สุดเศร้า!! พิษโควิดทำ 'ขยะพลาสติก' ล้นเมือง
ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ต้องปรับการใช้ชีวิตไปตามมาตรการป้องกันโรค ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ตามมาคือ "ขยะพลาสติก" และ "หน้ากากอนามัย" เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน กทม. ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นกว่า 60%
"สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย" รายงานว่า ช่วง "โควิด-19" ระบาดต้นปีก่อน ทำให้ปริมาณ "ขยะพลาสติก"พุ่งสูงขึ้น 15% จากเฉลี่ยวันละ 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน ซึ่งไม่รวมถึงขยะอันตรายที่เกิดจาก "หน้ากากอนามัย"ที่ใช้แล้ว ที่คาดว่ามีอัตราการทิ้งหน้ากากอนามัยประมาณ 1.5 – 2 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่ทิ้งปะปนรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป
ขณะที่สถานการณ์ปี 2564 เกิด "โควิด- 19" ระบาดรอบใหม่ แม้ภาครัฐไม่ได้สั่งล็อคดาวน์ แต่หน่วยงานต่างๆ ให้ทำงานที่บ้าน การเติบโตของฟู้ด เดลิเวอรี่ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 200% ส่งผลให้"ขยะพลาสติก"กลับมา เพราะการสั่ง 1 ออเดอร์ สร้างขยะอย่างน้อย 7 ชิ้น จากการประเมินล่าสุดไทยมี"ขยะพลาสติก"จากฟู้ด เดลิเวอรี่ เพิ่มขึ้น 550 ล้านชิ้นต่อปี
- ช่วงโควิด"ขยะพลาสติก" ในกทม.เพิ่มขึ้นกว่า 60%
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นายกสมาคมและประธานเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน(ประเทศไทย) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่า ตอนนี้หน้ากากอนามัยมีการใช้วันละ 23 ล้านชิ้นต่อวัน และมี"ขยะพลาสติก"ที่เพิ่มขึ้นจากการ "สั่งอาหารออนไลน์" โดยการ "สั่งอาหารออนไลน์" 1 ครั้งจะมี"ขยะพลาสติก" อย่างน้อย 7 ชิ้น ส่งผลให้"ขยะพลาสติก"เพิ่มขึ้นประมาณ 15% จากเดิมมี"ขยะพลาสติก"ประมาณ 12-13% ของขยะทั้งหมด
โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มี"ขยะพลาสติก"เพิ่มขึ้นกว่า 60% ของขยะทั้งหมด และขยะที่สามารถรีไซเคิลได้กลับลดลงจากเดิม 27% เหลือเพียง 19% ดังนั้น ขยะทั่วๆ ไปที่มีอยู่ประมาณ 27.8 ล้านตัน สามารถบริหารจัดการขยะได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ส่วนอีกครึ่งยังคงเป็นปัญหาอยู่
“ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 สามารถบริหารจัดการขยะพลาสติกได้ระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการอย่างมากทั้งขยะพลาสติกและขยะอันตรายอย่างหน้ากากอนามัย เพราะไม่มีการจัดแยกขยะ รวมถึงการจัดการหน้ากากอนามัย ดังนั้น ต้องมีการวางระบบให้ดี เช่น ขยะรีไซเคิล จะมาเก็บทุกวันพุธ หน้ากากอนามัยจะเก็บวันไหน เพื่อให้ประชาชนช่วยแยกขยะ เนื่องจากตอนนี้ทุกคนไม่แยก และรถขยะเองเมื่อไปรับก็เทรวมกันโดยไม่แยก ทำให้การแก้ปัญหาขยะตอนนี้ยังไม่ครบวงจร” ดร.วิจารย์ กล่าว
- ชวนประชาชนร่วมกันจัดการ "ขยะพลาสติก" ในบ้าน
นอกจากนั้น กรณีที่เป็นหมู่บ้าน ชุมชน ทำให้เกิดกระบวนการแยกขยะก่อนทิ้ง และต้องมีการจัดวางระบบที่ดี ยิ่งในช่วงโควิด-19 ควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาส สร้างระบบจัดการขยะ โดยเริ่มจากในบ้าน ในท้องถิ่น เพราะปัจจุบันท้องถิ่นมีหน้าที่จัดการขยะ ซึ่งท้องถิ่นประมาณ 7,000 แห่ง มีการบริหารจัดการเพียง 2,600 แห่ง และมีระบบที่จัดการขยะอย่างถูกต้องเพียง 15% เท่านั้น
ตอนนี้ทุกคนอยู่บ้าน และสถานที่ท่องเที่ยวก็ไม่มีนักท่องเที่ยว ควรใช้เวลานี้ดูแลสิ่งแวดล้อม และจัดการขยะ ฟื้นฟูระบบนักท่องเที่ยว และรัฐบาลควรส่งเสริมให้ภาคชุมชนช่วยบริหารจัดการขยะ และดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
