ออมสินตั้งเป้ายืนหนึ่งปล่อยสินเชื่อ”โมบายเลนดิ้ง”

ออมสินตั้งเป้ายืนหนึ่งปล่อยสินเชื่อ”โมบายเลนดิ้ง”

“วิทัย”ตั้งเป้าหมายให้ธนาคารออมสินสามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่รายย่อยที่ไม่มีประวัติทางการเงินบนมือถือหรือที่เรียกว่า”โมบายเลนดิ้ง”โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเข้ามาสนับสนุนกรณีเกิดปัญหาหนี้เสีย โดยจะทำให้เกิดผลรูปธรรมในปีนี้

ในยุคดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งกระแสการระบาดโควิด-19 การขอและอนุมัติสินเชื่อผ่านระบบมือถือสมาร์ทโฟน หรือที่เรียกว่า "โมบาย เลนดิ้ง” จึงเป็นแนวทางที่ผู้ให้บริการสินเชื่อทั้งแบงก์พาณิชย์และนอนแบงก์ต่างๆ หันมาพัฒนาระบบเพื่อรองรับการให้บริการดังกล่าวที่มีการเติบโตระดับสูง

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์เอกชนไทยบางแห่งได้พยายามเข้ามาให้บริการปล่อยสินเชื่อผ่านระบบดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการเฉพาะลูกค้าที่มีประวัติทางการเงินที่สามารถตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ ได้เท่านั้น แต่สำหรับ "ลูกค้ารายย่อย" โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่มีประวัติในระบบการเงินไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนผ่านช่องทางดังกล่าวได้

วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในปีนี้จะเป็นปีที่ธนาคารออมสินให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการให้บริการสินเชื่อผ่าน โมบาย เลนดิ้ง ที่จะต้องทำให้เกิดความเป็นรูปธรรมต่อการให้บริการสินเชื่อแก่กลุ่มประชาชนรายย่อยที่ไม่มีประวัติในการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ

แม้ยอมรับว่าการให้บริการสินเชื่อบน โมบาย เลนดิ้ง ให้แก่กลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีประวัติทางการเงินนั้น ถือเป็นความเสี่ยงและเป็นความท้าทายในแง่การดำเนินธุรกิจอย่างมาก แต่เป็นนโยบายที่จะต้องทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้ได้ เนื่องจากมีเป้าหมายที่จะทำให้ออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคมหรือโซเชียลแบงก์อย่างแท้จริง

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราต้องเร่งพัฒนาโมบาย เลนดิ้ง คือ การระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นรอบนี้ทำให้คนหันมาใช้สมาร์ทโฟนกันมากขึ้น ขณะที่ เราต้อง Due ผ่าน Public ที่มีคนใช้บริการไม่ใช่แค่หมื่นคนแต่จะเป็นนับล้านคน ฉะนั้น ต่อไปการให้บริการผ่านสาขาทำได้ไม่ดีแล้ว รวมถึงเป้าหมายความเป็นโซเชียลแบงก์ของเรา ทั้งสองเรื่องนี้ทำให้ต้องวางตำแหน่งอยู่บนดิจิทัล เลนดิ้งให้ได้”

โดยความมั่นใจที่ทำให้ธนาคารออมสินเดินหน้าปล่อยสินเชื่อบนโมบาย เลนดิ้ง เกิดจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารให้บริการสินเชื่อตัวหนึ่งที่เรียกว่า สินเชื่อเสริมพลังฐานราก ซึ่งสินเชื่อนี้ทำผ่านโมบาย เลนดิ้ง ซึ่งมีผลตอบรับสูงมากเพียงแค่ 11 วันเท่านั้น และสามารถปล่อยสินเชื่อได้ถึง 4.5 แสนราย วงเงินเฉลี่ยต่อรายตั้งแต่ 1-5 หมื่นบาท

“เรา Test สินเชื่อนี้บนโมบาย เลนดิ้งเพียงครึ่งเฟสที่รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนกรณีที่เกิดหนี้เสีย ปรากฎ Impact สูงมาก ฉะนั้น ลูกค้าฐานรากสามารถใช้โมบายแบงก์กิ้งได้ เพราะเกิดข้อถกเถียงกันมากว่า ตกลงฐานรากไปโมบายเลนดิ้งได้หรือเปล่า ฉะนั้น ก็ไปได้แน่นอนตอนนี้ยังไม่มีแบงก์ไหนทำได้และที่ทำได้ก็ไม่เต็มสูบ และมี Impact สูงขนาดนี้ แต่ผมยังทำไม่เสร็จนะที่ทำได้เพราะรัฐอุดหนุนแต่ปลายปีจะทำให้เสร็จ”

