'สุพัฒนพงษ์' รับจีดีพีปีนี้โตไม่ถึง 4% เข็นบริโภค เปิดประเทศฟื้นเศรษฐกิจ

'สุพัฒนพงษ์' รับจีดีพีปีนี้โตไม่ถึง 4% เข็นบริโภค เปิดประเทศฟื้นเศรษฐกิจ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยระลอกล่าสุดกระทบต่อแผนการบริหารงานแะเป้าหมายเศรษฐกิจของรัฐบาล

ในภาพรวมของเศรษฐกิจโลกแม้จะมีการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ทั่วโลก หากแต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีน และสหรัฐฯ ทำให้องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีมุมมองที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ถึง 6% สูงสุดตั้งแต่ปี 1967 อย่างไรก็ตามประเทศต่างๆอาจไม่ได้ประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกเหมือนกันหมดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ะละประเทศ

ซึ่งในส่วนของประเทศรัฐบาลได้ตั้งเป้าว่าต้องการให้เศรษฐกิจในปี 2564 ขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยในส่วนของประเทศไทยแม้จะได้ประโยชน์จากการส่งออกซึ่งการคาดการณ์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวประมาณ 5.8% อย่างไรก็ตามในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) ครั้งล่าสุด สศช.ในฐานะเลขานุการของ ศบศ.ได้ให้ข้อมูลว่าหากต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 4% ภาคการส่งออกต้องขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 8%

ขณะที่อีกภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและเป็นตัวบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ช้าหรือเร็ว หรือสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายหรือไม่ก็คือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งตามแผนที่ ศบศ.กำหนดไว้จะมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้ามาท่องเที่ยวได้ภายใต้ข้อกำหนด และผ่อนคลายอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.นี้ แต่ก็คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไม่มากนักในช่วงแรกของการเปิดประเทศ

จะเห็นได้ว่าจากข้อจำกัดและความไม่แน่นอนต่างๆที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยนั้นมีข้อจำกัดมากพอสมควรที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ถึง 4% และเมื่อเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดจากสถานบันเทิงใน กทม.และระบาดไปอย่างรวดเร็วจนมีการระบาดไปใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าวันละ 1,500 คนต่อวัน แน่นอนว่าย่อมกระทบกับแผนการขับเคลื่อน และเป้าหมายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

161857917931 ล่าสุดสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ยอมรับว่าเป้าหมายของเศรษฐกิจของรัฐบาลในปีนี้ซึ่งได้ตั้งเป้าในการทำงานไว้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4% นั้นอาจไม่สามารถทำได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่รัฐบาลก็ยังจะทำงานเต็มที่เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

โดยเครื่องยนต์ในเรื่องของเศรษฐกิจนอกจากเครื่องยนต์การส่งออกที่ยังไปได้ดี รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับเครื่องยนต์เศรษฐกิจในส่วนของการบริโภค โดยจะมีมาตรการที่ออกมากระตุ้นการบริโภคในประเทศโดยกำลังอยู่ระหว่างการคิดชุดมาตรการที่จะออกมาในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะมาตรการการจูงใจให้ผู้มีเงินออมนำเงินออกมาใช้จ่ายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ขณะที่อีกส่วนสำคัญที่รัฐบาลต้องพยายามเดินหน้าให้ได้ตามที่วางไว้คือแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 1 กค.นี้ ซึ่งในเรื่องนี้ถือเป็นการเดินหน้าเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ต้องควบคู่ไปกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โดยในเรื่องนี้ต้องประเมิณสถานการณ์รายวัน แต่แผนไม่ได้หยุด รวมทั้งการปฏิบัติการเชิงรุกดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งการดึงดูดชาวต่างชาติรัฐบาลยังมีแผนที่จะดึงชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อซึ่งอยู่ในวัยเกษียณอายุให้เข้ามาพำนักในประเทศไทยในระยะยาวซึ่งตั้งเป้าหมายไว้กว่า 1 ล้านคนภายในปีนี้

“การเปิดประเทศที่จะต้องทำ เพราะการระบาดโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลก และเท่าที่ทราบภาคธุรกิจกังวลเรื่องของความมั่นใจในการควบคุมทั้งสถิติผู้ติดเชื้อ และผู้หายจากการติดเชื้อซึ่งจะเป็นจุดตันสินใจของภาคธุรกิจว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ซึ่งจะทำงานอย่างเต็มที่ให้ถูกเวลา แต่ถ้าหากช้ากว่านี้ก็จะไม่เหมาะสม” 

คงต้องจับตาดูว่าเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้ รัฐบาลจะปรับแผนบริหารงานเศรษฐกิจอย่างไรเพื่อประคองเศรษฐกิจในปีนี้เพื่อหวังผลที่จะส่งแรงจขับเคลื่อนต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจปีหน้าที่ควรจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง