ขั้นตอนขอรับ 'เงินเยียวยา' ผลกระทบจาก 'วัคซีนโควิด' จาก 'สปสช.' ทำอย่างไร

ขั้นตอนขอรับ 'เงินเยียวยา' ผลกระทบจาก 'วัคซีนโควิด' จาก 'สปสช.' ทำอย่างไร

เมื่อ "วัคซีนโควิด" เป็นเรื่องใหม่ "สปสช." จึงสร้างความมั่นใจให้ประชาชน โดย "เงินเยียวยา" ผลกระทบจากวัคซีน แต่ก็ยังมีข้อสงสัยถึงการยื่นเรื่องคำร้อง และมีความกังวลว่าจะเข้าเกณฑ์ ได้รับการเยียวยาหรือไม่ โดยเฉพาะกรณี 'เสียชีวิตภายหลังฉีดวัคซีน' อ่านที่นี่!

หลังจากประเทศไทย มีการฉีด 'วัคซีนโควิด 19' ไปแล้วกว่า 4.1 ล้านคน และตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเริ่มระดมฉีด 'วัคซีนโควิด-19' ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน หรือ 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะมีผู้มี อาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กลุ่มดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการดูแล และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 'สปสช.' ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อเป็นการ 'เยียวยาผลกระทบจากวัคซีน' เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถรวบรวมได้ ดังนี้

ประเภทความเสียหายจากวัคซีน

  • เสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร
  • เจ็บป่วยเรื้อรังตลอดชีวิต มีผลรุนแรงต่อการดำรงชีวิต
  • สูญเสียอวัยวะหรือพิการ มีผลต่อการดำเนินชีวิต
  • บาดเจ็บ หรือ เจ็บป่วยต่อเนื่องจากการได้รับวัคซีน

ยื่นเรื่องได้ที่ไหน

หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด 'วัคซีนโควิด 19' ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ 'สปสช.' ได้ที่

  • โรงพยาบาลที่ฉีด
  • สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)
  • 'สปสช.' สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต
  • อสม. หรือ หน่วย 50(5) เป็นผู้แนะนำและรับคำขอให้อีกทางหนึ่ง

ใครเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง

  • ผู้รับวัคซีน
  • ทายาท
  • ผู้อุปการะ
  • โรงพยาบาลที่ให้บริการ

ระยะเวลาในการยื่น

  • ยื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย

กรณีไหน ได้เงินเท่าไหร่

  • กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท
  • กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท
  • กรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษา ไม่เกิน 100,000 บาท

ใครเป็นผู้พิจารณา

  • 'สปสช.' มีคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตทั่วประเทศดำเนินการพิจารณา
  • พิจารณาโดยใช้ความเชี่ยวชาญของความเป็นแพทย์ ดูจากประวัติ จากข้อมูลต่างๆ
  • ดำเนินการพิจารณาเรื่องเงินเยียวยา และจ่ายเงินภายใน 5 วันหลังมีมติ

ต้องพิสูจน์ ชันสูตร จนจบก่อนหรือไม่

  • ไม่ต้องถึงขนาดพิสูจน์ถูกผิดจนจบกระบวนการว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่
  • ถ้าสงสัยว่าจะเกี่ยวกับวัคซีน ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเข้าได้เลย
  • การที่แพทย์บอกว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน ไม่ได้เป็นการตัดสินว่าจะไม่จ่ายเงินชดเชย
  • ไม่ต้องรอผลการชันสูตรอะไรทั้งสิ้น

หากพิสูจน์ภายหลังว่าไม่ได้เกิดจากวัคซีน จะเรียกเงินคืนหรือไม่

  • แม้ว่าต่อมาจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยไม่ได้มาจากวัคซีน ก็จะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด

ไม่พอใจผลการวินิจฉัย ต้องทำอย่างไร

  • มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันทราบผล
  • ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ 'สปสช.' สาขาเขตพื้นที่

ได้รับความเสียหายก่อนออกประกาศ (16 พ.ค.) จะได้รับเยียวยาหรือไม่

  • ได้รับความเสียหายก่อนประกาศ ให้ถือเป็นผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายตามประกาศด้วย
  • สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. โทร. 1330

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

‘สปสช.’ จ่ายกรณี 'เสียชีวิตภายหลังฉีดวัคซีน' แล้ว 3 ราย

ชายวัย 50 จ.ปทุมธานี

นายสมชาย ม่วงวัง ชาวจังหวัดปทุมธานี อายุ 50 ปี มีอาการอาการแน่นหน้าอกและเสียชีวิตหลังรับ 'วัคซีนโควิด 19' ได้ 5 วัน บุตรชายได้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ('สปสช.') ไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว ทางคณะอนุกรรมการของ 'สปสช.' เขต 4 สระบุรี จึงลงมติเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 400,000 บาท โดยมีการโอนเงินเข้าบัญชีให้บุตรผู้เสียชีวิตในวันที่ 4 มิ.ย. 64

