ยอด 'โควิด-19' วันนี้ ทะลัก 9 พัน! พบติดเพิ่ม 9,635 ราย เสียชีวิตอีก 25 ราย
ยอด "โควิด-19" วันนี้ พบผู้ติดเชื้อมีเพิ่มสูงอีก 9,635 ราย ทำให้การระบาดของโควิด-19 ยังคงลุกลาม และรุนแรง ขณะที่ ยอดเสียชีวิตมีเพิ่มอีก 25 ราย สถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดก็คือ โผู้ติดเชื้อโควิดในเรือนจำที่กำลังจะกลายเป็นโจทย์ข้อใหม่ของสังคม
สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ล่าสุด วันที่ 17 พ.ค. 64 ภาพรวมของการระบาดยังต้องคอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 9,635 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,782 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 6,853 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้วจนถึงวันนี้ 111,082 ราย อีกทั้งยีงมียอดผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง
โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 25 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 520 รายไปแล้ว ขณะที่ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 614 ราย
นอกจากนี้ ยังมีรายงานถึงกลุ่มคนไข้อาการหนักที่มีมีอาการปอดอักเสบที่น่าวิตกอีกนับพันรายจากทั่วประเทศ
ส่วนที่ต้องจับตาหลังจากนี้ ก็คือ สถานการณ์ติดเชื้อของเรือนจำทั่วประเทศ โดยจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในเรือนจำ และทัณฑสถานในพื้นที่เสี่ยง พบว่าข้อมูลจำนวนตัวเลขผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ทางเรือนจำได้ตรวจช่วงวันที่ (12-16 พ.ค. 64) มีผู้ต้องขังติดเชื้อรวมทั้งหมด 9,783 คน จาก 8 เรือนจำ ประกอบด้วย
- เรือนจำกลางเชียงใหม่ ติดเชื้อ 3,929 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 6,469 คน
-
เรือนจำพิเศษกรุงเทพ พบติดเชื้อ 1,960 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 3,023 คน
-
ทัณฑสถานหญิงกลาง ติดเชื้อ 1,039 คน จากจำนวนต้องขังทั้งหมด 4,488 คน
-
เรือนจำกลางคลองเปรม ติดเชื้อ 1,016 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 8,088 คน
-
เรือนจำพิเศษธนบุรี พบติดเชื้อ 1,725 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 4,015 คน
-
เรือนจำกลางฉะเชิงเทรา ติดเชื้อ 43 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 2,671 คน
-
ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ติดเชื้อ 12 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 5,876 คน
-
เรือนจำจังหวัดนนทบุรี ติดเชื้อ 59 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 2,661 คน
โดยสถานการณ์การระบาดใน เรือนจำกลางเชียงใหม่ ในวันที่ 17 พ.ค. 64 ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการแถลงผลการดำเนินงานทั้งหมดในเวลา 10.30 น.
ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 64 ถึง 17 พ.ค. 64 พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 9,635 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ มีผู้ติดเชื้อสะสมไปแล้ว 82,219 ราย
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถสรุปจำนวนการได้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่ 28 ก.พ. - 16 พ.ค. 2564 รวม 2,264,308 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 : 1,482,702 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด)
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 : 781,606 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์)
โดยที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ย้ำถึงความสำคัญของวัคซีนโควิด-19 ที่อนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน พบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงน้อยกว่า 10 รายต่อ 1 ล้านเข็ม สามารถลดการเจ็บป่วยที่รุนแรง เพื่อนำไปสู่การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ วัคซีนโควิด-19 ที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ได้รับการฉีดเร็วที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ล่าสุด "การประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ" เมื่อ วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ได้เห็นชอบใน 3 ประเด็นหลักเกี่ยวกับการจัดการวัคซีนโควิด-19 คือ
- เพิ่มจำนวนวัคซีนจากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดส ภายในปี 2565
- เร่งทำงานเชิงรุกเพื่อให้การเจรจาจัดซื้อวัคซีนให้คืบหน้ารวดเร็ว ซื้อให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสรับวัคซีนที่ครอบคลุมการกลายพันธุ์ของโควิด-19 หรือ สายพันธุ์อื่นๆ
- การปรับแนวทางการฉีดวัคซีนให้ปูพรมฉีดเข็มแรกให้เข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด
- สำหรับ แผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ปูพรมให้ประชาชน ที่จะเริ่มในเดือนมิถุนายนนี้จะทำผ่าน 3 ช่องทาง
- กลุ่มที่มีการลงทะเบียนผ่านแอพลิเคชั่นหรือ ไลน์แอด หมอพร้อม
- การจัดขอเข้ารับวัคซีนเป็นกลุ่มหมู่คณะ เช่น ในโรงงาน หรือ สถานประกอบการขนาดใหญ่
- เปิดให้ประชาชนทั่วไปฉีดได้เลย โดยไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้า ตามจุดบริการต่างๆ
โดยแผนที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนโดยไม่ต้องนัดหมายนั้น จะเน้น กลุ่มบุคคลที่ไม่ได้มีประวัติการรักษาในสถานพยาบาล เป็นบุคคลกลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น กลุ่มพนักงานขับรถโดยสาร หรือ คนขับรถแท็กซี่ โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนตามจุดต่างๆ ที่จัดให้เป็นจุดวัคซีน เช่น สถานีกลางบางซื่อ จามจุรีสแควร์ เซ็นทรัลลาดพร้าว เดอะมอลล์บางกะปิ
อีกทั้งยังมีการแบ่งสัดส่วนของการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน แบ่งเป็นสูตร 30 : 50 : 20 คือ
- การนัดหมายผ่าน LINE แอดหมอพร้อมหรือแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม ร้อยละ 30
- กลุ่มประชาชนที่ทางโรงพยาบาลประสานร้อยละ 50
- ผู้ที่เดินทางเข้ารับวัคซีนด้วยตนเองโดยมิได้นัดหมายร้อยละ 20
ที่สำคัญ คือ การเข้ารับวัคซีนนั้นจะใช้ เกณฑ์ตามข้อบ่งชี้การใช้ทางการแพทย์ ไม่มีการเลือกยี่ห้อวัคซีนเองได้ ทั้งนี้ หากจังหวัดใดมีความพร้อมทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สามารถดำเนินการได้ทันที