รวมวิธีรักษาโควิด ตามอาการ
รัฐบาล ประชาสัมพันธ์ เปิดสายด่วนโควิด-19 เฉพาะกิจ 1668 ผู้ที่ตรวจยืนยันแล้วว่า ติดโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถเข้ารับการดูแลรักษาใน รพ.ในพื้นที่และปริมณฑล
วันนี้กรุงเทพธุรกิจจะมาแนะนำแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่วนใครที่ทราบผลว่าติด COVID-19 แล้ว แต่ไม่สามารถหารพ. ได้ แนะนำให้เข้าไปเช็คสถานที่ใน Hospitel สำหรับผู้ป่วยโควิด เพื่อพักรักษาและ เฝ้าระวังอาการ
สนใจประกันโควิด คลิกที่นี่!!
อาการที่เข้าเกณฑ์การตรวจหาเชื้อ
โดยปกติแล้วอาการของโควิด-19 จะมีดังนี้
- มีประวัติไข้หรืออุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- ไอ
- เจ็บคอ
- มีน้ำมูก
- ไม่สามารถได้กลิ่น
- ลิ้นไม่สามารถรับรส
- หายใจเร็ว หรือหายใจลำบาก
ซึ่งกรมการแพทย์ได้เพิ่มอาการ
- ตาแดง
- ผื่น
- ถ่ายเหลว
เข้ามาในอาการของโควิด-19 รอบล่าสุดอีกด้วย
และหากมี “ประวัติเสี่ยง” ในช่วง 14 วันก่อนวันเริ่มป่วยอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
- เดินทางไปยัง มาจาก หรืออยู่อาศัยในประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 1 เดือน ย้อนหลังนับจากวันที่ออกจากพื้นที่นั้น
- สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน COVID-19
- ไปสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก เช่น สถานบันเทิง ตลาดนัด ห้าง หรือขนส่งสาธารณะที่มีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วง 1 เดือนย้อนหลัง แพทย์จะพิจารณาส่งตรวจหาเชื้อทันที
แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษากรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ยาที่ใช้ในการรักษา
ปัจจุบันโควิด-19 ยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่มีการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังของผู้ป่วย 744 ราย พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ลดความรุนแรงคือ การได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เร็วภายใน 4 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ
แบ่งกลุ่มตามอาการได้เป็น 4 กรณี
1. ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่มีอาการ
- แนะนำให้นอนโรงพยาบาล หรือในสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ หากมีอาการปรากฏขึ้นมาให้ตรวจวินิจฉัย และรักษาตามสาเหตุ
- ให้ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เองและอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา
2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ
- ดูแลรักษาตามอาการ ส่วนมากหายได้เอง
- แนะนำให้นอนโรงพยาบาล หรือในสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่มีไข้ หรือไม่มีอาการอื่น ๆ อย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง
- รับยาต้านไวรัส (ตามดุลยพินิจของแพทย์)
3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดบวมเล็กน้อย รวมถึงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.มม. เป็นต้น
- แนะนำให้นอนโรงพยาบาล อย่างน้อย 14 วัน หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น
- รับยาต้านไวรัสระยะเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการตามความเหมาะสม หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดบวม หรือมีภาวะออกซิเจนต่ำ
- รับยาต้านไวรัสเป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการ
- อาจได้รับ lopinavir/ritonavir (ยาต้านไวรัส HIV) 5-10 วัน ร่วมด้วย (ตามดุลยพินิจของแพทย์)
- รับคอร์ติโคสเตียรอยด์
โดยสรุป ผู้ป่วยโควิด-19 แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มตามความรุนแรง
กลุ่มที่ 1-2 สามารถหายได้เอง รักษาตามอาการ แยกตัวจนครบ 14 วันหลังจากวันเริ่มมีอาการ
ส่วนกลุ่มที่ 3-4 ที่มีโรคประจำตัว หรืออาการรุนแรง จะได้รับยาต้านไวรัสเป็นระยะเวลา 5-10 วัน แยกตัวจนครบ 14 วัน และไม่มีอาการแล้ว 1-2 วัน
เพิ่มเติม สำหรับใครที่เป็นโควิดปอดอักเสบ การนอนคว่ำ (Early Prone) ทำให้ช่วยเพิ่มการแลกเปลี่ยนแก๊ส และเพิ่มออกซิเจนได้ ซึ่งสามารถทำตามได้ดังรูป
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมการแพทย์