พาณิชย์ เร่งเครื่องปิดดีลเอฟทีเอพร้อมลุยเจรจากรอบใหม่
รมช.พาณิชย์ มอบนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งปิดดีล เอฟทีเอทั้งกับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา พร้อมเปิดเจรจาเอฟทีเอ คู่ค้าใหม่ อาทิ อียู เอฟต้า และแคนาดา เดินหน้าจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เตรียมลงพื้นที่หลังโควิด
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ว่าได้สั่งการให้กรมฯ เร่งดำเนินภารกิจสำคัญ ได้แก่ เจรจาหาข้อสรุปความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (FTA) ที่ยังคงค้าง อาทิ ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน และไทย-ศรีลังกา ซึ่งประเทศเหล่านี้จะเป็นประตูการค้าให้ไทยเข้าสู่ภูมิภาคต่างๆ เช่น เอเชียใต้ ยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง เป็นต้น รวมทั้งปรับปรุงเอฟทีเอ ที่มีอยู่ในปัจจุบันกับคู่ค้าที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูง เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-เกาหลีใต้ เป็นต้น เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนของไทย โดยสามารถดำเนินการหารือได้ทันที ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ และเตรียมการฟื้นและเปิดการเจรจาเอฟทีเอ กับประเทศคู่ค้าสำคัญต่างๆ อาทิ สหภาพยุโรป (EU) สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และแคนาดา เป็นต้น เพื่อหาตลาดใหม่และสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าส่งออกของไทยในต่างประเทศ
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำเอฟทีเอให้เร่งเดินหน้าจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอโดยพร้อมสนับสนุนและผลักดันในระดับนโยบาย ให้สามารถออกกฎหมายเพื่อรองรับเรื่องนี้โดยเร็ว รวมทั้งเร่งสร้างความเข้าใจและช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ SME ในภูมิภาค ให้ได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น ซึ่งได้ลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าส่งออกจากไทยแล้ว และจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าในต่างประเทศ โดยให้วางแผนและเตรียมความพร้อมลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งตั้งเป้าจะขยายตลาดและช่วยหาคู่ธุรกิจให้กับกลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่ประสบปัญหาไม่สามารถหาคู่ค้าได้ในช่วงสถานการณ์โควิด
ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้วางแผนการลงพื้นที่ในช่วงเดือนมิ.ย. โดย รมช.พาณิชย์ พร้อมนำคณะลงพื้นที่ทันทีหลังปลดล็อคมาตรการควบคุมพื้นที่และการรวมกลุ่ม พร้อมทั้งได้หารือกับหน่วยงานพันธมิตร คัดสรรสินค้าซึ่งมีศักยภาพและความพร้อมส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น ผลไม้ อาหารทะเลแปรรูป ข้าวอินทรีย์ ผ้าไหม และฝ้ายทอมือ เป็นต้น โดยจะร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประเดิมลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอน จันทบุรี และสุราษฎร์ธานี เพื่อเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทยในยุคการค้าเสรี รวมทั้งร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประเดิมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ และหนองบัวลำภู เพื่อสร้างความพร้อมทางการค้าของสหกรณ์ไทยสู่การค้าเสรี และร่วมกับ ศอ.บต. ประเดิมพื้นที่จังหวัดยะลา และสงขลา เพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน