'ปธ.กิจการสภาฯ' เสนอ 'ชวน' เลื่อนนัดประชุมสภาฯ หวั่น เกิด 'คลัสเตอร์รัฐสภา'

'ปธ.กิจการสภาฯ' เสนอ 'ชวน' เลื่อนนัดประชุมสภาฯ หวั่น เกิด 'คลัสเตอร์รัฐสภา'

"อนันต์" ห่วง รัฐสภา ทำโควิด-19 ลาม ขอ "ชวน"​ทบทวนนัดประชุมสภาฯ หลังเปิดสมัยปลายเดือนพฤษภาคม นี้ ชี้ รัฐสภาต้องปฏิบัติตามกฎ กทม. และ ศบค. เผย คนรัฐสภา ติดโควิด-19 แล้ว 11 ราย

        นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงสำนักการแพทย์ สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาถึงความเหมาะสมต่อการเปิดประชุมสภาฯ ในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 พื้นที่กรุงเทพ ยังรุนแรงอีกทั้งยังมีคลัสเตอร์แพร่เชื้อของชุมชนคลองเตย  อีกทั้งรัฐสภา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่กทม.​ควรปฏิบัติตามกติกาและประกาศของกทม. รวมถึง ศบค. อย่างเคร่งครัด เช่น การห้ามรวมตัวเกิน 20 คน เป็นต้น ดังนั้นรัฐสภาไม่ควรทำตนเป็นอภิสิทธิชน ทั้งนี้หลังจากวันที่ 14 พฤษภาคม ควรพิจารณาถึงสถานการณ์ระบาดและการเปิดประชุม ส่วนตัวมองว่าหากให้มีการประชุมอาจทำให้มีปัญหา เช่น กรณีของส.ส.ที่เดินทางจากพื้นที่ต่างจังหวัด เมื่อเดินทางเข้ากทม. ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง ถูกจัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเมื่อกลับไปภูมิลำเนาต้องกักตัว 14 วัน อาจทำให้มีปัญหาต่อการประชุมสภาฯ เพราะเมื่อมาประชุมครั้งหนึ่ง ต้องงดไปอีก 2 ครั้งเนื่องจากต้องกักตัว เป็นต้น

        “การเปิดประชุมสภาฯ เชื่อว่าจะทำให้เกิดคนรวมตัวหลักพันคนต่อวัน ดังนั้นจึงเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ รวมถึงรับเชื้อในพื้นที่ ครั้งใหม่อย่างกว้างขวางอย่างไรก็ดีเรื่องการเปิดประชุมสภาฯ ถือเป็นดุลยพินิจของนายชวน แต่ผมมองว่าหากสถานการณ์ระบาดไม่ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ไม่ควรเปิดประชุม เพราะจะเพิ่มความเสียงของการระบาด” นายอนันต์ กล่าว
        ประธานกมธ.กิจการสภาฯ กล่าวด้วยว่าสำหรับการหารือเปิดประชุมหรือไม่นั้นนายชวน ยังไม่ส่งสัญญาณหรือเรียกประชุมฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ตนมองว่าการเปิดประชุมสภาฯ ที่แม้มีวาระพิจารณาสำคัญ เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 หรือรัฐสภาต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยังสามารถเลื่อนการพิจารณาออกไปได้ เพราะงบประมาณสามารถใช้ของปีงบประมาณ 2564 ไปพรางก่อนได้  อย่างไรก็ดีการเปิดสภาฯ ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ตนมองว่าคือความเสี่ยง เพราะความรุนแรงของโรคมีมาก ทั้ง ติดง่าย และเสี่ยงเสียชีวิตในเวลาที่รวดเร็ว.

        ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของรัฐสภา ล่าสุดพบว่ามีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และพนักงานของรัฐสภาติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งสิ้น จำนวน 11 ราย โดยทุกคนเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้วเรียบร้อย เป็นแบ่ง ฝั่งสำนักเลขาธิการวุฒิสภา จำนวน 7 ราย ประกอบด้วย เพศชาย 6 คนได้แก่ พนักงานราชการ สำนักบริหารงานกลาง 2 ราย ,เจ้าพนักงานธุรการ ชำนาญงาน กลุ่มงานรองประธานวุฒิสภา คนที่สอง สำนักงานประธานวุฒิสภา 1 ราย ,พนักงานทำความสะอาด 2 ราย ,นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชำนาญการ กลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักนโยบายและแผน 1 ราย สำหรับเพศหญิง 1 รายเป็นพนักงานทำความสะอาด

          ขณะที่ฝั่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย เพศชาย 1 รายคือพนักงานวิชาการเทคนิคโทรทัศน์รัฐสภา ส่วนเพศหญิง 3 ราย ในส่วนของกลุ่มงานกรรมาธิการ และ ชวเลข.