‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.39บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.39บาทต่อดอลลาร์

ระยะสั้นเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าจากการระบาดโควิด-19ในประเทศและทั่วโลก รวมถึงโฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ในตลาดการเงินยังมีความผันผวน คาดวันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.30- 31.45บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.39 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.35 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.30 - 31.45 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมองว่า ในระยะสั้น ค่าเงินบาทยังเผชิญหลายปัจจัยกดดันให้มีโอกาสอ่อนค่า อาทิสถานการณ์การระบาดของโควิด-19ในประเทศและรอบโลก รวมทั้ง โฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบกว้างต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากผู้นำเข้าส่วนมากรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ส่งออกก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์

ภาพรวมตลาดการเงินในคืนที่ผ่านมามีความผสมผสานและผันผวนพอสมควร โดยในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและทยอยเทขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง จากทั้งความกังวลผลกระทบจากการขึ้นภาษีโดยเฉพาะ ภาษี Capital Gains ที่ระดับ 39.6%

สำหรับนักลงทุนที่มีรายได้เกิน 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะเดียวกัน ตลาดก็ยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์เสี่ยง กดดันให้ ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ S&P500 ปิดลบ0.9%

อย่างไรก็ดี บรรยากาศการลงทุนกลับแตกต่างในฝั่งยุโรป โดยดัชนี STOXX50 ปิดบวกเกือบ 1% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างให้ความหวังกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากที่ทางการยุโรปเตรียมแจกจ่ายวัคซีน Johnson&Johnson อีกครั้ง นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมาก เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศการลงทุนที่ดูอึมครึมนั้น ยังคงกดดันให้ ผู้เล่นในตลาดซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ทรงตัวที่ระดับ 1.54% ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะให้ยีลด์ปรับตัวขึ้น (ราคาบอนด์ลง) ก่อนจะเข้าซื้อ หรือเป็น Dip Buyers ทำให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในกรอบต่อ

ขณะที่ตลาดค่าเงิน เมื่อตลาดการเงินผันผวนขึ้น ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เลือกที่จะถือเงินดอลลาร์ เพื่อหลบความผันผวน หนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดย ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 91.28 จุด กดดันให้เงินปอนด์ (GBP) อ่อนค่าลงมา สู่ระดับ 1.3844 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ส่วนเงินยูโร (EUR) ก็อ่อนค่าลงมาเล็กน้อย แตะระดับ 1.20 ดอลลาร์ต่อยูโร

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ผ่านการรายงาน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ ของ Markit (Manufacturing and Services PMIs) โดย การเร่งแจกจ่ายวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวแข็งแกร่ง สะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Markit Manufacturing & Services PMIs) เดือนเมษายนที่ยังคงปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 60 จุด และ 61 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัวของภาคการผลิตหรือการบริการ)

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดคาดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปอาจจะไม่ได้สะดุดลงจากการระบาดระลอกใหม่ของ โควิด-19 หลัง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Markit Manufacturing & Services PMIs) เดือนเมษายน จะทรงตัวที่ระดับ 62.2 จุด และ 49.9 จุด ตามลำดับ