ผู้ใหญ่บ้าน จ.แพร่

กรณีของนายอุดร เย็นจิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.ห้วยม้า จ.แพร่ ตามข้อมูลผู้เสียชีวิตได้รับการฉีด 'วัคซีนโควิด-19' เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ต่อมาตอนกลางคืนวันที่ 18 พฤษภาคม มีอาการหายใจผิดปกติ ถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ตามประวัติพบว่าผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวไทรอยด์เป็นพิษ สาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นน่าจะเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ผู้อำนวยการ 'สปสช.' เขต 1 เชียงใหม่ ระบุว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับ 'วัคซีนโควิด-19' มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ให้แก่ผู้ 'เสียชีวิตภายหลังฉีดวัคซีน' โควิด 19 เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท โดย 'สปสช.' จะเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือภายใน 5 วัน แม้ยังไม่สรุปว่าเป็นผลจาก 'วัคซีนโควิด 19' หรือไม่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ผู้เสียชีวิต จ.สงขลา

สำหรับผู้เสียชีวิตรายนี้ ได้รับ 'วัคซีนโควิด-19' เข็มแรกในวันที่ 14 พ.ค.2564 และไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ในช่วง 30 นาทีแรก สองวันถัดมาคือในวันที่ 16 พ.ค. 2564 เริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย ถัดจากนั้นอีก 3 วัน คือวันที่ 19 พ.ค.2564 เกิดอาการวูบ จึงได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิครินทร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา จนกระทั่งในวันที่ 22 พ.ค.2564 เริ่มเกิดอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และหมดสติในวันที่ 27 พ.ค.2564 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับ 'วัคซีนโควิด 19' ระดับเขตพื้นที่ เขต 12 สงขลา ได้ร่วมกันพิจารณาเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะเห็นพ้องร่วมกันที่จะอนุมัติการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ที่ 'เสียชีวิตภายหลังฉีดวัคซีน' โควิด 19 ใน จ.สงขลา เป็นจำนวน 4 แสนบาท

ทั้งนี้ จากกรณีนี้ถือว่าเป็นอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีด 'วัคซีนโควิด-19' ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่จากเจตนารมณ์ของประกาศที่ตั้งใจบรรเทาความเดือดร้อนให้กับทายาทหรือผู้อุปการะโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด เนื่องจากผู้เสียชีวิตเป็นเสาหลักของครอบครัว คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติจ่ายเงินจำนวน 4 แสนบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

'เยียวผลกระทบจากวัคซีน' ทั่วประเทศแล้ว 162 ราย

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ('สปสช.') เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 64 ว่า ตอนนี้มียื่นเรื่องเข้ามาแล้ว 260 ราย จ่ายเยียวยาไปแล้ว 162 ราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอาการชาเป็นหลัก ฉีดแล้วชา เราก็จ่ายให้ถือว่าท่านได้รับความเสียหาย บางคนชา 1 วัน บางคนชาเป็นเดือนก็มี ระยะเวลาที่ต่างกันออกไปจะมีผลต่อการชดเชยที่ต่างกันออกไป

"ส่วนกรณีเสียชีวิตมียื่นเรื่องเข้ามา 6 รายทั่วประเทศ เพิ่งอนุมัติจ่าย 400,000 บาทไป 1 ราย ที่พื้นที่ สปสช.เขต 4 สระบุรี ส่วนอีกรายที่ยื่นเข้ามาที่ กทม. คณะอนุกรรมการได้พิจารณาว่าไม่เกี่ยวข้อง ก็จะเหลืออีก 4 รายที่กำลังพิจารณาอยู่"

ทั้งนี้ จากการที่ 'กรุงเทพธุรกิจ' ได้ทำรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ในแต่ละเขต มีผู้ยื่นเรื่องเข้ามา และมีการพิจารณา อนุมัติเงินช่วยเหลือไปแล้ว อาทิ

‘สปสช.’ เขต 1 เชียงใหม่

คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายหลังฉีด 'วัคซีนโควิด 19' รวมเป็นจำนวน 23 ราย เป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 475,500 บาท นอกจากเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีการเสียชีวิตของนายอุดร เย็นจิตร จำนวน 400,000 บาทแล้ว ที่เหลือเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบเล็กน้อย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ เขต 1 เชียงใหม่ได้ประชุมไปแล้วจำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 19 และ 28 พฤษภาคม และวันที่ 4 มิถุนายน รวมพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไป 100 ราย จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปจำนวน 717,500 บาท

'สปสช.' เขต 4 สระบุรี

พื้นที่เขต 4 สระบุรี ซึ่งรับผิดชอบ 8 จังหวัดได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และนครนายก ข้อมูล ณ วันที่ 2 มิ.ย. 64 ได้มีการพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือแล้ว จำนวน 8 ราย รวมเป็นเงิน 469,500 บาท เป็นชาย 2 ราย และหญิง 6 ราย โดยส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย จำนวน 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 เจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องนอนโรงพยาบาล 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 37.5 และเสียชีวิต 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.5 อายุระหว่าง 23-50 ปี อายุน้อยสุด 23 ปี และอายุมากที่สุด 50 ปี

สปสช. เขต 12 สงขลา

สำหรับ การพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหาย จากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สปสช.เขต 12 สงขลา ณ วันที่ 5 มิ.ย. 64 พิจารณาจำนวน 10 ราย ผลการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 8 ราย รวมเป็นเงิน 537,000 บาท เป็นอาการเจ็บป่วยปานกลาง จำนวน 1 ราย เป็นอาการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องนอนโรงพยาบาล 6 ราย และเสียชีวิต 1 ราย (400,000 บาท)