สุขแค่ไหน ในปีโควิด?

ท่ามกลางความร้ายแรงของโควิด-19 มนุษย์มีความสุขหรือความทุกข์ มากขึ้น หรือน้อยลง เพียงใด? แล้วระหว่างคนหนุ่มสาวกับคนสูงวัย โควิดทำให้ใครสุข หรือทุกข์ มากกว่ากัน

[บทความนี้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 คอลัมน์ ศุกร์ เว้น ศุกร์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ]

ปี 2020 โลกเปลี่ยนไปแบบไม่มีใครคาดคิด คนทุกชาติถูกรุกรานโดยศัตรูที่มองไม่เห็นความตื่นตระหนกกระจายไปทั่ว

ถ้าหากมี ปรอทวัด ก็คงจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าท่ามกลางความร้ายแรงของโควิด มนุษย์มีความสุขหรือความทุกข์ มากขึ้น หรือน้อยลง เพียงใด

บัดนี้ มีปรอทที่ใช้วัด และค่าวัดก็ออกมาแล้วครับ คุณลองติดตามดูว่า มันตรงกับความรู้สึกของคุณหรือไม่

ค่าที่วัดได้จากปรอทนี้ ถูกนำมาเผยแพร่ ในโอกาส วันความสุขโลก (World Happiness Day) เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยนักวิจัยที่ทำงานให้กับ UN ได้เก็บข้อมูลจากประชากร 95 ประเทศทั่วโลก จนได้คำตอบว่า โควิด มีผลต่อความสุขในชีวิต มากหรือน้อยเพียงใด

วิธีการก็ไม่ยาก นักวิจัยได้ตั้งคำถามที่สะท้อนถึงความรู้สึกของกลุ่มตัวอย่าง ในเรื่องที่เกี่ยวกับ ความสุข ความทุกข์ เช่น คุณมีความพึงพอใจในชีวิตของคุณวันนี้เพียงใด?” และขอให้ตอบจาก 0 ถึง 10 โดย 0 หมายถึงไม่มีความพึงพอใจเลย และ 10 หมายถึงพอใจที่สุด

คำตอบ จาก 95 ประเทศ เมื่อปี 2017-2019 ซึ่งเป็นปี ก่อนที่โควิดจะมาเยือน ได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 5.81 ผมอยากให้คุณลองทายดูสิครับว่าปีโควิด 2020 ซึ่งโควิดอาละวาดเต็มๆ นั้น ค่านี้จะเป็นเช่นใด คุณน่าจะทายว่า อย่างเก่งก็ 5.5 หรืออาจจะ ไม่ถึง 5 ด้วยซ้ำไป ใช่ไหมครับ

ขอโทษที คุณทายผิดเสียแล้ว คำตอบที่นักวิจัยได้มาคือ 5.85 ครับใช่แล้วครับ มันไม่น่าจะเป็นไปได้แต่เมื่องานวิจัยได้ผลออกมาเช่นนี้เราก็ต้องรับฟังไว้ก่อนแม้ค่าวัดของบางประเทศลดลง บางประเทศเพิ่มขึ้น แต่ค่าเฉลี่ย เพิ่มขึ้นเล็กน้อยครับ

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ระหว่างคนหนุ่มสาว กับคนสูงวัย โควิดทำให้ใครสุข หรือทุกข์ มากกว่ากัน

ที่เรารู้แน่ๆ ก็คือคนสูงวัยนั้นมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดสูงกว่าคนหนุ่มสาว และถ้าติดเชื้อแล้ว ก็มีโอกาสตายสูงกว่า เพราะอายุที่สูงขึ้นทุก 8 ปี ถ้าหากติดโควิด จะมีอัตราตายที่เพิ่มขึ้น เท่าตัว 

ดังนั้น ในปี 2020 ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด ความสุขของคนสูงวัย ก็ย่อมจะต้องลดลงอย่างมาก 

ถ้าคุณตอบแบบนี้ ก็ผิดอีกแล้วครับ เพราะในปี 2020 หนุ่มสาวกลับมีทุกข์ สูงวัย นั่นแหละสุข” เพราะว่าค่าความสุขของประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป ในปี 2020 ได้เพิ่มขึ้นอีก 0.22 จุดเมื่อเทียบกับค่าเดียวกันในปี 2017-2019

