กรมการแพทย์ เผยขั้นตอนการทำงานสายด่วน 1668 ช่วยผู้ป่วย ‘โควิด-19’ หาเตียงรักษาตัว
กรมการแพทย์ เปิดเผยขั้นตอนการทำงานสายด่วน 1668 ช่วยผู้ป่วย "โควิด-19" หาเตียงรักษาตัว
เมื่อวันที่ 18 เม.ย.64 นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงนี้ พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งยังไม่ได้เข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล ทำให้อาจเกิดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนมากขึ้น หรือมีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อจะมีอาการเปลี่ยนแปลงไปเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่บ้านและได้รับกรรักษาไม่ทันท่วงที กระทรวงสาธารณสุขโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชน กรมการแพทย์จึงได้เปิดบริการสายด่วนเฉพาะกิจ 1668 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดในการหาเตียง ระหว่างเวลา 08.00 – 22.00 น. ทำงานร่วมกับสายด่วน 1669 ของกรุงเทพมหานคร และสายด่วน 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่รับสาย 24 ชั่วโมง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล
เป้าหมายที่สำคัญ คือ
- ให้คำแนะนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในการปฏิบัติตัว การดูแลตนเองและป้องกันการแพร่กระจายของโรคในขณะที่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล
- ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อให้ได้รับการประสานส่งต่อเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
- ติดตามประเมินการเปลี่ยนแปลงของอาการเป็นระยะ เพื่อลดโอกาสเกิดความรุนแรงจากโรคในขณะที่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล
- ให้ผู้ติดเชื้อได้ทราบถึงกระบวนการการจัดการภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการจัดการสถานการณ์ และทราบสิทธิ์ของตน เพื่อลดความกังวลของผู้ติดเชื้อโควิด-19
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า ทีมงานสายด่วนเฉพาะกิจ 1668 เป็นเจ้าหน้าที่จิตอาสากว่า 150 คน ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ ของกรมการแพทย์ ซึ่งล้วนแต่มีงานประจำที่ต้องปฏิบัติเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีจิตอาสาทำงานสายด่วนดังกล่าวโดยไม่มีวันหยุด บางทีมงานทำงานอย่างหนักรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยข้ามวันข้ามคืน ให้บริการประชาชนอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย
หลักการทำงานของทีมงานสายด่วน 1668 ทั้งในและนอกสถานที่ แบ่งเป็น 4 ทีมหลัก คือ
1. ทีมรับสาย Hotline 1668 จากผู้ป่วยโควิด 19 สอบถามข้อมูลรายละเอียดของผู้ป่วย พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำการปฏิบัติตัวเบื้องต้นในการดูแลตนเองและป้องกันการแพร่กระจายของโรคค
2. ทีมข้อมูล มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจากทีมงานสายด่วนและทีมประสานงาน วิเคราะห์ข้อมูล จัดทำฐานข้อมูล สรุปข้อมูลรายวัน
3. ทีมแพทย์ มีทีมแพทย์ประเมินอาการระดับความรุนแรงของผู้ป่วย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ตามความรุนแรงของโรค
4. ทีมประสานงานและประสานงาน มีหน้าที่ประสานการขอเตียงจากโรงพยาบาลเป้าหมายหรือศูนย์ประสานงานกลุ่มโรงพยาบาล (ผ่านศูนย์ส่งต่อโรงพยาบาลราชวิถี กรณีเป็นผู้ติดเชื้อในความรับผิดชอบของกรมการแพทย์ และประสานงานผ่านศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร กรณีเป็นผู้ติดเชื้อในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลนอกสังกัดกรมการแพทย์ ในกรณีที่เป็นผู้ติดเชื้อจาก Lab ที่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ กรมการแพทย์ช่วยเหลือในรับเข้า Hospotel) รวมทั้งโทรเยี่ยมติดตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งผลการทำงานที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้กว่า 1,200 ราย
ทั้งนี้ หากมีปัญหาเรื่องการโทรอาจจะใช้ LINE @sabaideebot ในการเข้าไปลงทะเบียน เพื่อแจ้งรายละเอียดของผู้ป่วยโควิด-19 เข้าสู่ระบบหาเตียงส่วนกลาง ซึ่งขอยืนยันว่า สายด่วน 1668 มีปรับปรุงระบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น จะเห็นได้ว่าการทำงานดังกล่าวถือว่าเป็นความเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อความสุขส่วนรวม เพราะทุกคนคือทีมประเทศไทย มุ่งหวังให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด