ส่องคุณสมบัติ ‘Hospitel’ สำหรับผู้ป่วยโควิดแบบไหน ต่างจาก ‘โรงพยาบาลสนาม’ อย่างไร ?
รู้จัก "Hospitel" ที่คนไทยอาจต้องคุ้นชิน เมื่อตัวเลขระบาด "โควิด-19" ยังไม่หยุดง่ายๆ จำนวนเตียงในโรงพยาบาลอาจไม่พอ ขณะที่ตาม ก.ม. ห้ามผู้ป่วยโควิดกักตัวที่บ้าน การนอนโรงพยาบาลที่โรงแรม จึงเป็นทางเลือกสำหรับคนรักความสะดวกและเป็นส่วนตัว
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 ที่ล่าสุดวันที่ 15 เม.ย. พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,543 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศมากถึง 1,540 ราย กระจุกอยู่ใน กรุงเทพมหานคร และ เชียงใหม่ ที่มียอดติดเชื้อสูงหลักร้อยต่อเนื่องหลายวัน รวมถึง ชลบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ ที่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
จากจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง จึงอาจเกิดปัญหาสถานพยาบาลไม่เพียงพอรองรับ กระทั่งใน กทม. และ เชียงใหม่ ได้มีการเตรียม “โรงพยาบาลสนาม” ไว้รองรับผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก เพื่อลดความแออัดโดยไม่จำเป็นในสถานพยาบาล ที่ส่วนใหญ่จัดเตรียมพื้นที่คล้ายๆ เข้าค่าย เป็นโถงใหญ่หรือโรงยิม วางเตียงเรียงราย จนบางคนก็บ่นนอนไม่หลับ หรือไม่ได้รับความสะดวกสบาย
แม้อาจไม่สะดวกสบาย แต่ โรงพยาบาลสนาม ก็จัดตั้งขึ้นตามหลักสาธารณสุข มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ ให้มาอยู่ในพื้นที่ที่จัดไว้ให้ ซึ่งนอกจากจะเพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อในชุมชนแล้ว ยังจะเป็นการดีกว่า หากผู้ป่วยได้อยู่ใกล้ทีมแพทย์ เพราะแม้จะไม่มีอาการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สบายดี ซึ่งอาการทางระบบทางเดินหายใจอาจเกิดขึ้นเมื่อใดไม่มีทางรู้ ฉะนั้นใกล้หมอ ย่อมดีกว่า การกักตัวที่บ้านพัก
- Hospitel เป็นอย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งทางเลือก ที่เรียกว่า “Hospitel” เพิ่มเติม สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการความสะดวกสบาย เป็นส่วนตัวมากกว่าโรงพยาบาลสนาม โดยภาครัฐได้ด้วยการดึง “ผู้ประกอบการโรงแรม” หลายแห่งซึ่งช่วงนี้ยังไม่มีดีมานด์จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้ปรับเป็น “Hospitel” (ฮอสพิเทล) หรือ “หอผู้ป่วยติดโรคโควิด-19 เฉพาะกิจ”
คำว่า Hospitel นั้น มาจากการผสมระหว่างคำ 2 คำ คือคำว่า Hospital ที่แปลว่า โรงพยาบาล และคำว่า Hotel ที่แปลว่า โรงแรม มีจุดประสงค์เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่รุนแรง ด้วยการปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอาการ เนื่องจากผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทางโรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด
- แนวทางการปรับ "โรงแรม" เป็น "Hospitel"
หลักเกณฑ์ สำหรับการปรับใช้โรงแรม เป็นสถานพยาบาลชั่วคราว "Hospitel" มีหลักคร่าวๆ ดังนี้
- ต้องเป็นโรงแรมที่มีห้องพักมากกว่า 30 ห้องขึ้นไป
- เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 5-7 วัน และมีผลภาพถ่ายรังสีปอดคงที่
