“3 ป.” ฟาดกลับภูมิใจไทย กระสุนตก “อนุทิน”
“อนุทิน” จึงกลายเป็นตำบลกระสุนตก ทั้งที่ตัวเองก็คุมสถานการณ์ในพรรคไม่ได้ สั่งใครในพรรคก็ไม่ได้ เพราะเก้าอี้หัวหน้าพรรค ที่นั่งอยู่ไม่ได้หมายความว่าเป็น “ผู้มีอำนาจในภูมิใจไทยตัวจริง”
สถานการณ์ของ “พรรคร่วมรัฐบาล” เขม็งเกลียวอย่างหนัก โฟกัสหลักมุ่งไปที่ “3 ป.” กับ “พรรคภูมิใจไทย” ที่มีเรื่องระหองระแหงหลายกรณี แต่ยังไม่ถึงขั้นแตกหัก อาทิ การต่อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว การล้มการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ เป็นต้น แต่วิกฤติหนักอยู่ที่ปมบริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ริบอำนาจมาบริหารจัดการเองทั้งหมด
อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เหลือหน้าที่เพียงลำเลียงวัคซีนไปส่งยังพื้นที่เป้าหมายเท่านั้น
ปมริบอำนาจทำให้ “ลูกพรรคภูมิใจไทย” ไม่พอใจ ดาหน้าออกมาถล่มนายกฯ ประยุทธ์ ทุกช็อตที่มีโอกาส โดยเฉพาะในเวทีซักฟอกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 กระทั่งนายกฯ ต้องออกปาก พูดตรงๆ ใน ครม.กับ “อนุทิน” ขอให้ปรามลูกพรรคที่ออกมาอัดรัฐบาลด้วยกันเอง
แต่ ส.ส.ภูมิใจไทย กลับไม่ลดราวาศอก ตลอด 3 วันการอภิปรายยังกระทบกระทั่งนายกฯต่อเนื่อง
ที่พีคสุด คือการสรุปประเด็นของรุ่นใหญ่สายตรงบุรีรัมย์อย่าง “ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ เสนอข้อคิดเห็นในนามพรรค ให้นายกฯ ไปพิจารณาถึงหลักการบริหารในยุคที่ไม่ใช่รัฐบาล คสช.ที่ใช้กลไกข้าราชการ บริหารรูปแบบรัฐราชการ
"แต่สถานภาพวันนี้เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่ภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล สิ่งที่นายกฯต้องคำนึงคือการให้เกียรติกันเพื่อร่วมกันทำงาน และต้องปรับแนวคิดใหม่"
ทำให้นายกฯ ซึ่งนั่งอยู่ในที่ประชุมสภาฯ อดรนทนไม่ไหว ได้ลุกขึ้นชี้แจงทันที
ปรากฎการณ์เช่นนี้ ถือว่าเกิดขึ้นไม่บ่อย กรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลทำหน้าที่ซักฟอกกันเอง แต่เนื่องจากผู้นำพรรคภูมิใจไทยตัวจริงไม่ได้ชื่อ “อนุทิน” จึงไม่แปลกที่แม้ “อนุทิน” จะรับปากนายกฯ แต่ผู้มีบารมีเหนือพรรคกลับไม่ส่งสัญญาณให้ลูกพรรคถอยฉาก
เมื่อโดนรุมถล่มไม่เลิก นายกฯ ประยุทธ์จึงไม่มีทางเลือก เมื่อจัดการทางตรง-บนดินไม่ได้ ว่ากันว่า ทีมสนับสนุนก็มีวิธี “ใต้ดิน” เช่นกัน
ปฏิบัติการตอบโต้เริ่มเปิดฉากด้วยกระแสเขี่ย “อนุทิน-ภูมิใจไทย” พ้นพรรคร่วมรัฐบาล เริ่มถูกกระจายออกมา มิหนำซ้ำยังมีประเด็นแถมมาด้วย คือการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยจาก “อนุทิน” พร้อมทั้งมีโผชื่อ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.ที่กำลังหาเสียงล่วงหน้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. จะมาเสียบแทน
ทว่ากรณีที่มีชื่อ “จักรทิพย์” จะมานำพรรคภูมิใจไทย(หรือไม่) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เคยพูดคุยกันในพรรคภูมิใจไทยมาตั้งแต่สมัยคนกันเองอย่าง “วิชัย ศรีวัฒนประภา” เจ้าของอาณาจักรคิงเพาเวอร์ ยังมีชีวิตอยู่ แต่ที่สุดดิวนี้ก็ไม่เกิดขึ้น
