สถานการณ์น้ำไทย ปี 64 ตกลงเสี่ยง 'แล้ง' หรือ 'ท่วม'?

สถานการณ์น้ำไทย ปี 64 ตกลงเสี่ยง 'แล้ง' หรือ 'ท่วม'?

สถานการณ์น้ำไทย ปี 2564 ตกลงเสี่ยง "แล้ง" หรือ "ท่วม"? เปิดบทวิเคราะห์คาดการณ์จากทั้งกรมชลประทาน และทีมกรุ๊ป พร้อมส่องสถานการณ์ 4 เขื่อนใหญ่ ยังรับปริมาณน้ำได้อีกแค่ไหน?

ปี 2564 เพียงแค่ไตรมาสแรกคนไทยก็ต้องเผชิญพายุกันไปหลายต่อหลายครั้งแล้ว พายุที่พัดกระหน่ำนั้นมาเป็นระลอกๆ ต่อจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่พัดผ่านมาเล่นงานจนทำให้ต้องประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ประกอบกับมีกระแสข่าวออกมาทั้งสองด้าน ไม่ว่าจะเป็นปีที่คนไทยจะต้องเผชิญกับฝนที่จะตกหนักที่สุดในรอบ 30 ปี ขณะที่อีกมุมตีกลับว่าปีนี้อาจแล้งต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 

ด้วยข้อมูลจากหลายทิศทาง ทำให้หลายคนเริ่มสับสนว่าจริงๆ แล้ว ปี 2564 ตกลงสถานการณ์น้ำเสี่ยง "แล้ง" หรือ "ท่วม" กันแน่?

แม้เรื่องของฝน ฟ้า สภาพอากาศ จะเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ และไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเราเลย ไม่เพียงแต่การดำเนินชีวิตประจำวันที่ต้องเผชิญสภาพอากาศ รวมไปถึงบางอาชีพที่ต้องพึ่งพิงปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นกัน แต่ด้วยเทคโนโลยีทำให้วันนี้เราสามารถคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้าได้ เพื่อจะได้เตรียมตัวและรับมือได้อย่างทันท่วงที 

หากติดตามทีมกรุ๊ป (TEAM GROUP) ภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศอย่างต่อเนื่อง ได้เห็นจากการคาดการณ์สถานการณ์น้ำที่ออกมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งและฤดูฝน สำหรับปี 2564 นี้ "ชวลิต จันทรรัตน์" ประธานกรรมการบริการ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด แมเนจเมนท์ ชี้ว่า ปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่แล้งติดต่อกัน 

หากถามว่าเพราะอะไรประเทศไทยถึงแล้ง ทีมกรุ๊ประบุว่าเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญนั่นเอง ที่ลากยาวต่อเนื่องถึงกลางฤดูฝนปีที่ผ่านมา ทำให้ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย เมื่อย้อนดูสถิติแล้วพบว่าทั่วประเทศประสบปัญหาเดียวกันทั้งหมด ยกเว้นภาคใต้เพียงภาคเดียวที่ฝนตกเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ 

ไม่เพียงแต่ฝนตกที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ย ที่ผ่านมาประเทศไทยยังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ซึ่งเป็นปัจจัยลบสำคัญต่อปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ลดลง บางพื้นที่แห้งแล้งรุนแรง และส่งสัญญาณว่าขาดแคลนน้ำอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา 

ขณะที่จากการตรวจวัดอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลรวมทั้งหมดกว่า 200 จุด ซึ่งมีการคาดการณ์ล่วงหน้า 6 เดือน ของหน่วยงานบริหารการแห่งมหาสมุทรและขั้นบรรยากาศแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) ชี้ชัดดังนี้

  • ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ประเทศไทยจะเกิดพายุฤดูร้อน มีลมกระโชกแรง เกิดลูกเห็บในบางพื้นที่ แต่ปริมาณฝนกลับไม่มาก 
  • ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ 
  • ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ประเทศไทยเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง
  • ช่วงเดือนสิงหาคม-ปลายฤดูฝน ประเทศไทยจะมีฝนตกมากกว่าเกณฑ์ปกติ 
  • ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ประเทศไทยจะมีฝนตกมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคอีสารตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก 

"ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล" รองอธิบดีกรมชลประทาน ออกมาอธิบายถึงเรื่องนี้ว่าเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าปีนี้จะมีปริมาณฝนตกสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี และจะมาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา อาจจะตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม แต่ไม่ได้ตกหนักที่สุดตามที่มีข่าวออกไป

ทั้งนี้ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมตรวจสอบสภาพอ่างเก็บน้ำและอาคารชลประทานต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม หากดูจากข้อมูลสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ 35 แห่ง ของกรมชลประทาน ณ วันที่ 12 เมษายน 2564 พบว่า มีปริมาณน้ำโดยรวมอยู่ที่ 34,666 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 49% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งปริมาณน้ำอยู่ที่ 35,323 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 50% 

โดย 4 เขื่อนใหญ่หลักลุ่มเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ภาพรวมมีปริมาณน้ำรวมทั้งหมด 9,156 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 37% ซึ่งสามารถรับน้ำได้อีก 15,715 ล้าน ลบ.ม.

  • ภูมิพล ปริมาณน้ำรวม 4,677 ล้าน ลบ.ม. (35%) ปริมาณน้ำใช้การ 877 ล้าน ลบ.ม. (9%) 
  • สิริกิติ์ ปริมาณน้ำรวม 3,925 ล้าน ลบ.ม. (41%) ปริมาณน้ำใช้การ 1,075 ล้าน ลบ.ม. (16%) 
  • แควน้อยบำรุงแดน ปริมาณน้ำรวม 316 ล้าน ลบ.ม. (34%) ปริมาณน้ำใช้การ 273 ล้าน ลบ.ม. (30%)
  • ป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำรวม 238 ล้าน ลบ.ม. (25%) ปริมาณน้ำใช้การ 235 ล้าน ลบ.ม. (25%)

ในส่วนของคำถามคาใจว่าปีนี้จะแล้งหรือไม่? ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 ว่า การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนั้นเหลือเวลาอีกเพียง 30 วันจะสิ้นสุด พบว่าปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปีนี้นั้นมีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ทำให้เกิดการว่างงาน ส่งผลให้มีการเพาะปลูก (นอกแผน) เพิ่มขึ้นถึงจำนวน 2.79 ล้านไร่ อย่างไรก็ตามพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวได้ทำการเก็บเกี่ยวไปกว่าครึ่งแล้ว

และกรมชลประทานได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน โดยจะมีการปรับแผนการเพาะปลูกในทุ่งบางระกำประมาณ 265,000 ไร่ ซึ่งให้เริ่มเพาะปลูกในวัน 1 เมษายน 2564 เพื่อสามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนเดือนสิงหาคม เนื่องจากช่วงเดือนปลายเดือนสิงหาคมจะใช้ทุ่งบางระกำเป็นแก้มลิงในกรณีที่ลำน้ำยมมีน้ำส่วนเกิน เพื่อป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดสุโขทัย

อย่างไรก็ตามการติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนการดำเนินชีวิต รวมถึงการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะเกษตรกรรม

ที่มา : กรมชลประทาน