แรงงานคืนถิ่นหลังโควิค-19 จุดเปลี่ยนภาคเกษตรไทย
การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทย เกิดการย้ายคืนถิ่นและภาคเกษตรทำหน้าที่รองรับแรงงานเหล่านี้ ถึงเวลาหรือยังที่ไทยจะคว้าโอกาสนี้พัฒนาภาคเกษตร และนำนวัตกรรมหรือทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนเกษตรกรรมไทย
ผลกระทบต่อตลาดแรงงานในการย้ายคืนถิ่นช่วงการระบาดโควิด-19 ระลอกแรกและระลอก 2 โดยใช้ข้อมูลเร็ว Mobile Big Data รวมถึงนัยทางนโยบายที่ทุกฝ่ายควรคว้าโอกาสนี้ ด้วยการทรานส์ฟอร์มภาคเกษตรและกระจายความเจริญสู่เศรษฐกิจฐานราก สร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจไทยยั่งยืนอย่างแท้จริง
ภาพอดีต : การย้ายถิ่นของไทยมีแนวโน้มลดลง และภาคชนบทเกษตรยังรองรับแรงงานคืนถิ่นที่ถูกเลิกจ้าง
แรงผลักดันทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประชากรย้ายถิ่นหาโอกาสการมีงานทำ รายได้ ฐานะความเป็นอยู่ กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีการย้ายถิ่นเข้าและย้ายถิ่นออกสูงสุด เพราะเป็นเขตเศรษฐกิจหลัก แหล่งงานสำคัญ และคนอีสานครองแชมป์ย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพฯ มากที่สุด
ผลศึกษา ธปท. “พลวัตผลิตภาพแรงงาน” สถิติการเปลี่ยนแปลงจำนวนแรงงานสุทธิที่ย้ายเข้าและย้ายออกในแต่ละภาคการผลิต ในช่วง 4 ทศวรรษ (ปี 2515-2557) พบว่าการย้ายถิ่นของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ในช่วงแรกปี 2515-2540 แรงงานเคลื่อนย้ายสุทธิเฉลี่ยปีละ 1.3-1.5 ล้านคน แต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ลดลงเหลือเฉลี่ยปีละ 6-8 แสนคน โดยผลิตภาพแรงงานที่มาจากเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเภทที่มีผลิตภาพต่ำเช่นภาคเกษตร ไปยังประเภทที่มีผลิตภาพสูงกว่าในภาคอุตสาหกรรมและบริการได้ลดลงไปมาก แต่การเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรเข้าสู่ภาคบริการยังมีอย่างต่อเนื่อง แม้จะน้อยกว่าในอดีต
ในมิติเชิงพื้นที่ร้อยละ 60 ของการย้ายถิ่นในประเทศเป็นการย้ายถิ่นระหว่างจังหวัด โดยการย้ายถิ่นแบบถาวรเป็นแบบ “Rural-urban” ขณะที่การย้ายถิ่นแบบชั่วคราวเป็นแบบ “Urban-rural” ในส่วนการย้ายถิ่นตามฤดูกาลส่วนใหญ่เป็นการโยกย้ายแรงงานจากภาคอีสานและเหนือมายังกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคกลางในช่วงฤดูแล้ง และเป็นไปในทิศทางตรงข้ามในช่วงฤดูฝน เป็นที่น่าสังเกตว่าภาคชนบท เกษตรทำหน้าที่รองรับแรงงานคืนถิ่นที่ถูกเลิกจ้างจากเมืองในหลายวิกฤติในอดีต ยืนยันได้จากผลสำรวจ สสช.ปี 2552 พบว่าร้อยละ 74 ของแรงงานย้ายถิ่นย้ายกลับภูมินำเนาเดิมเทียบกับร้อยละ 66 ในปี 2551 (จากผลกระทบของวิกฤติการเงินโลกปี 2551-2552)
ภาพปัจจุบัน : โควิด 19 ทำให้เกิดแรงงานย้ายถิ่นกลับฐานที่มั่น : ข้อเท็จจริงจาก Mobile Big Data
โควิด-19 เร่งให้สร้างนวัตกรรมจากเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยบริหารวิกฤติสาธารณสุขครั้งนี้ ที่สำคัญคือการใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเพื่อติดตาม/ควบคุมการแพร่เชื้อของโรคที่ไปกับการเคลื่อนย้ายของคน ทำให้มีความต้องการจากหลายฝ่ายต่อข้อมูลเร็ว Mobile Big Data เพื่อใช้ประเมินผลกระทบ ออกมาตรการควบคุมโรคที่เหมาะสม และแชร์ข้อมูลเพื่อวางนโยบายสาธารณะร่วมกัน