- ผู้ป่วยยินดีให้ความร่วมมือ สามารถสื่อสารได้รู้เรื่อง ดูแลตนเองได้ดี ไม่ก้าวร้าว และไม่มีความเสี่ยงทางจิตเวช
- ผู้ป่วยไม่มีไข้ กรณีมีโรคประจำตัว ต้องควบคุมอาการได้ดี
- ต้องจัดยาให้พร้อม สำหรับให้ผู้ป่วยรับประทานด้วยตัวเองจนครบตามแผนการรักษาของแพทย์
- โรงพยาบาลต้นทางต้องยินดีรับผู้ป่วยกลับเข้ารักษาที่โรงพยาบาล หากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง
จากการเปิดเผยโดย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ระหว่างการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 15 เม.ย. ได้กล่าวถึงการบริหารจัดการ ฮอสพิเทล (Hospitel) รองรับผู้ป่วยโควิด19 ว่า สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในการเตรียมเตียงในโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วย ว่า แม้จะยังมีเตียงเหลือ แต่ส่วนหนึ่งต้องเก็บไว้กรณีผู้ป่วยมีอาการค่อนข้างมาก จึงได้เตรียมการเพื่อลดความแออัดในสถานพยาบาล และให้รพ.ได้ดูแลผู้ป่วยอาการหนัก กรมฯ จึงได้ดำเนินการจัดตั้ง Hospitel โดยนำโรงแรมที่ขณะนี้ไม่มีผู้พักมาใช้เป็นสถานพยาบาลชั่วคราวในการดูแลผู้ป่วยโควิด19 ใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มไม่มีอาการ และกลุ่มผู้ป่วยที่รักษาใน รพ. 3-5 วัน แล้วอาการไม่แย่ลงก็ย้ายมาอยู่ที่ฮอสพิเทล
- มาตรฐาน Hospitel
นพ.ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรฐานสำหรับการเป็น “ฮอสพิเทล” ว่ายึดหลักการเดียวกับการทำ Alternative State Quarantine และนำมาปรับให้เป็น “สถานพยาบาลชั่วคราว” โดยยืนยันว่า มีมาตรฐานเดียวกับสถานพยาบาล ทั้งโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม ขยะ น้ำเสีย ความเป็นมิตรกับชุมชน รวมทั้งการจัดบริการทางการแพทย์
Hospitel จะรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรือรักษาในโรงพยาบาลหลักมา 3 - 5 วัน แล้วมีอาการดีขึ้น โดยทีมแพทย์จะดำเนินการตรวจและบันทึกอาการผู้ป่วยทุกวันผ่านเทเลเมดิซีนหรือไลน์กลุ่ม
ทุก Hospitel จะต้องมีแพทย์ 1 คนประจำ มีพยาบาลอัตราส่วน 20 เตียงต่อ 1 พยาบาล มีการตรวจคนไข้ผ่านเทเลเมดิซีน และแอพพลิเคชั่นไลน์ มีการเยี่ยมผู้ป่วยทุกวัน พร้อมทั้งมีเครื่องมือพื้นฐานต่างๆ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดระดับความเข้มข้นออกซิเจนในเลือด และเครื่องเอกซเรย์ เป็นต้น
ที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยทุกราย ต้องผ่านการตรวจคัดกรองจากโรงพยาบาลหลักก่อน ข้อกำหนดหลักๆ เช่น อายุไม่เกิน 50 ปี ไม่มีโรคประจำตัวอื่น ไม่ใช่เด็ก ไม่ตั้งครรภ์ ไม่มีเอกซเรย์ที่เปลี่ยนแปลง จึงจะสามารถย้ายเข้ามาได้ และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นก็จะย้ายไปยังโรงพยาบาลหลักได้ทันที
ปัจจุบันมี Hospitel ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 23 แห่ง จำนวน 4,900 เตียง ดูแลผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 2 พันเตียง โดย นพ.ธเรศ กล่าวว่า จากที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยใหม่ในพื้นที่อีกวันละ 400-500 ราย จึงได้ประสานจัดหาฮอสพิเทลเพิ่มเติม โดยจะเตรียมให้ได้ถึง 5,000-7,000 เตียง