ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโควิด-19

ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโควิด-19

ส่องความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมของไทยจากโควิด-19 มีมูลค่ากว่า 18.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 110% ของจีดีพีของปี 2562 นับเป็นความเสียหายที่รุนแรงมาก โจทย์สำคัญต่อจากนี้คือการเร่งสกัดโรคระบาดนี้

โรคระบาดโควิด-19 เป็นหนึ่งในมหันตภัยระดับโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี เทียบได้กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression ยุคปี 2473) และสงครามโลกทั้งสองครั้ง นักเศรษฐศาสตร์จึงพยายามตอบคำถามว่าโควิด-19 ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน

เมื่อต้นปีนี้ นิตยสาร The Economist ได้คำนวณว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2563-2564 ที่สูญเสียไปจากการระบาดของโควิด-19 คิดเป็นเงินมากถึง 10.3 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับปี 2563 คำนวณจากการลดลงของจีดีพีโลกในอัตรา 6.6% เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในกรณีไม่มีโควิด-19 ที่จีพีดีโลกควรจะเติบโตได้ 2.5% จึงคิดออกมาเป็นความสูญเสียเท่ากับ 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ (จีดีพีโลกมีมูลค่าประมาณ 86 ล้านล้านดอลลาร์)

ส่วนในปี 2564 คาดว่าโควิด-19 จะยังทำให้จีดีพีโลกลดลงไปอีก 5.3% เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในกรณีปกติ จึงคำนวณความสูญเสียออกมาได้เท่ากับ 4.7 ล้านล้านดอลลาร์ แค่สองปีเสียหายไป 10.3 ล้านล้านดอลลาร์ ก็ต้องถือว่าเป็นตัวเลขที่มากมายมหาศาล เพราะมีเพียงสองประเทศในโลกเท่านั้นคือสหรัฐและจีน ที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์

ความรุนแรงไม่ใช่มีเพียงเท่านี้ ธนาคารโลกคาดว่าผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจโลกจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปในปี 2565 โดยจีดีพีโลกจะยังต่ำกว่าระดับปกติอยู่ประมาณ 4.4% และคาดว่าผลกระทบที่มีต่อการลงทุนและทรัพยากรมนุษย์จะทำให้ศักยภาพของเศรษฐกิจโลกในอนาคตลดต่ำลง นอกจากนั้น หนี้ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนที่ได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณก็จะเป็นข้อจำกัดสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอีกหลายปีข้างหน้าด้วย

ในสหรัฐมีการศึกษาโดยอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (David Cutler และ Lawrence Summers) เพื่อประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วง 10 ปีอันเกิดจากผลของโควิด-19 การศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายในรูปของการว่างงานเป็นจำนวนมาก โดยดูจากจำนวนผู้ขอเบิกเงินประกันการว่างงานซึ่งมีจำนวนสะสมมากถึง 60 ล้านราย ธุรกิจต้องหยุดกิจการลงอย่างกว้างขวางเพราะการใช้จ่ายที่ลดลงและการล็อกดาวน์

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชย เยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาปัญหา แต่ก็คาดว่ามูลค่าการผลิตโดยรวมในช่วง 10 ปีนับจากปี 2563 จะลดลงเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีโควิด คิดเป็นความเสียหายมากถึง 7.6 ล้านล้านดอลลาร์

การศึกษานี้ได้ประเมินความสูญเสียอันเกิดจากการเจ็บป่วยล้มตายจากโรคระบาดนี้ด้วย คาดกันว่าชาวอเมริกันจะตายจากโควิด-19 เป็นจำนวนที่สะสมกันทั้งสิ้นประมาณ 625,000 คน (ต้น พ.ค.2564 ตัวเลขใกล้ๆ หกแสนคนแล้ว) นักวิจัยประเมินมูลค่าของชีวิตโดยดูจากจำนวนเงินที่คนอเมริกันทั่วไปยินดีจะจ่ายเพื่อลดความเสี่ยงจากความตาย และพบว่า “มูลค่าชีวิต” คิดได้เป็นเงิน 7 ล้านดอลลาร์ต่อราย ทำให้ความสูญเสียจากความตายมีค่ารวมกันประมาณ 4.4 ล้านล้านดอลลาร์

นอกจากนั้น นักวิจัยยังคำนึงถึงผลของโควิดที่ทำให้ผู้ป่วยขั้นรุนแรงต้องสูญเสียความสามารถในการทำงานในระยะยาว และผลที่มีต่อสุขภาพทางจิตของญาติมิตรที่ต้องสูญเสียคนใกล้ชิดไปในการระบาดของโควิดอีกด้วย ผลกระทบทั้งสองส่วนนี้มีมูลค่ารวมกันเป็นเงินประมาณ 4.1 ล้านล้านดอลลาร์

