ผ่าบทบัญญัติ‘จริยธรรมร้ายแรง’ ‘โทษประหาร’การเมือง

ผ่าบทบัญญัติ‘จริยธรรมร้ายแรง’   ‘โทษประหาร’การเมือง

ผ่าบทบัญญัตติว่าด้วย "จริธรรมร้ายแรง" เทียบ"3เคส"การเมือง รอชี้ชะตา

หลายวันที่ผ่านมามีการพูดถึงคดีความของบรรดานักการเมือง ท่ามกลางเสียงทวงถามถึง “มาตรฐานจริยธรรม” ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งรัฐมนตรี,ส.ส.ไม่เว้นแม้ตัวนายกรัฐมนตรี

ดังบทบัญญัตติ มาตรา16 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า “คณะรัฐมนตรี”จะต้อง   “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

เริ่มที่กรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเคยต้องคำพิพากษาคำศาลอุทธรณ์คดีอาญารัฐนิวเซาท์เวลส์ ในคดียาเสพติด  อันเข้าข่ายสมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10)

 และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160(6) และมาตรา 98 (10)

ทว่าผลวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสถานการณ์เป็นรัฐมนตรีและส.ส.ของร.อ.ธรรมนัส  กลับชี้ว่า คำพิพากษา ย่อมหมายถึงคำพิพากษาศาลไม่ถือเป็นคำพิพากษาของศาลไทย ไม่มีผลผูกพันตามกฏหมายไทย ร.อ.ธรรมนัสจึงไม่ขาดคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็นส.ส. หรือรัฐมนตรี 

ผลคำวินิจฉัยดังกล่าว นำมาซึ่งข้อสงสัยถึง “มาตรฐานจริยธรรม” ในการเป็นรัฐมนตรีและส.ส.ซึ่งจะต้องมีสูงกว่าประชาชนคนทั่วไป

 ไม่ต่างไปจากความเคลื่อนไหวพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ล่าสุดเตรียม “ดาบสอง” ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สอบจริยธรรมร้ายแรงร.อ.ธรรมนัส ในคดีดังกล่าว

ขณะเดียวกันกรณีของร.อ.ธรรมนัส ถูกนำไปเปรียบเทียบกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้นั่นคือ กรณีที่ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด “จริยธรรมร้ายแรง” กับ “เอ๋”ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ หลังถูกตั้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนในพื้นที่ จ.ราชบุรี นับเป็นคดีแรกๆในประเทศไทย

ก่อนที่ต่อมาป.ป.ช.จะมีการส่งฟ้องต่อศาลฎีกา เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย กระทั่งล่าสุดศาลได้รับคำร้องของป.ป.ช.และสั่งให้ปารีณาหยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็นส.ส.

นอกเหนือจากกรณีของ “ผู้กองธรรมนัส” และกรณีของ “เอ๋ ปารีณา” แล้ว

ล่าสุดประเด็นนี้ยังถูกพูดถึงเมื่อ “แกนนำ7พรรคฝ่ายค้าน” ยื่นคำร้องต่อให้ไต่สวนและมีความเห็นประเด็นความบกพร่องของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)จนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้ง3ระลอก

หลักใหญ่ใจความของการยื่นป.ป.ช.ครั้งนี้ฝ่ายค้านเลือกที่จะหยิบยกประเด็นไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26, 47,53, 55,62,164,234 และมาตรา 235 มาเป็นตัวชูโรง

ทั้ง3กรณีหากเปิดดูบทบัญญัติที่ว่าด้วยความผิด “จริยธรรมร้ายแรง” จะพบว่า มาตรา 234 แห่งรัฐธรรมนูญระบุว่า

ภายใต้บังคับมาตรา 236 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีการกล่าวหาว่า ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเฉพาะที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใดมีพฤติการณ์ตามมาตรา 234  (1) ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวน ข้อเท็จจริง และหากมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เห็นว่าผู้นั้น มีพฤติการณ์หรือกระทําความผิดตามที่ไต่สวนให้ดําเนินการดังต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่อง ต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ทั้งนี้ ให้นําความในมาตรา 226 วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษา ของศาลฎีกาโดยอนุโลม

ขณะที่มาตรา 235 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญระบุว่า เมื่อศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง ในกรณีที่ศาลมีคําพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคําพิพากษานั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกําหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้

ขณะที่มีมาตรา 235 วรรคสี่ ยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และ ไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งทางการเมืองใดๆ

จากบทบัญญัตติดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ประเด็น “จริยธรรมร้ายแรง” มีโทษหนักถึงขั้น “หมดสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต”  ไม่ต่างอะไรกับ “โทษประหารทางการเมือง” ตราบใดที่กฎหมายฉบับนี้ยังมีผลบังคับใช้อยู่

งานนี้คนที่ดูเหมือนจะลุ้นที่สุดเพราะใกล้ชี้ชะตาเข้ามาทุกขณะหนีไม่พ้น “ปารีณา” ซึ่งถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิด”จริยธรรมร้ายแรง”ไปก่อนก่อนนี้

คงต้องลุ้นกันต่อที่คำตัดสินของศาลฎีกาว่า ที่สุดแล้วผลของคดีนี้จะออกมาในรูปแบบมด

ขณะที่2กรณีที่เหลือคือ กรณีของนายกฯและผู้กองธรรมนัสนั้น เวลานี้ “เผือกร้อน” ยังอยู่ในมือของป.ป.ช. โดยเฉพาะกรณีของร.อ.ธรรมนัส ที่ถือเป็นอีกหนึ่งบทท้าทายการทำหน้าที่ฐานะองค์กรอิสระในการตรวจสอบนักการเมืองนับจากนี้อีกด้วย