เศรษฐกิจเกิดใหม่ เมิน 'ดอลลาร์สหรัฐ' เป็นทุนสำรองฯต่างประเทศ

เศรษฐกิจเกิดใหม่ เมิน 'ดอลลาร์สหรัฐ' เป็นทุนสำรองฯต่างประเทศ

ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เมิน "ดอลลาร์สหรัฐ" เป็นทุนสำรองฯต่างประเทศ ขณะสถานการณ์โดยรวมของตลาดในปัจจุบัน ทำให้หลายคนมองเห็นความเป็นไปได้ที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงมากกว่าเดิม

เงินดอลลาร์สหรัฐ ที่เคยฉายแสงสดใสในฐานะ "สกุลเงินหลัก" ที่เป็นทุนสำรองเงินเงินตราต่างประเทศของบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยเฉพาะ จีน และ รัสเซีย เริ่มคลายมนต์ขลังและการที่รัฐบาลสหรัฐขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นยิ่งทำให้ธนาคารกลางของประเทศทั้ง 2 และอีกหลายประเทศหันไปถือครองสกุลเงินยูโร เยน และทองคำ แทนเงินดอลลาร์สหรัฐกันมากขึ้น

โดยสัดส่วนของเงินดอลลาร์สหรัฐในกองทุนสำรองฯทั่วโลกลดลงเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันในปี 2563 อยู่ที่ 59% จาก 60.5% ในไตรมาสที่ 3 ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 25ปี

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยข้อมูลสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศว่า สัดส่วนทุนสำรองดังกล่าวในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ลดลงแตะระดับต่ำสุด

อย่างไรก็ตาม เงินสกุลดอลลาร์ยังคงเป็นสกุลเงินยอดนิยม และมีสัดส่วนมากที่สุดในทุนสำรองเงินตราของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก โดย“เอ็ดเวิร์ด โมยา” นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสจาก โอเอเอ็นดีเอ แพลตฟอร์มซื้อขายเงินตราต่างประเทศออนไลน์ มีความเห็นว่า สถานการณ์โดยรวมของตลาดในปัจจุบัน ทำให้หลายคนมองเห็นความเป็นไปได้ที่สกุลเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงมากกว่าเดิม

ในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงถึง 4% ก่อนที่จะขยับฟื้นขึ้นมาได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่ประมาณ 3.5% ถือเป็นผลงานที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. ปี 2561

สำหรับ ทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นสินทรัพย์ที่บรรดาธนาคารกลางต่างๆ หลายแห่งทั่วโลกถือครองไว้ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่มีไว้เพื่อรองรับระดับหนี้สินของประเทศเป็นหลัก และบางครั้งธนาคารกลางก็ใช้เงินสำรองระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนเงินทุนของรัฐบาล

ไอเอ็มเอฟ ระบุด้วยว่า ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์ลดลง สัดส่วนเงินทุนสำรองต่างประเทศในรูปสกุลเงินยูโรกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ที่ 20.5% มาอยู่ที่ 21.2% ในช่วงไตรมาส 4 ทำสถิติเป็นสัดส่วนสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 โดยสัดส่วนทุนสำรองต่างประเทศในรูปสกุลเงินยูโรที่อยู่ในระดับสูงสุดตลอดกาลคือในปี 2552 ที่ 28%

ข้อมูลจากไอเอ็มเอฟ ยังบ่งชี้ว่า ปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นจาก 12.246 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3 มาอยู่ที่ 12.7 ล้านล้านดอลลาร์ และเก็บอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ คิดเป็นมูลค่ารวม 7 ล้านล้านดอลลาร์

ส่วนที่เก็บไว้ในรูปของสกุลเงินเยนก็มีการขยายตัวด้วยเช่นกัน โดยไอเอ็มเอฟพบว่า สัดส่วนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในรูปสกุลเงินเยนของญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.03% ขณะที่สัดส่วนของสกุลเงินหยวนของจีนเพิ่มขึ้น 2.25% นับตั้งแต่ไอเอ็มเอฟเริ่มจดบันทึกทางสถิติของเงินหยวนนับตั้งแต่ปี 2560

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟ ยังเผยว่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในรูปสกุลเงินดอลลาร์ของจีนนับจนถึงปลายปี 2563 อยู่ที่ 1.07 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงเกือบ 20% จากช่วงสูงสุดเมื่อ7ปีก่อน เช่นเดียวกับการถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของรัสเซียที่ลดลงเหลือ 578,700 ล้านดอลลาร์นับจนถึงเดือนก.ย.ปีที่แล้ว ลดลง 20% ถือว่าลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2560

รัสเซีย เริ่มขายสินทรัพย์ต่างๆในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากรัฐบาลสหรัฐประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียเพื่อลงโทษที่รัสเซียผนวกไครเมีย ส่วน ตุรกี และ บราซิล ก็เริ่มปฏิเสธการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐด้วยเช่นกันในช่วง 2-3 ปีมานี้

ขณะที่ สภาทองคำโลก (ดับเบิลยูจีซี) คาดการณ์ว่า ความต้องการทองคำในอินเดียจะดีดตัวขึ้นในปีนี้ หลังจากที่ร่วงลง 35% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปีในปี 2563 เพราะผลพวงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ดับเบิลยูจีซี คาดการณ์ว่า ความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้นในอินเดียจะช่วยหนุนราคาทองคำ เพราะอินเดียเป็นประเทศที่ซื้อทองแท่งมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก โดยราคาทองคำทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้วเนื่องจากนักลงทุนแห่ซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยไตรมาส 4 ปี 2563 อินเดียนำเข้าทองคำในปริมาณ 164.4 ตัน มากที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการทองคำในช่วงเทศกาลสำคัญของชาวฮินดู