เมื่อรวมผลกระทบทุกประเภทแล้ว โควิด-19 ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วง 10 ปี รวมกันเป็นเงินถึง 16.1 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณ 77% ของขนาดเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2563 นักวิจัยชี้ให้เห็นว่ามูลค่าความสูญเสียนี้สูงกว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำปี 2551-2552 และมากกว่าเงินที่สหรัฐใช้ไปในการทำสงครามในอัฟกานิสถาน อิรัก และซีเรีย ตั้งแต่เหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดปี 2544 อีกด้วย

ความเสียหายที่มีต่อเศรษฐกิจไทยเห็นได้ชัดจากความซบเซาของธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างฮวบฮาบ การล็อกดาวน์เกิดขึ้น 2-3 รอบ คนว่างงานเพิ่มขึ้นมากมาย การเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลคงบรรเทาปัญหาได้เพียงบางส่วน ผมได้ลองประเมินว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบแค่ไหนจากโควิด-19 โดยใช้วิธีการคำนวณที่คล้ายกับในกรณีของสหรัฐ

จีดีพีไทยในปี 2563 ลดลงจริง 6.1% ในขณะที่เคยคาดกันไว้ก่อนโควิดว่าจะโต 2.8% ส่วนจีดีพีปี 2564 นี้คงโตจริงประมาณ 1.5% เทียบกับอัตราการเติบโตที่ 3% หากไม่มีปัญหาโควิด

สมมติให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวจากพิษโควิดและขยายตัวได้ในอัตราปีละ 4% ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป เทียบกับเศรษฐกิจที่ไม่มีปัญหาโควิดและเติบโตในอัตราปีละ 3% (แต่จากฐานที่สูงกว่า) เราก็จะยังเห็นจีดีพีที่ต่ำกว่ากรณีที่ไม่มีโควิดตลอดช่วง 10 ปีข้างหน้า (ดูรูป) ความแตกต่างของจีดีพีในสองกรณีมีมูลค่าระหว่างปีละ 1.2 - 2.1 ล้านล้านบาท โดยรวมทั้ง 10 ปี ความเสียหายทางเศรษฐกิจในรูปของจีดีพีที่ขาดหายไปคิดเป็นเงินประมาณ 17 ล้านล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับขนาดของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 (16.876 ล้านล้านบาท)

ในด้านการเจ็บป่วยล้มตายจากโควิด-19 ในขณะนี้ (ต้นเดือน พ.ค.2564) ไทยกำลังเผชิญกับการระบาดรอบที่ 3 ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย.และรุนแรงกว่าสองรอบแรกค่อนข้างมาก จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นจากวันละไม่กี่สิบกี่ร้อยรายต่อวัน มาเป็นวันละกว่า 2,000 รายในรอบที่สามนี้ และจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากสถานการณ์ยังรุนแรงอยู่จนถึงสิ้นปีนี้ ก็อาจประเมินได้ว่าในที่สุดจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอาจสูงถึง 400,000-500,000 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมอาจอยู่ระหว่าง 4,000-5,000 ราย

ผมเคยประเมินมูลค่าของการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ไว้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยมีตัวเลขสูงสุดรายละประมาณ 4.5 ล้านบาท หากปรับเป็นมูลค่าในปัจจุบันก็น่าจะได้มูลค่าชีวิตรายละประมาณ 10 ล้านบาท ดังนั้น ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 จึงคิดเป็นเงินประมาณ 45,000 ล้านบาท (4,500 ราย คูณกับ 10 ล้านบาท)

ส่วนผลกระทบในด้านการสูญเสียความสามารถในการทำงานของผู้ป่วยและในด้านสุขภาพทางจิตของญาติมิตรของผู้เสียชีวิตนั้น เราอาจคิดรวมกันเป็นจำนวนเงินต่อหัวของผู้ติดเชื้อที่รายละประมาณ 3 ล้านบาท ทำให้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจในส่วนนี้คิดเป็นเงินประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท (450,000 ราย คูณกับ 3 ล้านบาท)

สรุปแล้วความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยรวมของไทยอันเกิดจากโควิด-19 มีมูลค่าประมาณ 18.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 110% ของจีดีพีในปี 2562 นับเป็นความเสียหายที่รุนแรงมากจริงๆ และน่าจะตอกย้ำถึงความจำเป็นในการสกัดกั้นโรคระบาดนี้ไม่ให้ลุกลามยืดเยื้ออีกต่อไป