แก้ปัญหา SMEs แบบตรงจุด

การแก้ปัญหา SMEs ของไทยที่มีอยู่จำนวนมากและยังประสบปัญหาความไม่แข็งแกร่ง ขาดความเข้มแข็งจากภายใน ในช่วงเวลานี้จำเป็นต้องออกแบบให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ไม่ใช่แบบเหมารวม หรือการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์

ใครหลายคนคงจะใจคอไม่ค่อยดี เครียดและกังวลว่าตัวเองจะติดโควิดไหม บางคนนั้นแค่ลำพังตัวเองไม่ได้กลัวตัวเองติดโควิดเท่าไร แต่เป็นห่วงคนรักคนใกล้ตัวจะติดไปด้วยเสียมากกว่า ไม่กี่วันที่ผ่านมาจึงนับเป็นช่วงทรมานใจไม่น้อยของใครหลายคน

ช่วงแรกๆ ไทยได้รับคำชมว่าป้องกันการระบาดเชื้อโควิด-19 ได้ดีมากประเทศหนึ่ง จนกระทั่งล่าสุดที่เกิดกรณีสถานบันเทิงซอยทองหล่อ ประกอบกับการเดินทางออกไปต่างจังหวัดในช่วงสงกรานต์ เมื่อพิจารณาภาพของจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อไล่เรียงตามระยะเวลาไปแล้วจะพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีต้นตอจากกรณีซอยทองหล่อในกรุงเทพฯ ค่อยๆ แพร่กระจายออกไปยังจังหวัดข้างเคียง และแพร่กระจายออกไปยังจังหวัดต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ดูมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนย้าย (mobility) กระทั่งขณะนี้ผลการแพร่ระบาดกระจายไปเกือบทั่วประเทศ

การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกในตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงขาลงเพราะการเร่งระดมฉีดวัคซีน จนทำให้หลายประเทศเริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลงมาก แต่ในทางตรงข้ามอัตราการขยายเชื้อโควิด-19 (Reproduction Rate-R) ของไทยในเวลานี้กลับสูงที่สุดในโลก ซึ่งเราไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะถ้าไม่มีมาตรการเข้มข้นจนกระทั่งค่า R ลดลง การขยายตัวของผู้ติดเชื้อจะเป็นไปแบบก้าวกระโดด ชนิดที่ว่าในช่วง 30 วันจากนี้ไป ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันถึงแสนคนต่อวัน นั่นเป็นภาพอนาคตแบบที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะหากเป็นเช่นนั้นสถานการณ์เศรษฐกิจไทย การทำมาค้าขายคงเลวร้ายลงกว่านี้อีกมาก

ทุกวันนี้เศรษฐกิจเราก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาภาคเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ผลิตเพื่อส่งออก เราพึ่งพาการส่งออกและยังพึ่งการท่องเที่ยวเพียงไม่กี่เมืองหลัก เอสเอ็มอีที่มีอยู่จำนวนมากยังไม่แข็งแกร่ง ขาดความเข้มแข็งจากภายใน จากเหตุการณ์กรณีทองหล่อที่เกิดขึ้น เราจะเห็นได้ว่าส่งผลกระทบในวงกว้างเพียงชั่วเวลาไม่กี่วัน คนธรรมดา ชาวบ้าน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหลาย คนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่ได้เปิดผับเที่ยวผับเที่ยวบาร์ที่ไหน คนที่ตั้งใจทำงานและมีความหวังว่าสถานการณ์โควิด-19 และเศรษฐกิจไทยกำลังจะดีขึ้น กลับต้องมารับผลกรรม คนที่ลำบากสุดก็คือกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มเอสเอ็มอีคนตัวเล็กๆ ทั้งหลาย

การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนกับวิกฤติโควิด-19 การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ประเทศไทยมีเอสเอ็มอีประมาณ 3 ล้านราย เป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่และสำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจ เพราะมีการจ้างงานมากกว่า 17 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ในวันนี้เอสเอ็มอีไทยจำนวนมากยังอ่อนแอเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งในไทยเองและต่างประเทศ ยิ่งในวันนี้ที่มีวิกฤติเข้าเห็นได้ชัดเลยว่าเอสเอ็มอีเราอาการหนักแค่ไหน

ถ้าเทียบเรื่องผู้ประกอบการคนตัวเล็กแล้วก็เหมือนกับปัญหาคนจน ที่ขาดโอกาส ขาดการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน ขาดการพัฒนาและแต้มต่อ จะแข่งขันกับคนรวยกว่า คนที่มีทุนหนากว่าก็ย่อมแข่งขันยาก

นอกจากนี้ปัญหาแต่ละคนก็อาจมีความแตกต่างกันอีกด้วย การแก้ปัญหาความยากจนระยะหลังนี้จึงมีแนวคิดยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบตรงจุด (Targeted Poverty Alleviation : TPA) โดยมีต้นแบบจากประเทศจีน ที่เน้นค้นหาต้นตอปัญหาความจนรายบุคคลและครอบครัว แล้วให้ความช่วยเหลือ พัฒนาแก้ไขปัญหาความยากจนของบุคคลและครอบครัวนั้นๆ ได้อย่างตรงจุดที่สุด ทำนองเดียวกัน เอสเอ็มอีโดยรวมอาจมีปัญหาบางอย่างที่คล้ายกัน แต่เมื่อดูในรายละเอียดเอสเอ็มอี 3 ล้านรายนั้นก็ย่อมมีปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องออกแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ไม่ใช่แบบเหมารวม ไม่ใช่การช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ ทั้งนี้ข้อมูลของเอสเอ็มอีที่มีอยู่ในระบบก็มีพอสมควร ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้การแก้ไขปัญหาแบบตรงจุดมีความเป็นไปได้ การสร้างธุรกิจเอสเอ็มอีไทยให้แข็งแกร่งจึงเป็นสิ่งที่เลือกได้และทำได้อย่างแน่นอน

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องแก้ปัญหาเอสเอ็มอีแบบตรงจุด แก้ปัญหาเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาอย่างแท้จริงและยั่งยืน สร้างความแข็งแกร่ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันยกระดับเอสเอ็มอีขึ้นมาให้ได้แบบแท้จริง

ท่ามกลางวิกฤติในช่วงเวลานี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่นี่ก็นับเป็นบททดสอบความแข็งแกร่งของมนุษย์ ไม่ว่าจะคนตัวเล็กหรือคนตัวใหญ่ รวมถึงเป็นบททดสอบของธุรกิจ และการดำเนินนโยบายของภาครัฐด้วยเช่นกัน

ปัญหามีไว้ให้แก้ แต่ถ้าแก้ไม่ตรงจุดก็คงต้องแก้วนเวียนอยู่ร่ำไปไม่จบสิ้น แก้ให้ตรงจุดวันนี้ เราอาจยอมเจ็บแต่จบ อนาคตไทยที่สดใสรออยู่ข้างหน้าแน่นอน