ผู้เขียนได้ใช้ฐานข้อมูล Telco ของ True Digital Group ของผู้ใช้มือถือประมาณ 20 ล้านคน (ช่วง 1 ม.ค.2562-28 ก.พ.2564) ศึกษาพฤติกรรมการย้ายคืนถิ่นของแรงงานในช่วงล็อกดาวน์ครั้งแรก (เริ่ม 26 มี.ค.2563) และช่วงการล็อกดาวน์ครั้งสอง มีข้อค้นพบ ดังนี้
1.ภาพรวม แรงงานย้ายคืนถิ่นกลับภูมิลำเนาขนานใหญ่ทั่วประเทศ สะท้อนจากจำนวนประชากรทั้งย้ายเข้าสุทธิและย้ายออกสุทธิ ในช่วง ก.พ.-เม.ย.2563 รวมกัน 2.0 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงหลังปี 2563 กว่า 2 แสนคนต่อเดือน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 21-60 ปี (ร้อยละ 80) และกว่าครึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย (เทียบเคียงจากข้อมูลจ่ายบิลค่าโทรศัพท์เดือนละ 0-99 บาท สอดคล้องกับผลสำรวจแรงงานนอกระบบโดยจุฬาฯ) คือ แรงงานย้ายคืนถิ่นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้น้อย ลูกจ้างรายวัน ทำงานในภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคาร การตัดสินใจกลับภูมิลำเนาเพื่อความอยู่รอด
2.ในมิติเชิงพื้นที่ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างย้ายถิ่นออกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเมืองท่องเที่ยวหลัก ชลบุรี ภูเก็ตและเชียงใหม่ เป็นสำคัญ เฉพาะเดือน ก.พ.มีประชากรย้ายออกจากกรุงเทพฯ สูงถึงร้อยละ 58 ของคนย้ายถิ่นทั้งหมด (ยกเว้นจังหวัดในภาคอีสานและนครศรีธรรมราช ที่มีแรงงานย้ายเข้าจำนวนมาก) สะท้อนว่าแรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้าง ถูกลดชั่วโมงทำงาน ขาดรายได้และไม่สามารถแบกรับค่าครองชีพในเมืองใหญ่ได้ และตัดสินใจกลับบ้านฐานที่มั่นบ้านเกิดของตนเอง
3.การระบาดระลอก 2 ตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.2563 พบว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าและออกสุทธิ ก็มีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าช่วงการระบาดรอบแรก อาจเป็นผลจากแรงงานย้ายคืนถิ่นไปมากแล้วในระลอกแรก เช่นเดียวกับเคลื่อนย้ายแรงงานในจังหวัดท่องเที่ยวภาคใต้ ภูเก็ต และกระบี่ ในช่วงนี้ก็ยังเบาบาง
ภาพอนาคต : จุดเปลี่ยนภาคเกษตรไทย เร่งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคให้เกิดขึ้นจริง
ไม่มีบ่อยครั้งที่จะมีคลื่นอพยพแรงงานเมือง ที่มีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และเทคโนโลยีย้ายคืนถิ่นมากเช่นครั้งนี้ ไทยต้องคว้าโอกาสนี้พัฒนาภาคเกษตร เร่งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ดึงดูดแรงงานกลุ่มนี้ให้อยู่ในภาคเกษตร และเป็นกำลังสำคัญต่อไป สร้างมูลค่าใหม่ทางการเกษตร พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสุขภาพ และทางการควรจัดหาทรัพยากร (ที่ดินและน้ำ) ความรู้เชี่ยวชาญ และช่องทางการขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ให้แก่กลุ่มเกษตรกร และพัฒนาและแชร์ข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ระหว่างกันเพื่อช่วยวางแผนพัฒนาภาคเกษตรในทุกมิติ อันจะเป็นความท้าทายในข้างหน้าต่อไป
(บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)