คาดรายได้ 'ไฟเซอร์' พุ่ง 2.4 หมื่นล้านดอลล์ปีนี้ ใครๆ ก็อยากได้วัคซีน

คาดรายได้ 'ไฟเซอร์' พุ่ง 2.4 หมื่นล้านดอลล์ปีนี้ ใครๆ ก็อยากได้วัคซีน

คนไทยกำลังรอคอยวัคซีนไฟเซอร์หลังนายกฯ ประยุทธ์เผย เป็นหนึ่งในวัคซีนทางเลือกที่จะจัดหามาเพิ่มเติมโดยเร็ว นักวิเคราะห์คาดทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นาจะทำรายได้พุ่งในปีนี้เพราะวัคซีนmRNA เป็นที่ต้องการมาก

เว็บไซต์ fiercepharma.com รายงานบทวิเคราะห์ของรอนนี กอล จากบริษัทจัดการการเงินเบิร์นสไตน์ ประเมินว่า วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีmRNA จะทำเงินให้อย่างงาม ปีนี้ไฟเซอร์จะทำรายได้ถึง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนโมเดอร์นาทำได้ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่ต่างกันเช่นนี้เพราะไฟเซอร์และไบออนเทคมีเครือข่ายการผลิตที่ครอบคลุมกว่า

การคาดการณ์ของนักวิเคราะห์รายนี้เกิดขึ้นหลังจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและจอห์นสันแอนด์จอห์นสันมีปัญหา นายกอลเชื่อว่า วัคซีนทั้งสองตัวที่ใช้เทคโนโลยีเวคเตอร์ไวรัสจะส่งมอบให้สหรัฐไม่เกิน 100 ล้านโดสตามที่ซื้อกันไปแล้ว แต่การฉีดเข็ม 2 เพื่อเป็นตัวกระตุ้นในฤดูใบไม้ร่วงนี้จะเป็นวัคซีน mRNA แทน 

สอดคล้องกับรายงานของรอยเตอร์เมื่อกลางเดือน เม.ย. ที่ว่า รัฐบาลประเทศร่ำรวยกำลังมองหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากไฟเซอร์และโมเดอร์นามากขึ้น เพื่อให้การฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผน หลังจากแอสตร้าเซนเนก้าและจอห์นสันแอนด์จอห์นสันมีผลข้างเคียงน่ากังวล

สำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) เผยว่า กำลังศึกษาเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนทั้งสองตัวว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหรือไม่ โดยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ทำมาจากไวรัสไข้หวัดทั่วไปที่ปรับแต่งแล้วทำหน้าที่เป็นเวคเตอร์ส่งโปรตีนโคโรน่าไวรัสเข้าไปยังเซลล์ร่างกายมนุษย์แล้วกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันวัคซีนทั้งสองชนิดรวมกันคิดเป็นกว่า 25% ของซัพพลายทั้งโลกในปีนี้

ส่วนวัคซีนจากไฟเซอร์/ไบออนเทคและโมเดอร์นา ใช้วิธีแตกต่างกันโดยใช้ mRNAเข้าไปสั่งให้เซลล์สร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19

นักวิเคราะห์มองว่า ประเทศร่ำรวยจะเลือกวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นามากกว่า ผลการทดลองทางคลินิกชี้ว่า วัคซีนทั้งสองตัวป้องกันโควิด-19 แบบมีอาการได้กว่า 90% ชาวอเมริกันฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาแล้วกว่า 120 ล้านคนโดยไม่พบปัญหาความปลอดภัยที่น่ากังวล

ขณะนี้ทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) กำลังเร่งซื้อวัคซีนmRNA มาเพิ่ม ญี่ปุ่นก็ซื้อไฟเซอร์เพิ่มอีก 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือน มิ.ย.

“ตอนนี้วัคซีนmRNA เหมือนกับลัมโบกินีหรือแม็คลาเรนส์เลยล่ะ” ดร.ปีเตอร์ โฮเทส นักวิจัยวัคซีนที่วิทยาลัยแพทย์เบย์เลอร์ในเมืองฮิวสตัน เปรียบเทียบวัคซีนกับรถหรูไฮเอนด์สุดๆ

โมเดอร์นาและไฟเซอร์เผยว่า กำลังเพิ่มผลผลิตปีนี้เพิ่มขึ้นจากเป้าเดิม 1 พันล้านโดส และ 2.5 พันล้านโดสตามลำดับโดยไฟเซอร์ระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ตั้งเป้าเพิ่มการส่งมอบในสหรัฐ 10% ตลอดเดือน พ.ค. และส่งมอบให้ยุโรปเพิ่ม 50 ล้านโดสในไตรมาสสองปีนี้ อียูเองก็กำลังเจรจาซื้อไฟเซอร์เพิ่มมากถึง 1.8 พันล้านโดสสำหรับปี 2565 และ 2566

อย่างไรก็ตาม มีข่าวดีว่า “เคียวแวค” บริษัทไบโอเทคจากเยอรมนีที่กำลังทดสอบวัคซีน mRNA ของตนเอง เผยกับรอยเตอร์ว่า มีคนสอบถามเข้ามามากหลังวัคซีนเจแอนด์เจถูกระงับใช้ บริษัทหวังว่าจะยื่นขออนุมัติกับอียูภายในปลาย พ.ค.หรือต้นมิ.ย.

เหล่าผู้เชี่ยวชาญมองว่า ข้อจำกัดของวัคซีน mRNA สำหรับประเทศรายได้ต่ำคือ ต้นทุนสูง การผลิตจำกัด และการขนส่งและจัดเก็บมีเงื่อนไขมาก

“วัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิต mRNA และตัวผลิตภัณฑ์ตอนนี้ไม่ใช่ถูกๆ ช่วงครึ่งหลังของปีนี้เราจะได้เห็นการพูดคุยเปลี่ยนไปเป็น โอเค เราจะช่วยประเทศกำลังพัฒนาได้วัคซีน mRNA ได้ยังไง” ฮาร์ทัช ซิงห์ นักวิเคราะห์ไบโอเทคโนโลยีจากบริษัทออพเพนไฮเมอร์แอนด์โค กล่าวและว่า ประเทศอย่างสหรัฐให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา

สตีเฟน แบนเซล ซีอีโอโมเดอร์นา ย้ำว่า บริษัทสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากในปี 2565 รอยเตอร์รายงานเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า โมเดอร์นากำลังเจรจาอยู่กับบริษัทสหรัฐรายหนึ่งที่มีศักยภาพการผลิตวัคซีนได้เดือนละ 30 ล้านโดส

ส่วนที่พูดกันว่า ประเทศยากจนมีแนวโน้มใช้วัคซีนเจแอนด์เจ แอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนจากจีนและรัสเซียมากกว่า เพราะเก็บได้ง่ายกว่าวัคซีน mRNA แค่เก็บในตู้เย็นมาตรฐาน

เรื่องนี้อเมศ อดัลจา นักวิชาการอาวุโส ศูนย์จอห์นส ฮอปกินส์เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพเห็นต่าง

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีนวัตกรรมการเก็บใหม่ๆ สำหรับวัคซีน mRNA เพื่อนำวัคซีนตัวนี้ไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง”