'หุ่นยนต์ทางการแพทย์' สัญชาติไทย ตัวช่วยสำคัญสู้ 'โควิด 19'

'หุ่นยนต์ทางการแพทย์' สัญชาติไทย ตัวช่วยสำคัญสู้ 'โควิด 19'

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วงต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาที่นักนวัตกรทั่วโลกไม่หยุดคิดค้นนวัตกรรมที่ทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อ รวมถึง "หุ่นยนต์ทางการแพทย์" เพื่อเป็นตัวช่วยบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป

ที่ผ่านมา “หุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์” ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งช่วยลดการสัมผัส ลดขั้นตอนยุ่งยากในการทำงานอย่างได้ผล เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและแบ่งเบาภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

เกิดความร่วมมือของทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เป็นผลงานการพัฒนาหุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์มากมาย อาทิ CURoboCovid ผลงานจาก คณะคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับหุ่นยนต์ปิ่นโตและระบบสื่อสารกระจก ที่สามารถให้ความช่วยเหลือแพทย์และพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร เพื่อทำหน้าที่ส่งยาและเวชภัณฑ์จำเป็นให้ผู้ป่วยโควิด-19 อาทิ

ชุดระบบหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์” ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มอบทุน สนับสนุนให้สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดสร้าง ชุดหุ่นยนต์มดบริรักษ์ ประกอบด้วย 3 รูปแบบ ได้แก่ หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ (SOFA) สามารถควบคุมทางไกลจากห้องส่วนกลาง แสดงการรักษาที่เชื่อมโยงข้อมูลระบบของโรงพยาบาล และวีดิโอคอล สนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ หุ่นยนต์ทำหน้าที่ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ (MuM III) และ หุ่นยนต์บริการเฉพาะจุด (Service Robot) สามารถเคลื่อนที่อัตโนมัติจากการควบคุมทางไกลจากห้องส่วนกลาง

"เวสตี้ & ฟู้ดดี้" หุ่นยนต์สองสหายไฟท์โควิด จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมกับ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล สร้างนวัตกรรม โดย “หุ่นยนต์เวสตี้” เก็บขยะติดเชื้อ ที่สามารถยกขยะได้สูงสุด 5 กิโลกกรัม โดยระบบนำทางด้วยเทปแม่เหล็กนี้ สามารถรับน้ำหนักบรรทุกสูงสุดได้ถึง 500 กิโลกรัม ขนส่งขยะติดเชื้อได้ประมาณ 10 ตันต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อและลดเวลาในการขนส่งได้กว่า 50%

สำหรับ “หุ่นยนต์ฟู้ดดี้” ส่งอาหาร-ยา ในหอผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายต่อการติดเชื้อ และทดแทนบุคลากรในโรงพยาบาล สามารถรับน้ำหนักได้ 30-50 กิโลกรัม นำส่งอาหาร 3 มื้อ เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ไปยังห้องผู้ป่วย หรือเตียงผู้ป่วยในวอร์ดได้ประมาณ 200 คนต่อวัน รวมทั้งการนำกลับ

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึง หุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ต้นแบบ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาและจัดจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงาน ร่วมกับ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ พีไอเอ็ม

162061659024

พัฒนา “หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการบริการทางการแพทย์” (Autonomous Mobile Robot for Hospital Care Services) เพื่อแบ่งเบาภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ในการขนส่งอาหาร อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ยา และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 โดยผลงานดังกล่าว ได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม Innovation Best Award ประจำปี 2020 จากงานมหกรรมนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์แห่งสหราชอาณาจักร (IBIX) ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวที่ได้รับรางวัลดังกล่าวจาก 40 ประเทศทั่วโลก