นอกจากนั้น เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ชายวัย 60 ปีขึ้นไปจำนวน 46% ตอบว่าฉันมีปัญหาสุขภาพ” แต่ในปี 2020 ตัวเลขนี้ได้ลดลงเหลือ 36% ในขณะที่คำตอบของฝ่ายหญิงที่อยู่ในวัยเดียวกันก็ลดลงจาก 51% เหลือ 42% ในช่วงเวลาเดียวกันก็แสดงว่า สว. ที่มี สุขภาพดี นั้นมีสัดส่วนสูงขึ้นอีกด้วย

แต่ประเด็นนี้นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้มีสุขภาพ ที่ดีขึ้นจริงๆ เพียงแต่พวกเขาคงรู้สึกดี เพราะในวัยเสี่ยงขนาดนี้ ยังสามารถอยู่รอดปลอดภัยจากโควิดได้ ก็เลยให้คำตอบเช่นนั้น 

คราวนี้มาดูคนหนุ่มสาว ที่ไม่ติดโควิดง่ายๆ เหมือน สว.และถึงแม้ติด ก็ไม่ตายง่ายๆ อีกด้วย แล้วทำไมล่ะ...ระดับความสุขจึงเหือดหายไปเช่นนั้น

ตอบได้ง่ายๆ ก็คือ ปี 2020 เป็นปีที่โหดร้ายมาก สำหรับคนหนุ่มสาว เรื่องแรก คือ โควิดทำให้พวกเขา ตกงานกันมากมาย และประเทศที่พัฒนาแล้ว หลายประเทศ ก็มีคนทำงานในธุรกิจท่องเที่ยวจำนวนมากอัตราการตกงานก็มากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ในช่วงล็อกดาวน์ ช่วงโรงเรียนปิด พวกเขาก็ยังต้องรับ ภาระหนักหนา กับการดูแลลูกๆ ที่ต้องเรียนหนังสือออนไลน์อยู่ที่บ้านอีกด้วย

ในขณะที่โซเชียลมีเดีย ทำให้ สว.​ ใช้เวลาว่างหาความสุขทางออนไลน์ได้มากขึ้น รวมทั้งลูกหลานที่ต้องwork from homeหรือlearn from homeก็ทำให้ สว.​ได้อยู่ใกล้ลูกหลานและมีความสุขเพิ่มขึ้น

แต่คนหนุ่มสาว ซึ่งโดยปกติมักจะมีเพื่อนมีสังคม และมีงานปาร์ตี้สังสรรค์ พอล็อกดาวน์ โอกาสที่จะสนุกคลายเครียดแบบนั้นก็หายไปด้วย ยิ่งคนที่ชอบออกงานชอบออกสังคมก็ยิ่งทุกข์มากขึ้น

พอเข้าใจแล้วใช่ไหมครับว่าทำไมคนหนุ่มสาวจึงทุกข์แต่ สว.​กลับสุขเพิ่มขึ้น ที่ผมเอาเรื่องนี้มาเล่าก็เพราะเห็นว่าเป็นงานวิจัยใหม่เอี่ยมและสรุปผลได้น่าสนใจว่า สว. มีความสุข มากกว่าคนหนุ่มสาว ในปีที่ผ่านมา

แต่ถ้าหากมองใน ระดับประเทศ และวัด ความสุขโดยรวม ของคนทุกเพศวัย ซึ่งวัดโดย 6 ปัจจัยด้วยกันก็พบว่าประเทศไทย ในปี 2020 มีความสุขอยู่ที่อันดับ 46 คือตกลงมาจาก อันดับ 32 เมื่อปี 2019 ก็ถือว่าตกหนักเหมือนกันนะครับ

แล้วเพื่อนบ้านของเราเขาเป็นอย่างไรกันบ้างเป็นอย่างนี้ครับ ไต้หวัน อันดับที่ 26 สิงคโปร์ 34 มาเลเซีย 35 กลุ่มนี้ ดีกว่าไทย ส่วนที่ ด้อยกว่าเรา ก็คือ ญี่ปุ่น 54 เกาหลี 57 ฟิลิปปินส์ 71 และจีน 86 ครับ 

อันดับที่ 46 ก็ถือว่า เรายังมีความสุขพอสมควรนะครับ เพียงแต่อย่าทะเลาะกันมากนักเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้ในทางการเมือง ควรหันหน้ามาพูดคุยกัน เพราะถ้าไปสร้างอุณหภูมิ ให้มันร้อนแรงยิ่งขึ้นเท่าใด ความสุขก็จะลดลงกลายเป็นทุกข์มากยิ่งขึ้น

ไม่เชื่อ ดูที่เมียนมา สิครับ