“แก้รัฐธรรมนูญ” รอบสอง สัญญาณแตกหักขั้วการเมือง

“แก้รัฐธรรมนูญ” รอบสอง สัญญาณแตกหักขั้วการเมือง

เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาช่วงเปิดสมัยประชุม ในเดือนพฤษภาคม เชื่อว่าจะเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบถึงสัมพันธภาพของพรรคการเมืองขั้วต่างๆ เพราะทุกพรรคต้องสู้กันให้เต็มที่ เพื่อให้ได้กติกาการเมืองที่เหมาะกับกลุ่มตนเอง

        นับจากนี้ อีกประมาณเดือนเศษ สภาหินอ่อน ได้ฤกษ์  เปิดฟลอร์ อีกครั้ง

        วาระร้อนที่ต้องจับตาให้ดี คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

        ที่ขณะนี้มีความชัดเจนว่า จะมี 3 กลุ่มที่เสนอญัตติขอให้ “รัฐสภา” พิจารณาแก้ไข

        กลุ่มแรก คือ พรรคพลังประชารัฐ ที่ถือฤกษ์ 7 เมษายน ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบบรายมาตรา รวม 13 มาตรา ใน 5 ประเด็น ต่อ “ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา” แล้ว

161844183268

        กลุ่มสอง คือ "3 พรรคร่วมรัฐบาล" ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย และ พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งกลุ่มนี้มีบุคคลที่เป็นตัวตั้งตัวตี คือ “ชินวรณ์​ บุณยเกียรติ - ศุภชัย ใจสมุทร - นิกร จำนง”

        ซึ่งทั้ง3 คนนั้น ผ่านการทำงานร่วมกันในฐานะ “กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมาธิการ”

        ที่ขณะนี้ "แนวทางแก้รัฐธรรมนูญ” จะชัดเจน คือ แก้รายมาตรา

       

161844274033

        แต่ยังมีประเด็นที่ต้องหารือร่วมกัน เพื่อให้ตกผลึก เพราะการรวมตัวเฉพาะกิจของ 3 พรรค ยังมีประเด็นที่ต้องการแก้ไข แตกต่างกัน

        โดย “ประชาธิปัตย์" ทำเนื้อหาไว้ 6 ร่าง ได้แก่

        1. แก้ไขประเด็นสิทธิของประชาชน 4 มาตรา ว่าด้วยสิทธิชุมชน, สิทธิในที่ดินทำกิจ, สิทธิต่อกระบวนาการยุติธรรมและสิทธิผู้บริโภค 

        2.ประเด็นระบบเลือกตั้ง โดยแก้ไขให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้ง เหมือนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่มีส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน  

        3. การเลือกนายกรัฐมนตรี ที่คงหลักการ แจ้ง ชื่อนายกรัฐมนตรี ที่พรรคสนับสนุนไว้ และเพิ่มเติม คือ “นายกรัฐมนตรี” ต้องเป้น ส.ส. พร้อมตัดอำนาจ “ส.ว.” ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี 

        4. แก้ไขมาตรา 256 ตัดเสียงของส.ว. และใช้เสียงเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยเสียง 3 ใน 5 ซึ่งเป็นหลักการที่ รัฐสภา เห็นชอบแล้วในวาระสอง

        5. แก้ไขมาตราว่าด้วยการตรวจสอบ “กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)" มาตรา 236 และ มาตรา 237 ส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของประรัฐสภาที่ ต้องพิจารณาเรื่องร้องเรียน ว่ามีเหตุอันควรสงสัยตามคำร้องหรือไม่ ก่อนส่งไปยังศาลฏีกา เพื่อแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ 

        และ 6. การกระจายอำนาจ ที่วางหลักการคืนอำนาจให้ท้องถิ่น

161844276571

        ส่วน ชาติไทยพัฒนา มีประเด็นที่อยากแก้ไข คือ มาตรา 256, กระบวนการเลือกตั้ง, กระบวนการทำงานในรัฐสภา และ สิทธิเสรีภาพรวมถึงการกระจายอำนาจ

        ซึ่งทั้ง 3 พรรค นัดหมายหารือร่วมกันอีกครั้ง ก่อนสรุปเนื้อหาเพื่อยื่นให้ “ประธานรัฐสภา” ในวันที่สภาฯ เปิดสมัยประชุม 22 พฤษภาคม นี้

        และ กลุ่มสาม คือ "6พรรคร่วมฝ่ายค้าน" นำโดย “พรรคเพื่อไทย - ก้าวไกล” ที่ย้ำจุดยืนเดิม คือ “แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” และ พ่วงกับการแก้ไขรายมาตรา ที่เนื้อหานั้นยังไม่ชัดเจน เพราะ “ฝ่ายค้าน” ต้องการรับฟังความเห็นจากประชาชน

        ในประเด็นรอรับฟังความเห็นจากประชาชน นั้น แน่นอนว่าการเปิดรับผ่านเวที และ การลงพื้นที่เพื่อพบปะ ช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก ไม่สามารถทำได้

161844280999

        ดังนั้นในการเดินเกมของ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” เชื่อแน่ว่าจะรับและสอดประสานกับกลุ่ม “รีโซลูชั่น” ที่ คณะก้าวหน้าเป็นผู้นำร่วมกับ กลุ่มไอลอว์ เปิดกิจกรรม “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์”

        โดยเนื้อหาของหลักการที่จะเสนอแก้ไข เรื่องสำคัญ คือ ลดอำนาจของวุฒิสมาชิก ต่อบทบาทเป็น “กองหนุน เสริมคะแนน” ให้กับ “พรรคพลังประชารัฐ” ในรัฐสภา ยามต้องใช้เสียงข้างมาก สู้ในเกมสำคัญทางการเมือง และ อำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

        กับเนื้อหาของ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 สไตล์ แน่นอนว่า ฉบับของพรรคพลังประชารัฐ มีความได้เปรียบ เพราะมีกองหนุนเป็น 250 ส.ว. พ่วงกลไกของรัฐธรรมนูญ ที่วางให้ เสียงของส.ว. เป็นผู้กุมชะตาของ “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ว่าจะได้รับความเห็นชอบหรือไม่

        กับการแก้ไข รัฐธรรมนูญ รอบที่ 2 ของ สภาฯ ชุดที่ 25 ต้องจับตาให้ดี เพราะหลายฝ่ายเชื่อว่าสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือ การยุบสภาฯ และ เลือกตั้งใหม่

        ดังนั้นไม่มีความจำเป็นที่ นักการเมือง-พรรคการเมือง ต้องเกรงใจ ผู้มีอำนาจ - ผู้มีอิทธิพล ขั้วไหนอีกต่อไป.