“เอกชน”ยันเหมืองแร่แม่ลาน้อยไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

“เอกชน”ยันเหมืองแร่แม่ลาน้อยไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

“เอกชน”ยันเหมืองแร่แม่ลาน้อยไม่กระทบสิ่งแวดล้อม มั่นใจช่วยพัฒนาพื้นที่-ศก.ท้องถิ่น อ.แม่ลาน้อย พร้อมเปิดรับฟังความเห็น แจงเป็น “เหมืองอุโมงค์” ไม่เปิดหน้าดิน ใช้ผู้เชี่ยวชาญ-เทคโนโลยีคุมการระเบิด

จากกรณีที่ผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เข้ายื่นหนังสือถึงนายอำเภอแม่ลาน้อย และได้ร่วมประชุมกับ ร.ต.วิทยา โปทาศรี ปลัดอาวุโส อ.แม่ลาน้อย เพื่อคัดค้านสัมปทานเหมืองแร่ และระเบิดหินเพื่อการอุตสาหกรรม บริเวณพื้นที่หมู่บ้านห้วยมะกอก หมู่ที่ 4 ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 114 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา เมื่อวันที่ 19 เม.ย.64 ที่ผ่านมานั้น

 

นางอลินรัศมิ์  นิธิสุนทร ที่ปรึกษา และผู้จัดการบริษัท ยูนิเวอร์แซล มายนิ่ง จำกัด เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกับปลัดอาวุโส อ.แม่ลาน้อยเมื่อวันที่ 19 เม.ย. ทางบริษัทฯได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมชี้แจงและรับฟังปัญหาข้อห่วงใยของชาวบ้านในเบื้องต้นด้วย โดยยืนยันว่า บริษัทฯมีความเข้าใจถึงข้อห่วงใยต่างๆของคนในพื้นที่เป็นอย่างดี และพร้อมจะนำข้อห่วงใยเหล่านั้นมาปฏิบัติในระหว่างดำเนินสัมปทานเหมืองแร่เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียง โดยขณะนี้ยังเป็นเพียงขั้นตอนการติดประกาศเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และผู้เกี่ยวข้องรับทราบว่าจะมีการดำเนินการเหมืองในพื้นที่ หลังจากนี้จะมีการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็น และทำความเข้าใจกับชาวบ้านอย่างทั่วถึง ก่อนเริ่มดำเนินการ

 

“บริษัทฯมั่นใจว่า จะใช้โอกาสนี้ในการเข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่ และพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เกิดความยั่งยืน ผ่านการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในพื้นที่ อ.แม่ลาน้อย และพื้นที่ใกล้เคียง” นางอลินรัศมิ์ ระบุ

นางอลินรัศมิ์ ชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า ลักษณะเหมืองที่บริษัทฯได้รับสัมปทานดำเนินการใน อ.แม่ลาน้อยนั้น จะเป็นเหมืองอุโมงค์ ไม่มีการเปิดหน้าดิน เป็นการระเบิดในที่ปิดโดยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่มีหินกระเด็น หรือสร้างความเสียหาย ตามแผนงานทุกครั้งก่อนการระเบิดจะมีการเปิดสัญญาณเสียงแจ้งเตือนผู้สัญจรไปมา และจะมีพนักงานบริษัทคอยแจ้งผู้สัญจรต้นทางและปลายทางอีกด้วย รวมทั้งกำหนดเวลาที่ชัดเจน คือ เวลา 17.00-18.00 น. หรือ 1 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ที่สำคัญในการระเบิดจะมีผู้ชำนาญการระเบิดควบคุมทุกครั้ง

 

“หากเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายใดๆที่มีผลมาการระเบิดภายในเหมือง ทางบริษัทฯยินดีรับผิดชอบความเสียหายดังกล่าว สำหรับพื้นที่ที่ชาวบ้านเป็นห่วง คือหมู่บ้านห้วยมะกอก และโรงเรียนห้วยมะกอก นั้นอยู่ห่างจากบริเวณเหมืองประมาณ 3 กิโลเมตร จึงไม่มีผลกระทบอย่างแน่นอน”

 

นอกจากนี้ระหว่างที่ทางบริษัทฯมีการใช้ถนน ทางบริษัทฯมีทีมงานคอยปรับปรุงซ่อมแซมถนน และมีรถคอยฉีดน้ำตลอดทางตลอดเวลา เหมืองนี้เป็นเหมืองอุโมงค์ จะไม่มีการเปิดหน้าดิน ไม่มีการทำลายหน้าดิน และไม่มีกองดินกองหินรอบเหมือง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุที่จะเกิดดินสไลด์ทับบ้านของชาวบ้าน

นางอลินรัศมิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของระบบสิ่งแวดล้อม บริษัทฯมีมาตรการสิ่งแวดล้อมคอยกำกับดูแล และตามแผนงานจะมีการจ้างบริษัทภายนอกเพื่อให้เข้ามาตรวจสอบสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ไม่ว่า ดิน น้ำ หรืออากาศ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และต้องทำรายงานส่งให้กรมอุตสาหกรรมจังหวัดทุกครั้ง

 

ทั้งนี้ยืนยันว่าจะไม่มีการใช้สารเคมีในการทำเหมืองอย่างเด็ดขาด แต่เพื่อความมั่นใจและปลอดภัยของชุมชน ทางเหมืองจะมีการวิเคราะห์และตรวจสอบน้ำก่อนปล่อยทิ้งทุกครั้ง รวมไปถึงกรณีการป้องกันอุบัติเหตุเมื่อมีรถสัญจรไปมาในพื้นที่ชุมชน บริษัทฯจะมีการอบรมพนักงานขับรถก่อนทำงานและกำหนดความเร็วรถวิ่งอยู่ที่ไม่เกิน 40 กม./ชั่วโมง และจะทำป้ายเตือนตรงจุดอับทุกจุด

 

นางอลินรัศมิ์ กล่าวยืนยันถึงข้อห่วงใยที่อาจจะมีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวหรือคนนอกพื้นที่เข้ามาทำงานในเหมืองและอาจเกิดปัญหาต่างๆตามมาว่า บริษัทฯยืนยันว่าจะเน้นส่งเสริมการจ้างงานคนในพื้นที่ และคนในหมู่บ้านเป็นหลัก เพื่อเป็นยกระดับรายได้ให้กับคนในชุมชน หากมีความจำเป็นที่ต้องใช้บุคลกรด้านเทคนิคที่เป็นชาวต่างชาติ ทางบริษัทฯจะยึดตามกฎระเบียบของกรมแรงงานที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยบริษัทฯจะไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมายเป็นอันขาด

 

“บริษัทฯยืนยันว่า จะสอดส่องไม่ให้มีปัญหาเรื่องยาเสพติด หรือการพนันใดๆ ในบริเวณเขตเหมือง และพื้นที่ใกล้เคียง โดยกำชับให้ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่คอยตรวจเช็ค ควบคุมดูแลบุคลากรของเราตลอดเวลา รวมทั้งประสานและให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง เข้ามากวดขันในพื้นที่ด้วย”