***เล็งจับมือธุรกิจพัฒนาฐานข้อมูล

เขากล่าวว่า เรื่องฐานข้อมูลที่จะใช้ในการพิจารณาสินเชื่อนั้น เป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อจะให้บริการสินเชื่อบนโมบาย เลนดิ้ง ในฐานลูกค้าที่ไม่มีประวัติการเงิน จึงจำเป็นต้องใช้ฐานข้อมูลที่ช่วยวิเคราะห์ปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะเชิงพฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน ซึ่งต้องประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่สะท้อนพฤติกรรมใช้จ่ายเงิน เช่น น้ำ ไฟฟ้า มือถือ เป็นต้น

เวลาขอสินเชื่อปกตินั้น แบงก์ก็ต้องวิเคราะห์รายได้ เรียกว่า A score จากนั้น เราวิเคราะห์พฤติกรรมการชำระหนี้ในอดีต ไม่ใช่พฤติกรรมการซื้อของนะเรียกว่า B score บางทีก็ใช้ Bureau score ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ B score และพฤติกรรมการชำระคืนหนี้ เรียกว่า C score แต่หลักๆ จะใช้ A กับ B โดยหลักการแล้ว เวลาขอสินเชื่อบนโมบายนั้น การใช้ A score ทำไม่ได้ เพราะปกติต้องใช้ Factor ประเมิน 40-50 ตัวในการคีย์ข้อมูลเข้ามา ที่ไม่สามารถทำบนมือถือได้

ฉะนั้น เวลาทำโมบาย เลนดิ้ง ต้องใช้ B score ไปจับกับตัวอื่น เช่น พฤติกรรมการซื้อสินค้าบนออนไลน์ หรือ การใช้มือถือของค่ายต่างๆ การจ่ายค่าน้ำค่าไฟ แต่ถามว่า พวกนี้ พฤติกรรมการซื้อของบนไลน์จะวิเคราะห์ได้ว่า เขามีรายได้พอหรือเปล่า มันดูไม่ออก ฉะนั้น จึงต้องมีความชำนาญในการพัฒนา มันอาจจะใช้500Factor เข้ามา เพื่อออก Score การได้มาด้วย Factor ดังกล่าว แบงก์ไม่มี ฉะนั้น ต้องมีวิธีการเก็บและพาร์ทเนอร์กับใคร ต้องจับมือกับคนที่มีเดต้าและโมเดลมารวมกัน

อย่างไรก็ดี แม้จะใช้ข้อมูลเชิงพฤติกรรมต่างๆ มาวิเคราะห์ปล่อยสินเชื่อ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อปล่อยสินเชื่อได้แต่กว่าจะรู้ข้อมูลที่วิเคราะห์ถูกหรือผิดเมื่อไหร่นั้น ใช้เวลานาน ปีแรกก็ยังไม่รู้ เพราะการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ต่อมาปีที่สองพอรู้ว่า ผิด ถึงจะมาปรับปรุงฐานข้อมูล ฉะนั้น ถึงได้ใช้เวลา เพิ่มน้ำหนัก ลดปัจจัยต่างๆ เพราะปีแรกไม่ค่อยเสีย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโมเดลเราจะถูกนะ

“ฉะนั้น เวลาบอกว่า จะทำแล้ว กดปุ่มทำได้เลย มันไม่ได้ ถึงต้องใช้เวลา แต่ต้องรีบทำ ถามว่า ออมสินทำอะไรไว้ไหม ตอบได้เลยว่า Zero ไม่มีตั้งแต่ฐานข้อมูล ซึ่งการปล่อยสินเชื่อบนมือถือนั้น จะต้องพิสูจน์ตัวตนบนมือถือผ่านแอพลิเคลั่น MyMo ของเรา ชีวิตจริงทุกแบงก์ก็ยังให้ลูกค้าเข้าไปสาขาเพื่อโหลด แต่ครั้งนี้ คนที่มีโมบายเรา กดขอสินเชื่อเย็นนี้ พรุ่งนี้ เงินเข้าเลย ไม่เคยมีใครทำได้ไซต์ขนาดนี้ แบงก์พาณิชย์ที่ทำอย่างมากก็100-200 ล้านบาท”

ทั้งนี้ สิ่งที่ออมสินจะทำนั้น จะต้องทำในลักษณะที่ไม่ให้รัฐบาลเข้ามาอุดหนุนกรณีเกิดหนี้เสีย ฉะนั้น ข้อมูลในเชิงพฤติกรรมจะต้องมาช่วยประเมินเรื่องนี้ต้องทำต่อ ใครบอกทำเสร็จยุคไหนไม่จริง เราต้องทำโมบาย เลนดิ้งให้เต็มเฟสให้ได้ มีการวิเคราะห์ผ่านมือถือ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องอุดหนุน แต่ต้องวิเคราะห์ Alternative Data และพยายามทำให้เสร็จในสิ้นปีจะให้บริการได้เหมือนอาลีบาบา

ทั้งนี้ การที่เราเป็นโซเชียลแบงก์ต้องทำแบบดูออลแทรกซ์ คือ ธุรกิจปกติผมก็ทำ โดยเอากำไรจากธุรกิจปกติมาหนุนธุรกิจเพื่อสังคม และ อันไหนที่เหนือบ่ากว่าแรง รัฐบาลก็เข้ามาสนับสนุน