5 'ทักษะสมรรถนะ' พัฒนาครูในยุคดิจิตอลแพลตฟอร์ม
"ศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ด" ผนึกศธ.เน้น "พัฒนาครู" เปิด 5 "ทักษะสมรรถนะ" ทั้งระบบ ชี้ข้อจำกัดของครูไทย เนื้อหา ตัวชี้วัด แนะปรับมายเซตครู แนวการสอน มุ่งพัฒนาผู้เรียนมากกว่าพัฒนาครูเพื่อตัวเอง
จากการประชุม SEAMEO Congress 2021 จัดโดยองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการประเทศสมาชิกซีมีโอ รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการไทย เมื่อวันที่ 28-29 เม.ย.2564 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 9,500 คน จาก 11 ประเทศสมาชิกซีมีโอ นั้น ได้มีการหารือประเด็นด้านการศึกษา ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญคือการ “ปฏิรูปการพัฒนาครู” เพื่อยกระดับการศึกษาอาเซียน
อันนำไปสู่การเสวนาต่อเนื่องในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ Chevron – SEAMEO Policy Advocacy for Strengthening Regional STEM Education Project เพื่อสังเคราะห์แนวทางขับเคลื่อนนโยบายสะเต็มศึกษา สร้างโมเดล Teacher Development ที่ขับเคลื่อนทิศทางเดียวกันทั้งระบบ หลักสูตรพัฒนาทักษะวิชาชีพครู แนวทางการปรับวิทยฐานะ และการสนับสนุนด้านวิชาการ
- เร่งปฎิรูปการ "พัฒนาครู" แก้เด็กไทยเข้าถึงเทคโนโลยี 50%
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ "ศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ด" กล่าวว่าการ "พัฒนาครู"เป็นประเด็นที่ต้องมีการนำมาแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน ยิ่งในสถานการณ์ "โควิด-19" เด็กเรียนรู้ในแบบออนไลน์มากขึ้น ครูจำเป็นต้องพัฒนาเด็กได้เรียนรู้ครบเต็มศักยภาพ และควรจะมีกระบวนการให้เด็กตกหล่นได้เข้าถึงเทคโนโลยีด้านการศึกษามากขึ้น เพราะจากการสำรวจพบว่าเด็กไทยเข้าถึงเทคโนโลยีด้านการศึกษาได้เพียง 50% เท่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีการเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากว่า
“ต่อให้ไม่มีเหตุการณ์โควิด-19 ไทยก็มีปัญหาเรื่องการเรียนการสอนเกือบทุกกลุ่มโรงเรียน ยกเว้นกลุ่มรร.พิเศษ โดยสาเหตุหลักมาจากการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับประถม เด็กไทยมีปัญหาเรื่องการอ่าน และคณิตศาสตร์ อีกทั้งมีวิชาหนาแน่นมากกว่าเด็กประเทศอื่นๆ เช่น เด็กป.1 ต้องเรียน 8 วิชา เนื้อหามากไม่ได้เน้นการอ่าน คณิตศาสตร์ และเมื่อมีการเรียนออนไลน์อย่างตอนนี้ก็มีปัญหาเทคโนโลยีเข้ามา ขณะที่ครูเองก็ไม่ได้มีความสามารถในการสอน เพราะจะสอนแบบเดิมหน้าชั้นเรียนไม่ได้ ครูต้องมีลีลาการสอน มีวิธีการสอนที่ดึงดูดผู้เรียน แต่ครูไทยขาดทักษะเหล่านี้”ดร.พรพรรณ กล่าว
- โมเดล Teacher Development ครอบคลุม"พัฒนาครู"ทุกด้าน
ทั้งนี้ จากการประชุม SEAMEO Congress 2021 ได้มีกระบวนการออกแบบเชิงนโยบายด้านสะเต็มศึกษา เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้านการศึกษาอาเซียนโดยกระบวนการที่ศูนย์ฯ เร่งนำเสนอ คือโมเดล Teacher Development ที่มีความสำเร็จจากโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งครอบคลุมทั้งระบบของการพัฒนาคือ
1. การร่วมมือกับสถาบันผลิตครูและเครือข่ายครูที่มีประสบการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรที่จะเข้าสู่วิชาชีพครู หรือ ครูฝึกสอน และพัฒนาศักยภาพครูประจำการในลักษณะหลักสูตรประกาศนียบัตรแบบ non-degree ที่เก็บสะสมหน่วยกิตได้ เน้นลงมือปฏิบัติจริง มีการโค้ชชิ่งและแลกเปลี่ยนสะท้อนผล
2. สนับสนุนให้ครูร่วมกันปรับวิธีจัดการเรียนการสอน ด้วยกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ที่สอดคล้องแนวทางประเมินวิทยฐานะครู อันมีงานวิจัยทั่วโลกสนับสนุนว่าส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน อีกทั้งผู้นำการศึกษาขานรับในทิศทางเดียวกัน ว่าเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศสมาชิกอาเซียน
ขณะเดียวกัน สถาบันการผลิตครู หรือตัวป้อนครูสู่ระบบการศึกษาแตกต่างจากประเทศอื่นๆ มีปัญหาในการคัดเลือกคนเข้ามาเป็นครู ทาง"ศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ด ได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษา นักวิชาการ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย คณะศึกษาศาสตร์ของฟิลิปปินส์ ในการจัดระบบการพัฒนาคัดเลือกเรียนครู และสะเต็มศึกษา ฐานการเรียนรู้
- 5 "ทักษะสมรรถนะ"ที่ครูไทยต้องมาก้าวสู่ดิจิตอลแพลตฟอร์ม
ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าในเรื่องของมาตรฐานวิชาชีพครูนั้น ขณะนี้ได้มีการปรับเปลี่ยน โดยเน้นทักษะสมรรถนะของครู ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสอน การเรียนรู้ของผู้เรียน ทักษะการจัดการชั้นเรียน ทักษะการพัฒนาวิชาชีพของตนเอง รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะด้านดิจิตอลของครู และผู้บริหารสถานศึกษาซึ่งมีทั้งหมด 7 ระดับ โดยครูส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับที่ 4
ทั้งนี้ มีครูอีกกลุ่มหนึ่งขาดทักษะการใช้"ดิจิตอลแพลตฟอร์ม" ทุกคนสามารถถ่ายทอดได้ แต่ขาดการทำให้บทเรียนน่าสนใจ เป็นการเรียนแบบไม่มีชีวิต ขณะเดียวกัน การเลื่อนชั้นอัตโนมัติของไทยก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาเนื่องจากเป็นการเลื่อนชั้นแบบไม่มีระบบ เด็กทุกคนเลื่อนชั้นแต่ครูกลับสอนอยู่ที่เดิมไม่ได้ตามเด็กไปทั้งที่ครูเหล่านี้รู้จัดเด็กของตนเองทำให้ขาดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
- เน้น"พัฒนาครู"เพิ่มทักษะสมรรถนะครูเพื่อเด็กมากกว่าเพื่อตัวครู
