ชีวิต 'หนี้' ชาวไทย รายได้น้อยผ่อนหนัก สัญญาณ 'เศรษฐกิจไทย' เปราะบาง

ชีวิต 'หนี้' ชาวไทย รายได้น้อยผ่อนหนัก สัญญาณ 'เศรษฐกิจไทย' เปราะบาง

สัญญาณเปราะบางเศรษฐกิจไทย "หนี้ครัวเรือน" ปี 2563 ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปี ทะลุ 14 ล้านล้านบาท คาดปี 2564 หนี้ครัวเรือนขยับสูงขึ้น 89.0-91.0% ต่อ GDP ทั้งพบพฤติกรรมกลุ่มรายได้น้อยผ่อนหนัก เงินออมแทบไม่เหลือ

สัญญาณอ่อนแอของ "เศรษฐกิจไทย" ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ฐานะทางการเงินของหลายคนตึงตัวมากขึ้น สะท้อนจากการวิเคราะห์ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จากฐานข้อมูลผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติในปี 2562 เทียบกับผลสำรวจในปี 2560 พบว่า ภาพรวมครัวเรือนไทยทั้งประเทศมี "รายได้" เฉลี่ยต่อเดือนลดลงเร็วกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน แต่ภาระ "หนี้" ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันส่งผลระดับ "การออม" ของครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยมีสถานะที่อ่อนแอลง

ทั้งนี้หากแบ่งลูกหนี้รายย่อยออกเป็นกลุ่มๆ ตามระดับรายได้ต่อเดือน โดยไล่เรียงจากกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาท ไปจนถึงกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่า 500,000 บาท โดยข้อมูลที่ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความไม่สมดุลระหว่างระดับรายได้ ภาระหนี้ และเงินออม ซึ่งมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้น้อย

161822025761

ซึ่งภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR (Debt Service Ratio) โดยเฉลี่ยของลูกหนี้ทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 27% แต่ลูกหนี้ในกลุ่มรายได้น้อยหรือมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน กลับมีภาวะหนี้ต่อรายได้ (DSR) อยู่ในระดับสูง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ของทั้งประเทศหลายเท่า

ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้ในกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 5,001-10,000 บาทต่อเดือน มีภาวะหนี้ต่อรายได้ประมาณ 40% และมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้เพียง 14%

ซึ่งหมายถึง รายได้ทุกๆ 100 บาทที่หามาได้ ต้องนำไปผ่อนชำระหนี้ 40 บาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ แล้วเหลือเก็บเป็นเงินออมเพียง 14 บาท

161822930442

ลูกหนี้ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน มีภาวะหนี้ต่อรายได้ (DSR) ที่สูงถึง 84% ซึ่งหมายถึงรายได้ทุกๆ 100 บาทที่หามาได้ ต้องผ่อนคืนหนี้สูงถึง 84 บาท ซึ่งทำให้ลูกหนี้ในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะแก้ปัญหารายจ่ายเฉพาะหน้าในแต่ละวันด้วยการก่อหนี้ก้อนใหม่ไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะตกอยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว

ขณะที่ ลูกหนี้ที่มีรายได้ปานกลาง ช่วงระหว่าง 20,001-50,000 บาทต่อเดือน มีความรุนแรงลดลง เพราะภาระหนี้ต่อรายได้ และเงินออมต่อรายได้มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน แต่คงต้องยอมรับว่า ลูกหนี้ในกลุ่มนี้จะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาวินัยทางการเงินให้เคร่งครัดมากขึ้น เพราะสถานะทางการเงินอาจจะเริ่มทยอยตึงตัวมากขึ้น หากทำการก่อหนี้ก้อนใหม่

สำหรับปี 2563 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยและประชาชนคนไทยต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2019 ที่ขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัด และมีการแพร่ระบาดหลายระลอก ตั้งแต่คลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี บ่อนพนันภาคตะวันออก สมุทรสาคร จนล่าสุดคลัสเตอร์ผับ บาร์ และเลานจ์ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้รัฐต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและเฝ้าระวัง และส่งผลต่อภาคประชาชน ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจเป็นโดมิโน 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกมาเปิดเผยถึงระดับ "หนี้ครัวเรือน" ที่ปิดสิ้นปี 2563 หนี้ครัวเรือนของไทยทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปี ทะลุ 14 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% เมื่อเทียบกับจีดีพีปี 2563

ซึ่งจากการสำรวจพบว่าภาระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือนในช่วงต้นปี 2564 ของผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจอยู่ที่ 44.1% และผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้ 43.8% ซึ่งภาระหนี้ของผู้กู้ทั้ง 2 กลุ่มอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ของผู้ตอบแบบสอบถามในผลสำรวจ ซึ่งอยู่ที่ 42.8% ขณะที่ระดับการออมของครัวเรือนทุกกลุ่มลดต่ำลงจากผลกระทบของโควิด-19 ด้วย

ขณะเดียวกันยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียง 3.9% เป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี แสดงให้เห็นว่าทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ต่างเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในช่วงโควิด-19 

สำหรับแนวโน้มในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีโอกาสเติบโตขึ้นสูงกว่าปี 2563 โดยน่าจะขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 89.0-91.0% ต่อจีดีพี เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้น