เนื่องจาก “จักรทิพย์” ไม่ใช่คนที่จะรับคำสั่งคนระดับเพื่อน แต่สถานะของ “จักรทิพย์” กับพี่ใหญ่ภูมิใจไทย อย่าง “เนวิน ชิดชอบ” คือคนกันเองได้ ที่สุดแล้วก็จบลงที่ “อนุทิน” ผู้พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งผู้มีบารมีนอกพรรคได้ทุกประการ
มาดูเกมแค้นเอาคืน ด้วยการเขย่าโควตา ครม.ล่าสุดการข่าวระบุว่า 3 ป.กำลังเล็งยึดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดึงกลับมาแก้ปัญหาโควิด-19 อย่างเบ็ดเสร็จ โดยอาจต้องเขย่าเก้าอี้ ปรับสูตร ครม.กันใหม่
ในมุมนี้ ก็ใช่ว่า จะเป็นไปไม่ได้ หากอ่านเกม 3 ป. ย่อมต้องพยายามกู้วิฤติขาลงจากสถานการณ์โควิด และแนวทางการยึดเอา กระทรวงสาธารณสุขกลับมาบริหารเอง คุมเองเบ็ดเสร็จ ก็ถือเป็นความท้าทาย เพราะหากแก้ปัญหาระบาด และเคลียร์เรื่องวัคซีนได้ ก็สามารถทำแต้มการเมืองได้ไม่ยาก
การข่าวยังระบุด้วยว่า กระแสถล่มรัฐบาลที่เกิดขึ้น “พี่น้อง 3 ป.” โดยเฉพาะ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่พอใจอย่างหนัก และ 3 ป. ก็รู้ดีว่าใครอยู่หลังฉากเกมป่วน ดิสเครดิตนายกฯ น้องเล็กแห่ง 3 ป. ในเวลานี้ และมีเป้าหมายต่อรองเรื่องใด ซึ่งไม่ใช่กรณีงบฯ 65 และกระจายวัคซีนเท่านั้น
ทั้งที่ ไม่นานมานี้ ระหว่างเจ้าของพรรคภูมิใจไทย และหัวหน้ารัฐบาล ก็เพิ่งมีข้อตกลงขอไม่ให้ขยับเก้าอี้ รมว.คมนาคม ของศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาฯ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นเพียงเงื่อนไขเดียว ดังนั้น “อนุทิน” จึงตกเป็นเป้าหมายอย่างเลี่ยงไม่ได้
ในมุมของภูมิใจไทย สำหรับผู้มีบารมีเหนือพรรคไม่เดือดร้อนหากมีเขย่าเก้าอี้ รมว.สาธารณสุขกันใหม่ เพราะทุกวันนี้ความรู้สึกของลูกพรรค ก็มองว่าโควตาของภูมิใจไทย 2 ตำแหน่ง ทั้ง “อนุทิน” และ “กำนันป้อ” วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม แทบไม่ได้มีผลงานปรากฎ และไม่ได้ต่อสู้ทางการเมืองให้เป็นประโยชน์กับลูกพรรคอย่างที่ควร
ประเด็นที่ลูกพรรคหวังให้ “อนุทิน” ผลักดันให้เป็นรูปธรรมหลายอย่างกลับต้องผิดหวัง โดยเฉพาะการวาง “อสม.” เป็นฐานเสียง เพื่อช่วยทำคะแนนในการเลือกตั้งครั้งหน้า กลับกลายเป็นเครดิตของ สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข จากค่ายประชาธิปัตย์ มากกว่า แม้กระทั่งการกระจายวัคซีนที่โกยคะแนนไปได้ไม่น้อย
การมี “อนุทิน” นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยจึงเป็นประโยชน์กับเจ้าของพรรคภูมิใจไทยตัวจริงมากกว่าเป็นประโยชน์ต่อลูกพรรค
ฉะนั้นหากจะมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง รมว.สาธารณสุขหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับพี่น้อง 3 ป. กับเจ้าของพรรคตัวจริง จะเคลียร์กันได้หรือไม่
หากเดาใจพี่ใหญ่ “เนวิน” ก็เชื่อว่าคงคำนวณแล้วว่า โควตา “รมว.คมนาคม” และการได้อยู่ร่วมรัฐบาล สำคัญกว่าโควตา “รมว.สาธารณสุข”
“อนุทิน” จึงกลายเป็นตำบลกระสุนตก ทั้งที่ตัวเองก็คุมสถานการณ์ในพรรคไม่ได้ สั่งใครในพรรคก็ไม่ได้ เพราะเก้าอี้หัวหน้าพรรค ที่นั่งอยู่ไม่ได้หมายความว่าเป็น “ผู้มีอำนาจในภูมิใจไทยตัวจริง”