“มาตรฐานอาชีพครูเน้นสมรรถนะ ให้ครูปรับตัว ปรับวิธีการเรียนรู้ของเด็ก ใช้แพลตฟอร์มการจัดการเรียนการสอนให้เป็นการเรียนรู้ที่สนุกสนาน และการมีส่วนร่วมจากเด็ก อีกทั้งขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)มีนโยบายชัดเจนในการเรียนการสอนทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ในช่วงโควิด-19 ซึ่งพบว่า เด็กประถมศึกษาไม่น่าจะเรียนออนไลน์ได้ ดังนั้น ตอนนี้เขตพื้นที่การศึกษากำลังเร่งแก้ปัญหาในเรื่องนี้”ดร.เอกชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของครูไทยที่ไม่สามารถมี "ทักษะสมรรถนะ"ได้เต็มศักยภาพ เนื่องจาก ครูไทยไม่ได้ถูกเตรียมตัวมาให้มี"ทักษะสมรรถนะ"ดังกล่าว อีกทั้งการ "พัฒนาครู" การอบรมครูไม่ได้เกิดจากครูอยากพัฒนาตนเองในเรื่องนั้นๆ แต่เป็นเรื่องที่ศึกษานิเทศก์ เขตพื้นที่การศึกษากำหนด แนวคิดที่จะเปลี่ยนและ"พัฒนาครู"ได้ ต้องให้ครูมีสิทธิที่จะร่วมกัน และแจ้งไปยังหน่วยงานต้นสังกัดว่าตนเองอยากพัฒนาอบรมด้านใด ซึ่งเชื่อว่าถ้าเปิดโอกาสให้ครูเลือกพัฒนาตนเอง ครูส่วนใหญ่จะเลือกพัฒนา "ดิจิตอลแพลตฟอร์ม" และภาษาอังกฤษ
ปัจจุบัน กพฐ.ได้ปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ เพื่อลดปัญหาเนื้อหา และตัวชี้วัดที่มากเกินไป เช่น ตัวชี้วัดการเรียนการสอนระดับชั้นป.1 มีจำนวน 2,165 ตัวชี้วัด ซึ่งเยอะมาก เมื่อเนื้อหาการสอนถูกกำกับด้วยตัวชี้วัด จึงมีการลดตัวชี้วัดให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้ครูไม่กังวลกับเนื้อหาหลักสูตร และจัดแผนการเรียนการสอนให้ตรงกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ คาดว่าปีนี้ 2564 จะมีการทดลองในเขตพื้นที่นวัตกรรม เพื่อเก็บข้อมูลและจะนำไปใช้ในวงกว้างต่อไป
- ปัจจัยที่จะทำให้กระบวนการการ"พัฒนาครู"สำเร็จ
ดร.เอกชัย กล่าวต่อไปว่าเรื่องของ"เทคโนโลยีการศึกษา" จริงๆ แล้วทาง กสทช.ได้มีการจัดงบประมาณในเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมา ไม่มีผู้บริหารการศึกษา หรือหน่วยงานการศึกษาจะนำเงินก้อนดังกล่าวไปใช้อย่างจริงจัง ดังนั้น ตอนนี้กระทรวงศึกษามีแหล่งทุนแต่ขาดคนคิด คนที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษาอย่างแท้จริง
ปัจจัยที่จะทำให้กระบวนการการ"พัฒนาครู"ประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องมีการกำหนดนโยบาย ทิศทางการพัฒนาครูที่ชัดเจน ต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งด้านการบริหารจัดการและงบประมาณที่จัดสรรให้ทุกปี ต้องปลูกฝังค่านิยม และมายเซตของครูใหม่ เพื่อนักเรียนไม่ใช่เพื่อตัวครูเท่านั้น รวมถึงต้อง"พัฒนาครู"ที่มาจากความต้องการของครูทั้งด้านเนื้อหาวิชาการ กิจกรรมการพัฒนาและระยะเวลาที่ต้องการหรือสะดวกที่จะเข้ารับการพัฒนา ครูต้องกำหนดแผนพัฒนาตนเองด้วยความสมัครใจ
นอกจากนั้น ต้องสร้างบรรยากาศให้โรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ครูสามารถเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน ชุมชน ผู้ปกครอง หรือผู้เรียนเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ความก้าวหน้าในวิชาชีพครูต้องขึ้นกับสมรรถนะทางวิชาชีพที่ส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่ดี มีคุณภาพ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการเรียนรู้ของครูระหว่างสถานศึกษาโดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษาจังหวัดเป็นเจ้าภาพ