'อาการโควิด' ต่างจากอาการไข้อื่นยังไง? รู้ไว้ก่อนหยุด 'สงกรานต์'

'อาการโควิด' ต่างจากอาการไข้อื่นยังไง? รู้ไว้ก่อนหยุด 'สงกรานต์'

เมื่อ "โควิด-19" กลับมาระบาดเป็นรอบที่ 3 จากคลัสเตอร์ "ผับทองหล่อ" ชวนคนไทยเช็คตนเองอีกทีว่าเข้าข่าย "อาการโควิด" หรือไม่? ก่อนจะไปเที่ยวต่อช่วง "สงกรานต์" หากเคยไปพื้นที่เสี่ยงต้องรีบพบแพทย์

คนไทยสุดเซ็ง! เมื่อ "โควิด-19" กลับมาระบาดใหม่เป็นรอบที่ 3 แถมยังแพร่ระบาดก่อนวันหยุดยาวในช่วง "สงกรานต์" 2564 อีกต่างหาก ใครที่รู้ตัวว่าเคยไปพื้นที่เสี่ยงย่านทองหล่อ เอกมัย รัชดา ต้องสังเกตตนเองให้ดีว่ามี "อาการโควิด" หรือไม่? เพราะหากป่วยด้วยการติดเชื้อโควิดจะมีอาการแตกต่างจากอาการป่วยไข้แบบอื่นๆ 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้สรุปและรวบรวมอาการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสต่างๆ ที่สามารถก่อโรคที่มีอาการคล้ายกันมาให้เช็คอีกที เพื่อแยกแยะได้ถูกว่าแบบไหนเรียกว่าเข้าข่าย "อาการโควิด" จะได้รับมือได้เร็ว และรีบไปตรวจหาเชื้อได้ทันท่วงที

1. อาการป่วย "COVID-19" จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ จะมีอาการเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยจะแสดงอาการตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อย ไม่ว่าจะเป็น การคัดจมูก เจ็บคอ ไอ และมีไข้ ส่วนบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีอาการปอดบวมหรือหายใจลำบากร่วมด้วย

โดยอาการที่พบบ่อยที่สุด คือ มีไข้ (ไข้สูงติดต่อกัน 48 ชั่วโมง), ไอแห้งๆ, ไม่มีเรี่ยวแรง หอบเหนื่อย, ไอมีเสมหะ, หายใจลำบาก, เจ็บคอ, ปวดหัว, จมูกไม่ได้กลิ่น, ลิ้นไม่รับรส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

   

161776889723

มีข้อมูลจาก ศ.พญ.เสาวรส ภทรภักดิ์ ประธานราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแห่งประเทศไทย ที่เคยออกประกาศฉบับที่ 3 เรื่องข้อแนะนำเรื่องอาการสูญเสียการได้กลิ่นในผู้ป่วย COVID-19 ระบุว่า มีงานวิจัยและรายงานของผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาการสูญเสียการได้กลิ่น (anosmia) กับผู้ป่วยโควิด-19 โดยพบว่า

- ผู้ป่วยโรค COVID-19 (หมายถึงมีผลตรวจเป็นบวกแล้ว) พบมี anosmia (อาการสูญเสียการได้กลิ่น) ได้ถึง 2 ใน 3

- ผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่มีอาการอื่นๆ (ไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล) ไม่มาก จะพบว่ามี anosmia (อาการสูญเสียการได้กลิ่น) เป็นอาการหลักถึง 30%

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจาก นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข (10) เคยระบุไว้ว่า อาการโควิด-19 นั้น มีความแตกต่างของอาการ โควิด-19 ในเด็กและผู้ใหญ่ คือ เด็กจะมีอาการน้อยกว่า ดังนี้ 

- อาการโควิดสำหรับเด็ก : ร้อยละ 42 จะมีอาการไข้, ร้อยละ 49 มีอาการไอ, ร้อยละ 8 มีน้ำมูก, ร้อยละ 7 มีอาการอ่อนเพลีย 

- อาการโควิดสำหรับผู้ใหญ่ : ร้อยละ 89 จะมีอาการไข้, ร้อยละ 68 มีอาการไอ (อาการหลักที่สำคัญ), ร้อยละ 14 จะมีอาการเจ็บคอ, ร้อยละ 15 มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, ร้อยละ 5 มีน้ำมูก, ร้อยละ 38 มีอาการอ่อนเพลีย

อีกทั้งพบว่า "ช่วงอายุ" ของผู้มีอาการป่วยจากโควิด-19 ก็มีผลต่อ "อัตราการเสียชีวิต" ด้วย กล่าวคือ 

- กลุ่มอายุ 10-19 ปีมีโอกาสต่ำมาก 

- กลุ่มอายุ50-59 ปี มีโอกาสเสี่ยงสูง

- กลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงสูงและมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก (ผู้ป่วยช่วงอายุนี้ 100 คน จะมีอัตราเสียชีวิตถึง 15 คน)

161776906521

2. อาการป่วย โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ 

ไข้หวัดธรรมดา (Common cold) และ ไข้หวัดใหญ่ (Flu) ต่างก็เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่แตกต่างกันที่ชนิดของไวรัส โดยไข้หวัดธรรมดานั้นเกิดได้จากไวรัส Rhinoviruses และ Coronaviruses ที่เป็นสาเหตุร้อยละ 10-15 ส่วนไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดจากไวรัส Influenza A และ Influenza B 

อาการไข้หวัดธรรมดา: ไข้ต่ำๆ คัดจมูก มีน้ำมูกใส จาม เจ็บคอ คอแดง ทอนซิลอาจบวมแดงแต่ไม่มีหนอง ไอเล็กน้อย ปวดหัวเล็กน้อย อาการทั่วไปมักไม่รุนแรง และหายได้เอง

อาการไข้หวัดใหญ่: เกิดอาการทางจมูกและคอได้บ้างในบางครั้ง แต่จะมีอาการเด่นชัด คือ มีไข้สูงลอย (37.8-39.0 องศาเซลเซียส) ไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดหัวหนัก ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลียมาก ไอรุนแรง ร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก (ใกล้เคียงกับอาการของโรค "COVID-19" ต้องให้แพทย์วินิจฉัย)

3. อาการป่วย โรคภูมิแพ้, แพ้อากาศ

ในกรณีของการแพ้อากาศนั้น ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยเอง ซึ่งทำงานตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นที่สามารถพบได้จากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เช่น ฝุ่น อากาศเย็น อากาศร้อน และละอองเกสร ซึ่งสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้นั้นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน อาการส่วนใหญ่ คือ จาม น้ำมูกไหล คันยุบยิบๆ บริเวณตา จมูก แต่ไม่มีไข้ ไม่มีอาการไอ ไม่เหนื่อยหอบ

4. อาการป่วย โรคไข้เลือดออก

หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็ก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ แต่จะเบื่ออาหาร อาเจียน และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน

อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้ กล่าวคือ มีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena)

ส่วนใหญ่จะคลำพบตับ โต ได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บ มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือในรายที่อาการหนักอาจเกิดภาวะช็อกได้ 

อ้างอิง : ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแห่งประเทศไทย , กระทรวงสาธารณสุข