ดร.วิจารย์ กล่าวต่อว่าปัญหา "ขยะพลาสติก"เพิ่มขึ้น ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหา ซึ่งในส่วนของเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thai SCP Network) ซึ่งมีสมาชิกจากองค์กรหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม กว่า 200 แห่ง ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของเครือข่ายได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในการดำเนินเศรษฐกิจหมุนเวียน
- ย้ำการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรปลอดภัย ส่งเสริมการจัดการ"ขยะพลาสติก" ขยะอาหาร และการดูแลสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งในรูปแบบการทำงาน การให้งบประมาณ และการศึกษาวิจัยเพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastic) และการดำเนินงานตามแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560 - 2580 และ SDG 12
“การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป็นวาระของโลก ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้วมีการพูดถึงเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในอุตสาหกรรมได้อย่างไร มีการขับเคลื่อนโซ่อุปทาน และมีการพัฒนายั่งยืน ดังนั้น การรวมตัวของเครือข่ายเพื่อทำงานประสานขับเคลื่อน การจัดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ทำงานบูรณาการร่วมของของภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ทั้ง 11 ภาค ไม่ว่าจะเป็น ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ การท่องเที่ยวและบริการ การเกษตร จะเน้นการส่งเสริมตั้งแต่กระบวนการผลิต การจัดซื้อสินค้าและบริการ การขนส่งต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”ดร.วิจารย์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :'ลด ละ เลิก' สร้างขยะพลาสติก สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
- แนะเอกชนทำธุรกิจจัดทำฉลากเขียว ลดขยะ
รวมถึง มีการทำเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ล้วนเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพและลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ไม่ใช่การใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่ต้องช่วยลดการก่อให้เกิดขยะ และการจัดทำฉลากเขียว ซึ่งเป็นฉลากสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยมีองค์กรกลางเป็นผู้ให้การรับรอง การติดฉลากบนสินค้าเพื่อต้องการสื่อสารให้ผู้บริโภครู้ว่า สินค้าที่ได้รับการรับรองด้วยฉลากนี้เป็นสินค้าที่มีองค์ประกอบ กระบวนการผลิต การใช้ ตลอดจนถึงการทิ้งทำลายที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.วิจารย์ กล่าวอีกว่าประชากรมีจำนวนมากแต่ทรัพยากรมีจำกัด การจัดการขยะ การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คงดำเนินการเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ ทุกภาคส่วนต้องรวมมือกัน โดยเฉพาะภาคเอกชน และประชาชนทุกคน ตอนนี้มี200 ผลิตภัณฑ์ ที่มีการติดฉลากเขียว
อยากให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการ "ฉลากเขียว"มากกว่านี้ เพราะการทำให้ผลิตภัณฑ์มีฉลากเขียวนอกจากเพื่อสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการทำให้สินค้าและผลิตภัณฑ์เหล่านั้นสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการคำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ
“ประชาชนทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะ และดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอาการ โลกร้อน ล้วนเกิดจากการกระทำของคน ถ้าเราไม่เริ่มต้นวันนี้ ไม่ช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอนาคตจะลำบาก ทุกคนสามารถช่วยได้ เช่น เป็นเรื่องที่ทุกคน ช่วยเหลืออะไรได้ กรณีสั่งอาหารอาหาร มีฟังก์ชั่นให้ไม่ต้องเลือกช้อนพลาสติก ซึ่งเราสั่งมาทานที่บ้านอยู่แล้ว ก็เลือกไม่ต้องเอาช้อนส้อมพลาสติกเพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก ขณะเดียวกันควรมีการจัดแยกหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว แยกขยะมาตั้งแต่บ้าน เป็นต้น” ดร.วิจารย์ กล่าวทิ้งท้าย