทุก รพ. รวมถึง ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต สมาคมจิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 โดยค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ในหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ประกันสังคม ข้าราชการ ได้ทุกสิทธิ
- ประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วย "ไบโพลาร์"
“ดีเจเคนโด้ - เกรียงไกร พจนสุนทร” ผู้ป่วยไบโพลาร์ อธิบายว่า น้องสาวเป็นไบโพลาร์มาก่อนประมาณปี 2549 หลังจากนั้น 5 ปี ประมาณ 2555 ตนเองเริ่มมีอาการ Mania คือ รู้สึกเพลิดเพลิน ไม่ต้องนอนก็ได้ รู้สึกทำอะไรก็สำเร็จไปหมด มีพฤติรกรรมล้นๆถึงขั้นคิดว่าสื่อสารกับเทวดาฟ้าดินได้ คิดว่าเราเหนือกว่าคนธรรมดา คนที่สังเกตเราคนแรก คือ คุณแม่ รู้ตัวอีกที คือ ตอนเปลี่ยนขั้วจากสนุกสนานกลายเป็นซึมเศร้า แทบจะไม่มีเรี่ยวแรงในการทำงาน จึงได้ปรึกษาหมอเบิร์ด (พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์) จึงทราบว่าเป็นไบโพลาร์
"แวบแรกที่คิด คือ อยากหาย สิ่งแรกที่ถามหมอ คือ จะหายใช่หรือไม่ และไม่ปฏิเสธการรักษา ปัจจุบัน รักษามา 7 ปี ดูแลตัวเอง ออกกำลังกายควบคู่กันไป ทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม ไบโพลาร์ไม่ได้ทำให้ศักยภาพหายไป"
"อุปสรรค คือ สังคมที่มองเราและครอบครัว เพราะไบโพลาร์ถูกสังคมนำไปพูดปู้ยี้ปู้ยำ ทำให้ผู้ป่วยหลายคนไม่กล้าไปหาหมอและพลาดการรักษาอย่างน่าเสียดาย ไบโพลาร์ก็แค่ป่วยและรักษาอยากให้ไบโพลาร์เป็นเรื่องธรรมดาของประเทศไทย เราใช้ตัวเองเป็นตนแบบ ตอนนี้เก็เป็นดีเจเคนโด้ปกติ อยากให้คนที่เป็นไบโพลาร์ลุกขึ้นมาและพูดบางสิ่งบางอย่างด้วยกัน" ดีเจเคนโด้ กล่าว
“พรทิพย์ พจนสุนทร” คุณแม่ดีเจเคนโด้ กล่าวว่า การรับมือกับการที่มีคนในบ้านเป็นไบโพลาร์ ครอบครัวสำคัญมากที่จะยอมรับและดูแล ส่วนแม่ต้องอดทน และต้องตั้งสติ มีความเมตา มีความรักให้ อาการบางอย่างที่แสดงออกมาไม่ถือสาคิดว่านั่นคืออาการของโรค บางทีเขาจะพูดซ้ำๆ ซากๆ แต่ต้องรับฟังให้เขาสบายใจ เพราะฉะนั้น ความรักความอบอุ่นในครอบครัวสำคัญ ใช้ความรัก ความเมตตา เขาจะรักษาหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 30 มีนาคม 'วันไบโพลาร์โลก' พ่วงวันเกิด 'แวน โก๊ะ' ศิลปินระดับโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 8 สัญญาณที่อาจเข้าข่ายเป็นโรคไบโพล่าร์