เปิดวิธี ‘กักตัวที่บ้าน’ อย่างไรให้ถูกต้อง​ ไม่ให้เชื้อโควิด-19 ไปถึงคนใกล้ตัว?

เปิดวิธี ‘กักตัวที่บ้าน’ อย่างไรให้ถูกต้อง​ ไม่ให้เชื้อโควิด-19 ไปถึงคนใกล้ตัว?

เปิดวิธี “กักตัวโควิด” ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อต้อง “กักตัวที่บ้าน” จะทำอย่างไร ให้คนในบ้านปลอดภัยจากโควิด-19 ?

ช่วงนี้คำถามว่า ..เราติดหรือยัง? รวมถึงคำถามต่อมาคือ แล้วต้อง “กักตัว” ไหม​?​ อาจวนเวียนในหัวของหลายๆ คน เพราะเมื่อเห็นตัวเลขการระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ที่ดูเหมือนเชื้อโควิด-19 เริ่มใกล้ตัวเรามากขึ้น 

เพราะจากจุดเริ่มต้นที่มีฮ็อตสปอตหลักๆ คือ สถานบันเทิงต่างๆ โดยเฉพาะ คลัสเตอร์ทองหล่อ ที่ดูจะน่าจับตาเป็นพิเศษ เพราะส่งผลให้เชื้อกระจายไปในหลายพื้นที่ ในหลายจังหวัด จนใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนได้ทราบข่าวไม่ว่าจะเป็นทั้งคนในสำนักงานเดียวกัน อาศัยหรือทำงานในอาคารเดียวกัน หรือกระทั่งคนรู้จักกัน จนต้องมานั่งทบทวนไทม์ไลน์ตัวเอง ว่าได้เกี่ยวพันกับผู้ติดเชื้อหรือไม่

แต่เชื่อว่า หลายๆ คนก็ยังสับสนว่า ตัวเองมีความเสี่ยงระดับไหน ต้องปฏิบัติตัวเองอย่างไร และหากไม่มีสถานที่กักตัวแยกจะจัดสรรพื้นที่บ้านอย่างไรให้ทุกคนปลอดภัยสูงสุด? 

โดยเฉพาะถ้าเข้าข่ายเสี่ยงสูงแล้วไม่มีสถานที่กักตัวแยก ต้องกักตัวอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ที่บ้าน ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร 

“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” มีคำตอบ..



  • แค่ไหน ถึงเรียกว่า “เสี่ยง”

ก่อนอื่น ต้องมาดูกันก่อนว่า คุณเป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19” ระดับไหน? ซึ่งเราสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน 

1.ระดับผู้มีความเสี่ยงสูง 

ผู้ที่อยู่ในความเสี่ยงระดับนี้คือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีผลตรวจออกมาแล้วว่าเป็นผู้มีเชื้อโควิด-19

แนวทางปฏิบัติ: ต้องทำการกักกันโรคและตรวจทางห้องปฏิบัติการ

2.ระดับผู้มีความเสี่ยงต่ำ

ผู้ที่อยุ่ในระดับความเสี่ยงนี้คือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับคนที่มีความเสี่ยงสูงอีกทีหนึ่ง

แนวทางปฏิบัติ: ให้ทำการสังเกตอาการ หลีกเลี่ยงไปยังที่สาธารณะ ชุมชน และสามหน้ากากอนามัยให้มิดชิด

3.ระดับผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง

ผู้ที่อยู่ในระดับความเสี่ยงนี้คือผู้ที่ใกล้ชิดกับคนที่มีความเสี่ยงต่ำ

แนวทางปฏิบัติ: ในระดับนี้ไม่ต้องทำการกักตัว และไม่จำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาโรค แต่ก็ยังต้องใส่หน้ากากอนามัยให้มิดชิดเวลาไปข้างนอกเหมือนปกติ เพื่อป้องกันตนเอง

161788521920

  • วิธีการกักตัวในบ้านให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

- ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและมีความเสี่ยงต่ำควรกักตนเองอยู่ในห้องที่แยกออกจากผู้อื่นโดยเฉพาะ และไม่ใช้พื้นที่ส่วนรวมร่วมกับผู้อื่น เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ ห้องครัว 

- หากไม่สามารถเลี่ยงในการใช้พื้นที่ส่วนรวมได้ ผู้มีความเสี่ยงต้องสวมหน้ากากอย่างมิดชิดตลอดเวลาและรักษาระยะห่างจากคนในครอบครัวอย่างน้อยที่สุด 1 เมตร (และคนในบ้านคนอื่นๆ ต้องสวมใส่หน้ากากด้วยเช่นกัน)

- เลี่ยงการสัมผัสสิ่งของต่างๆ ร่วมกับผู้อื่น รวมถึงการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นด้วย

- หมั่นใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีสารคลอรีนเป็นส่วนประกอบในการทำความสะอาดสิ่งของ เครื่องใช้ ห้องต่างๆ รวมถึงห้องน้ำเป็นประจำทุกวันอย่างเคร่งครัด

- ในการทำความสะอาดสิ่งต่างๆ ควรล้างมือทั้งก่อนและหลัง และต้องสวมถุงมือทุกครั้งในการทำความสะอาดด้วย รวมถึงไม่ใช้ถุงมือซ้ำ ให้ทิ้งลงถังขยะปิดให้มิดชิดและระบุว่าเป็นขยะติดเชื้อโดยเฉพาะเพื่อความระมัดระวังของคนเก็บขยะ

- หากมีความจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่น ควรปิดฝาชักโครกก่อนกดชำระน้ำทุกครั้ง

- หากต้องการไอหรือจาม ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือหาอะไรปิดปากให้มิดชิด และล้างมือทุกครั้งหลังไอจาม

  • เมื่อไหร่ที่รู้ได้ว่าสามารถ “เลิกทำการกักตัว” ได้

- หากไม่มีอาการไอ จาม น้ำมูก ไข้ขึ้น เจ็บคอ หายใจติดขัด หลังจากกักตัวครบเป็นเวลา 14 วัน ก็สามารถออกมาใช้พื้นที่ส่วนรวมในบ้านได้อย่างปกติกับผู้อื่น และยังคงต้องสวมหน้ากากทุกครั้งเวลาออกไปข้างนอก รวมถึงไม่ออกไปยังพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้ออีก

- สำหรับคนที่ประกอบอาชีพที่เสี่ยงต่อการพบเจอผู้ที่มีความเสี่ยงในการใกล้ชิดเชื้อโควิด-19 อย่าง บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรที่ทำงานในสนามบิน พนักงานขับรถโดยสารประจำทาง เมื่อกลับบ้านควรแยกตัวเองและรักษาระยะห่างจากคนในครอบครัวเพื่อความปลอดภัยของทุกคน

อ้างอิง: กรมควบคุมโรค, สสส.