กสม. เปิดตัวเลขร้องเรียนปี 63 พบ สิทธิในกระบวนการยุติธรรมนำโด่ง 170 เรื่อง

กสม. เปิดตัวเลขร้องเรียนปี 63 พบ สิทธิในกระบวนการยุติธรรมนำโด่ง 170 เรื่อง

กสม.แถลงผลงานปี 63 เผยมีร้องเรียน 465 เรื่อง โดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรมนำโด่ง 170 เรื่อง ห่วงชุมนุมทางการเมือง ตั้งคณะทำงานติดตาม พร้อมลงพื้นที่ แต่ยังไร้แนวทางช่วยแกนนำไม่ได้ประกัน 

20 เม.ย. 2564  นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ กรรมการสิทธิมนุษยชน ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) พร้อม กสม.ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ 2563 โดย กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 465 เรื่อง เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม 170 เรื่อง สิทธิพลเมือง 74 เรื่อง สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน 53 เรื่อง ซึ่งพื้นที่ที่มีการร้องเรียนสูงสุดคือตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวน 90 เรื่อง

ซึ่ง กสม.ได้ตรวจสอบคำร้องและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวน 387 เรื่อง เช่น สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย กรณีชีวิตของนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร จ.นครนายก สิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีกล่าวอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวและตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนการติดตาม ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของ กสม. 131 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิชุมชนกรณีการมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

รวมทั้งปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ เช่น การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของคนพิการ กรณีศึกษาผลกระทบด้านการจราจรของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี การยุติการตั้งครรภ์เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และมีการประเมินสถานการณ์เฉพาะอีก 2 เรื่อง คือ การประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งได้มีการเสนอรายงานดังกล่าวต่อรัฐสภาและ ครม.แล้วเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน ร่วมมือและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนกับองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ จัดตั้งสำนักงาน กสม.ในต่างจังหวัด นำร่องในพื้นที่ภาคใต้ที่ จ.สงขลา

และจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคร่วมกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาอีก 6 แห่ง รวมเป็น 12 แห่งทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกลไกการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้สะดวกรวดเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม กสม.เห็นว่ายังมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของ กสม.และควรมีการแก้ไข คือกรณีที่รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม.กำหนดให้ กสม.ต้องชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้า กรณีมีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไม่ถูกต้องเป็นธรรม และการที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ กสม.มีอำนาจที่จะไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านสิทธิมนุษยชนได้ ซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและหลักการสากล จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไข รวมทั้งเมื่อมีการจัดทำรายงานหรือข้อเสนอแนะในเรื่องต่างๆ ไปยัง ครม.รัฐสภาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วส่วนใหญ่ไม่มีการแจ้งเหตุผลที่หน่วยงานเหล่านั้นไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ กสม.ได้

นายสุวัฒน์ยังกล่าวกรณี นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี ทาง กสม.จะมีการดำเนินการอย่างไร นายสุวัฒน์กล่าวว่า กรณีการชุมนุมทางการเมืองทาง กสม.มีข้อห่วงใยและติดตามข้อมูล ข่าวสารมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มต้นมีการชุมนุม เราได้ตั้งคณะทำงานเฝ้าระวังเพื่อติดตามข้อมูลทุกวันที่มีการชุมนุม และส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมที่สำคัญทุกครั้งและมีการสรุปรายงานให้ทราบทุกสัปดาห์ ส่วนที่มีประชาชนยื่นร้องเรียนเข้ามาประมาณ 10 เรื่อง เราก็ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบโดยเฉพาะและเร่งดำเนินการนำข้อมูล เหตุการณ์ ข้อร้องเรียนต่างๆ มาประมวลเพื่อหาข้อสรุปโดยเร็ว โดยมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาร่วมให้ข้อมูล เช่น ผู้ชุมนุม นักวิชาการ สื่อมวลชน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ในเรื่องของผู้ถูกกุมขัง ทาง กสม.มีความเป็นห่วงและได้ติดตามโดยให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจเยี่ยม ซึ่งตนก็มีโอกาสได้ไปเยี่ยมผู้ถูกกุมขังเช่นกันเพื่อดูชีวิตความเป็นอยู่ว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ประเด็นการจับกุมเราได้พยายามศึกษาว่าจะดำเนินการได้อย่างไรบ้าง ซึ่งในเรื่องของการประกันตัวนั้น ทุกคนทราบดีว่าเป็นดุลพินิจของศาล เมื่อเป็นดุลพินิจของศาล ในระเบียบของ กสม.ไม่ได้ให้อำนาจ กสม.ดำเนินการพิจารณาได้ เราจึงได้ให้คณะทำงานเฝ้าระวังซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาศึกษาว่าเราจะมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง ยืนยันว่าเราพยายามติดตามและให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้อยู่
ส่วนกรณีเหตุชุมนุมประท้วงในเมียนมาทำให้มีคนลี้ภัยมาตามแนวชายแดน ทาง กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนหรือดำเนินการอย่างไรหรือไม่ นายสุวัฒน์กล่าวว่า ตนได้รับการประสานว่าวันที่ 21 เม.ย.ทางประธาน กสม.ระดับต่างประเทศจะหารือกันและเชิญประธาน กสม.เมียนมาเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งเราก็จะดูในภาพรวม ซึ่งประเด็นนี้เรามีความห่วงใยและเตรียมการจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ชายแดนเพื่อดูว่ากรณีถ้ามีราษฎรจากเมียนมาเข้ามา เราจะดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เราจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

ด้านนายบุญเกื้อ สมนึก เลขาธิการ กสม. กล่าวว่า กรณีผู้ข้ามแดนลี้ภัยนั้น ทาง กสม.มีมติมอบหมายให้สำนักงานฯ ลงพื้นที่เพื่อดูสถานการณ์ ซึ่งทางสำนักงานฯ ก็ได้รับการตอบรับจากหน่วยความมั่นคงในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานฯ ก็ได้ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศไว้แล้วว่าเรื่องนี้จะมีมาตรการอย่างไร โดย กสม.จะดูในมิติของสิทธิมนุษยชน