ชงโมเดลฉีดวัคซีน ดึงระบบประกันสังคมช่วยฉีด 8 ล้านคน เดือน มิ.ย. - ก.ค.

ชงโมเดลฉีดวัคซีน ดึงระบบประกันสังคมช่วยฉีด 8 ล้านคน เดือน มิ.ย. - ก.ค.

แรงงาน - สอท. - หอการค้า ชงแผนดึงประกันสังคมฉีดวัคซีน ให้นายกฯพิจารณานำร่องกลุ่ม ม.33 เป้า 8-10 ล้านคน กทม. ปริมณฑลเริ่มฉีด มิ.ย. ปกป้องฐานผลิต - พื้นที่เศรษฐกิจ สุชาติ ตั้ง 50 จุดทั่ว กทม.ระดมฉีดวันละ 50,000 คน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าตามนโยบายการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กระทรวงแรงงานได้หารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆได้แก่ สภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อร่วมกันทำแผนการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานซึ่งแผนนี้จะเสนอให้กับคณะกรรมการเร่งรัดการฉีดวัคซีนที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นในเร็วๆนี้ 

ทั้งนี้ แผนฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในภาคเอกชนที่จะเสนอให้กับนายกรัฐมนตรีพิจารณาคือการใช้ระบบประกันสังคมเข้ามาช่วยโดยแรงงานกลุ่มนี้ถือเป็นแรงงานในระบบที่รัฐบาลมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว และส่วนใหญ่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งขณะนี้ได้มีการประสานงานกับฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ของสถานประกอบการต่างๆแล้วเพื่อทำการสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 เบื้่องต้นผลสำรวจมีพนักงานเอกชนต้องการฉีดวัคซีนประมาณ 80% หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 80% ซึ่งหากคิดจากจำนวนผู้ประกันตนในกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 11 ล้านคน เป้าหมายในการฉีดวัคซีนกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 8 - 10 ล้านคน

162141867851

นายสุชาติ กล่าวว่าได้มีการหารือกับ กกร. และโรงพยาบาลในเครือประกันสังคมที่อยู่ใน กทม.และปริมณฑล 60 แห่งเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนซึ่ง กกร.ที่มีเครือข่ายของภาคเอกชนจำนวนมากจะช่วยเตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่ซึ่งตามแผนในเดือน มิ.ย.เมื่อวัคซีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นจะตั้งจุดฉีดวัคซีน 50 จุดทั่ว กทม.เพื่อฉีดให้กับแรงงานในกลุ่มนี้ ตั้งเป้าฉีดให้ได้จุดละ 1,000 รายต่อวัน รวมเป็นการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในระบบประกันสังคมวันละ 50,000 ราย หรือฉีดได้เดือนละ 1,500,000 คน ซึ่งหากเดินหน้าได้ตามแผนนี้ก็จะช่วยลดภาระการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลต่างๆได้ 

“ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีการฉีดวัคซีนควรทำได้อย่างรวดเร็วการที่เอาระบบประกันสังคมซึ่งเชื่อมต่อกับสถานประกอบการต่างๆ จะทำให้สามารถสำรวจ และจัดทำข้อมูลได้อย่างรวดเร็วรวมทั้งจะมีเจ้าภาพที่จะรับผิดชอบในการพาแรงงานมารับวัคซีนในจุดที่รัฐบาลจัดไว้ให้ซึ่งจะทำให้เป็นระบบและมีความรวดเร็วในการรับวัคซีน”

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงการตรวจโควิด-19 ในสถานประกอบการและโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ในโรงงานต่างๆว่าขณะนี้กระทรวงแรงงานมีการดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิดในนิคมต่างๆไปแล้วประมาณ 50,000 คน พบผู้ติดเชื้อเพียง 65 คน หรือประมาณ 0.14% โดยกระทรวงฯมีแผนที่จะตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 1 - 2 แสนรายตามแผนการตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกของรัฐบาล 

162141876891

ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่าแผนการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในพื้นที่ กทม.และแรงงานในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญในจังหวัดต่างๆโดยเฉพาะที่เป็นที่ตั้งของโรงงานที่ผลิตสินค้าส่งออกของไทยถือว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ที่ยังต้องอาศัยภาคการส่งออกเป็นส่วนสำคัญซึ่งวัคซีนจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับแรงงาน และผู้บริโภคสินค้ามากขึ้นด้วย 

โดยแผนที่จะเสนอให้คณะกรรมการฯพิจารณาจะครอบคลุมการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในระบบประกันสังคมในระยะเวลา 2 เดือน (มิ.ย. - ก.ค.) โดยจะขอโควต้าวัคซีนล็อตใหญ่ที่เข้ามาในเดือน มิ.ย.นี้ไม่ต่ำกว่า 8.5 ล้านโดส เพื่อมาฉีดให้กับแรงงานในพื้นที่ กทม.ประมาณ 6 ล้านคน และพื้นที่จังหวัดเป้าหมายที่มีโรงงานอยู่จำนวนมากอีก 2.5 ล้านคน ซึ่งจะมีทั้งจุดให้บริการฉีดวัคซีนนอกสถานประกอบการ และการเข้าไปบริการฉีดวัคซีนในสถานประกอบการ หรือโรงงานขนาดใหญ่ที่มีผู้รับวัคซีนจำนวนมากตั้งแต่ 500 คนขึ้นไปก็จะมีบริการฉีดให้ภายในที่ตั้งเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแรงงานให้ไม่ต้องเดินทางมายังจุดรับวัคซีน โดยคาดว่าการฉีดวัคซีนด้วยระบบนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนก็จะสามารถฉีดได้ครบตามเป้าหมาย