หุ้น'อาลีบาบา'พุ่งสะท้อนนลท.เชื่อมั่น

หุ้น'อาลีบาบา'พุ่งสะท้อนนลท.เชื่อมั่น

ราคาหุ้นอาลีบาบาทะยาน 9% ในการซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อวันจันทร์(12เม.ย.)หลังจากบริษัทถูกทางการจีนสั่งปรับเงิน 1.8 หมื่นล้านหยวน (2.75 พันล้านดอลลาร์) หรือราว 4% ของรายได้ของบริษัทในปี 2562 ฐานละเมิดกฎระเบียบในการต่อต้านการผูกขาดตลาด

ค่าปรับที่อาลีบาบาจ่ายให้รัฐบาลครั้งนี้ เท่ากับ 4 %ของรายได้ทั้งหมดของอาลีบาบาในปี 2562 หรือเท่ากับ 455,710 ล้านหยวน ถือเป็นค่าปรับที่สูงกว่าสองเท่าของค่าปรับจำนวน 975 ล้านดอลลาร์ที่ควอลคอมม์ จ่ายในความผิดเดียวกันเมื่อปี 2558

การผูกขาดตลาดของอาลีบาบา ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทเริ่มมีนโยบายบังคับให้ร้านค้าชื่อดังต้องเลือกว่าจะวางขายบนแพลตฟอร์มของบริษัทแบบ Exclusive Store เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น ห้ามวางขายบนแพลตฟอร์มอื่น โดยแลกกับการได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ อาทิ ได้โปรโมชั่นตามเทศกาล ได้ต้นทุนการขนส่งที่ถูกเป็นพิเศษ และรวมไปถึงแพ็คเกจประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดียที่เป็นของบริษัทแบบครบวงจร

ในความเป็นจริงแล้วคู่แข่งหลักของอาลีบาบาอย่างเทนเซนต์ กรุ๊ป ก็ทำแบบเดียวกันซึ่งส่งผลโดยตรงให้ผู้ประกอบการรายย่อย หรือแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ที่ไม่มีอำนาจต่อรองมากพอไม่สามารถเพิ่มช่องทางการสื่อสารหรือค้าขายกับลูกค้าได้อย่างอิสระ

อย่างไรก็ตาม “แดเนียล จาง”ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร( ซีอีโอ)ของอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการถูกปรับครั้งนี้ และบริษัทพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล ด้วยการปฏิรูปนโยบายการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มความเป็นเสรีทางการค้าบนแพลตฟอร์มของบริษัท

รวมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงแพลตฟอร์มของบริษัท และลดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจให้แก่ผู้ค้าบนแพลตฟอร์มอาลีบาบา

แม้จะถูกสั่งปรับเป็นจำนวนเงินมหาศาล แต่อาลีบาบายังคงมั่นใจว่ารัฐบาลจะสนับสนุนทางบริษัทต่อไป โดย“โจ ไช่” รองประธานบริหารของอาลีบาบา แสดงความมั่นใจว่าโมเดลธุรกิจของบริษัทไม่มีอะไรผิดพลาด

ส่วน“แม็กกี้ อู๋”ประธานคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน(ซีเอฟโอ) อาลีบาบา บอกว่า บริษัทสำรองเงินหลายพันล้านหยวนเพื่อสนับสนุนมาตรการลดต้นทุนและฝึกอบรมบรรดาผู้ค้าบนแพลตฟอร์มอาลีบาบา

สื่อตะวันตกอย่างสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานก่อนหน้านี้ว่า การก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาของอาลีบาบาเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลปักกิ่ง ทั้งการปกป้องและการเอาอกเอาใจภาคธุรกิจอินเทอร์เน็ตที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้หลายปีที่ผ่านมาทั้งไป่ตู้ อาลีบาบา และเท็นเซนต์ ล้วนถูกมองว่าเป็นตัวอย่างนวัตกรรมและความทันสมัยของจีน

ขณะที่การผ่อนผันจากรัฐบาลในช่วงที่บริษัทกำลังฟูมฟักตัวเอง ทำให้อาลีบาบาผงาดขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ในเวลาต่อมา โดยรัฐบาลจีนเป็นผู้เปิดไฟเขียวและสนับสนุนให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจขึ้น

แต่ในปัจจุบัน ทั้งอาลีบาบา และเทนเซนต์ โฮลดิ้งส์ ต่างก็เผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลจีนที่มองว่าบริษัททั้งสองดำเนินธุรกิจที่ผูกขาดผู้ใช้บริการหลายร้อยล้านคน และมีอิทธิพลแทบทุกด้านในชีวิตประจำวันของผู้คน

เพียงแต่ว่า อาลีบาบาเจอแรงกดดันหนักกว่า เพราะทั้งถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดและถูกตรวจสอบจากรัฐบาลปักกิ่งหลายด้าน หลังจากหม่า เข้าร่วมงานเสวนาทางธุรกิจ ที่นครเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ปีที่แล้ว และวิจารณ์การทำงานของหน่วยงานรัฐอย่างรุนแรง อีกไม่กี่วันต่อมา แอนท์ กรุ๊ป บริษัทฟินเทคใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นเจ้าของอาลีเพย์ ก็ตัดสินใจยกเลิกแผนระดมทุนทำไอพีโอในนาทีสุดท้าย ท่ามกลางกระแสข่าวว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเป็นคนออกคำสั่งห้าม

ด้าน“เอ้อหนาน ฉุ่ย” นักวิเคราะห์ผู้บริโภคจีนจากกาวีคัล ดราโกโนมิก ให้ความเห็นว่า การปรับเงินครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับอาลีบาบา แต่การตัดสินใจสั่งปรับเงินอาลีบาบาอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจในอนาคต โดยคณะผู้คุมกฏแสดงออกอย่างชัดเจนว่าจะไม่อดทนกับกฏบางกฏที่ซุกซ่อนอยู่ในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะทำให้บริษัทอย่างอาลีบาบาสร้างการเติบโตแก่ธุรกิจเป็นตัวเลขสองหลักได้ยากขึ้น