“รศ.นพ. กัมมาล กุมาร ปาวา” อดีตคณบดีคณะแพทย์นานาชาติศาสตร์จุฬาภรณ์ และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวคิดตั้งต้นในการออกแบบหุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ มาจากการได้ไปศึกษาดูงานการแพทย์ที่ประเทศจีน ได้เห็นว่ามีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อให้บริการทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ข้อมูลของคนไข้ยังส่งต่อไปเข้าในระบบอิเลกทรอนิกส์ทันที รวมถึงใช้หุ่นยนต์ในการจัดยา ด้วยระบบอันทันสมัยที่กล่าวมานี้ ทำให้การให้บริการทางการแพทย์รวดเร็ว ตอบสนองมาตรฐานการรักษา ซึ่งขณะนั้นระบบที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ยังไม่เกิดในเมืองไทย

“กระทั่งเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทาง บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชัน จำกัด ได้คิดโมเดล หุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ ที่เป็น AGV Robot (Automated Guided Vehicle Robot) นี้ออกมา โดยเราเห็นว่า หุ่นยนต์ตัวนี้พัฒนาต่อได้ จากการใช้งานที่ต้องเชื่อมต่อกับสัญญาณ 5G และควบคุมโดยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำให้เกิดการให้บริการไร้รอยต่อ คนไข้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการมาโรงพยาบาล ลดเวลาการอยู่ในโรงพยาบาล กลับไปทำมาหากิน หารายได้เพิ่มได้”

162061659013

"ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร" ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พอมีโควิด 19 เกิดนวัตกรรมทั้งหุ่นยนต์ผ่าตัด หุ่นยนต์เจาะเลือด หุ่นยนต์วัดความดัน ส่วนหุ่นยนต์ที่เหมาะกับประเทศไทยจริงๆ คือ หุ่นยนต์ให้บริการ เพื่อลดความเสี่ยงของแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 รวมถึง สามารถลดการสัมผัสแร่รังสีในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งได้

“ช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยพิสูจน์ตัวเองหลายอย่าง โดยเฉพาะสาธารณสุข นักลงทุนต่างชาติต้องคิดแล้วว่าประเทศไหนจะเหมาะสม อีกเรื่องคือ ความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ คนไทยมีฝีมือ และได้รางวัลนวัตกรรมระดับโลกมากมาย เป็นบทพิสูจน์ได้ว่าเมื่อทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน ไม่มีอะไรยากเกินความตั้งใจของคนไทยเลย”

ด้าน กัลยาณี คงสมจิตร” ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตัวแทนภาคเอกชน ระบุว่า อุปกรณ์ วัสดุ ชิ้นส่วน ที่นำมาประกอบเป็นหุ่นยนต์ ล้วนเป็นอุปกรณ์คุณภาพชั้นดีของทางบริษัทฯ จึงสามารถออกแบบ ประกอบ หุ่นยนต์ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการขนส่งยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ต่างๆ โดยหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ AGV ทำงาน 2 ระบบ ได้แก่ ขับเคลื่อนทางไกลผ่านระบบ 5G และ ขับเคลื่อนด้วยตนเองแบบอัตโนมัติ

มีระบบสื่อสารทางไกลกับแพทย์แบบเรียลไทม์ผ่านหน้าจอที่ติดตั้งไว้บนตัวหุ่นยนต์ เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์จากการสัมผัสเชื้อระหว่างการปฏิบัติงาน , ระบบสแกนตัวตนผู้ป่วยเพื่อปลดล็อคลิ้นชักและเพื่อป้องกันการผิดพลาดในการนำส่ง สามารถตรวจเช็คอุณหภูมิของผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องสัมผัส และ ระบบกำจัดเชื้อโรคหลังปฏิบัติภารกิจ

“นอกจากนี้ หุ่นยนต์ดังกล่าว ยังสามารถผลิตได้จริงในต้นทุนที่ไม่แพง มีการออกแบบให้ใช้งานง่าย (User friendly) คือ มีช่องยา ช่องอาหาร ที่แยกกัน และสามารถเดินกลับไปชาร์จที่แท่นแบตเตอรี่เองได้ คาดว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการแพทย์และสาธารณสุขไทย ลดการทำงานที่ไม่จำเป็น เช่น routine ซ้ำๆ ลดภาระงาน เพิ่มขีดความสามารถในด้านอื่นๆ” กัลยาณี กล่าว

162061472545