ลุ้นแผนหลัก"วัคซีน" กทม. เดิมพัน 60 วัน 5 ล้านโดส
หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น รัฐบาลจะเลือกใช้มาตรการยุติแพร่ระบาดอย่างไหนระหว่างชะลอ “คลายล็อก” ไปเรื่อยๆ หรือใช้กฎเหล็ก “ล็อกดาวน์”
หลังจาก กทม.ตัดสินใจเปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 โครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย”
เป็นระบบของตัวเองแทน “หมอพร้อม” ตั้งแต่ 26 พ.ค.2564 เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ กทม.จองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล 25 จุด ตามเป้าหมายได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในเดือน มิ.ย.-ก.ค.2564 เดือนละ 2.5 ล้านโดสรวม 2 เดือนอยู่ที่ 5 ล้านโดส
ล่าสุดช่องทางหลักที่ กทม.เปิดลงทะเบียนผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com และแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง รวมถึงช่องทางที่ร่วมมือกับภาคเอกชนมีจำนวนกว่า 2.17 ล้านคน โดยได้รับนัดหมายมากกว่า 1.97 ล้านคน
ประชาชนกลุ่มนี้จะได้รับการนัดหมายวันเวลา และสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลที่ประจายอยู่ใน 6 โซน กทม. 25 แห่ง ที่จะเปิดพร้อมกันวันนี้ 7 มิ.ย.ประกอบด้วย
กรุงเทพกลาง 1.มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 2.โรงพยาบาลสถาบันโรคไต ภูมิราชนครินทร์
กรุงเทพเหนือ 3.เอสซีจี บางซื่อ 4.เซ็นทรัล ลาดพร้าว 5. เอสซีจี สำนักงานใหญ่ 6.มหาวิทยาลัยศรีปทุม 7.เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์
กรุงเทพตะวันออก 8.เดอะมอลล์ บางกะปิ 9.โรบินสัน ลาดกระบัง 10.โลตัส มีนบุรี 11.บิ๊กซี ร่มเกล้า
กรุงเทพใต้ 12.สามย่านมิตรทาวน์ 13.ธัญญาพาร์ค 14.ทรู ดิจิทัล พาร์ค 15.เอเชียทีค 16.เซ็นทรัลเวิลด์ 17.สยามพารากอน 18.โลตัสพระราม 4 19.เอ็มโพเรียม
กรุงธนเหนือ 20.เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า 21.ไอคอนสยาม 22.โลตัส ปิ่นเกล้า และกรุงธนใต้ 23.สถานีน้ำมันพีทีที พระราม 2 24.เดอะมอลล์บางแค 25.บิ๊กซี บางบอน
สำหรับแผนหลักที่ กทม.กำหนดไว้ 7 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป คือ ประชากรทั้งในระบบทะเบียนราษฎร และประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานใน กทม. โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่พบการระบาดคลัสเตอร์ในชุมชน 2.กลุ่มเสี่ยงการติดเชื้อ อาทิ บุคลากรทางการแพทย์บุคลากรด่านหน้าที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และ 3.กลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านโครงการไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย
แผนการฉีดวัคซีนในเดือน มิ.ย.-ก.ค.2564 จะเริ่มที่กลุ่มเสี่ยง 1.กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ดูแลในสถานสงเคราะห์คนชรา 2.กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน ผู้ป่วยติดเตียง ติดบ้าน และ 3.กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่มีสุขภาพแข็งแรง และประสงค์จะรับการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลที่สะดวก
จากตัวเลขประชากรใน กทม.ตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563 อยู่ที่5,487,876 ล้านคน โดยมีประชากรแฝงรวมแล้วประมาณ 10 ล้านคนทำให้เป้าหมายสำคัญที่ กทม.วางโรดแมพไว้ ตามแผนฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล อยู่ที่ 2,500-3,000 คนต่อแห่ง รวม 25 จุดอยู่ที่ 3.8 หมื่น ถึง 5 หมื่นคนต่อวัน เมื่อรวมกับการฉีดกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มในโรงพยาบาล 126 แห่ง วันละ 3 หมื่น คน จะมียอดฉีดวัคซีนได้ 8 หมื่นคนต่อวัน
ก่อนหน้าในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา กทม.ได้เดินหน้าฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยง และกลุ่มเสี่ยงอาชีพต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หลังพบคลัสเตอร์ต่างๆ ระบาดอย่างหนัก
จากข้อมูลสำนักการแพทย์ กทม.อัพเดท เมื่อ 3 มิ.ย. มีผู้ได้รับวัคซีนรายใหม่ 32,357 โดส รวมผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 953,585 โดส แบ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 481,885 ราย ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 235,850 ราย
ส่วนกลุ่มบุคลาการทางการแพทย์ และสาธารณสุข ได้รับ 317,266 โดส ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับ 36,905 โดส เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ได้รับ 88,267 โดส บุคคลที่มีโรคประจำตัวได้รับ 46,140 โดส และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับ 465,007 โดส
สำหรับ 2 กลุ่มที่เคยลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม คือกลุ่มผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มเสี่ยง 7 โรค กทม.ที่เข้าระบบแล้ว แต่ยังมีตกค้างหลังจากแอพฯ ”หมอพร้อม” ยุติรับลงทะเบียน กทม.จะรณรงค์ให้กลุ่มนี้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “ไทยร่วมใจ” แทน
ถึงแม้ล่าสุด กทม.จะวางแผน และมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนตามที่กำหนดไว้ 2 เดือน 5 ล้านโดส คือภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค.2564 แต่จะทำได้ตามแผนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยการส่งมอบวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และแม้ว่า ศบค.จะไฟเขียวให้ กทม.เสนอแผนขอวัคซีน และบริหารจัดการวัคซีนได้เอง แต่หากไม่ได้รับจัดสรรตามแผนที่กำหนดไว้ กทม.ก็ต้องปรับแผน เปลี่ยนไทม์ไลน์การกระจายฉีดวัคซีนในกลุ่มที่ “นัดหมาย” กันใหม่
ก่อนดีเดย์ 7 มิ.ย.คิกออฟ “ฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ” กทม.ได้ซักซ้อมแผนวัคซีนอย่างเข้มข้น โดยสำนักอนามัย กทม.ประชุมออนไลน์กับผู้บริหารโรงพยาบาล 126 แห่งในพื้นที่ ทำความเข้าใจเรื่องการให้บริการวัคซีนเป็นแนวทางเดียวกันตั้งแต่ 7 มิ.ย.
ขณะที่ผู้บริหาร กทม.ที่เกี่ยวข้องได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเพื่อบูรณาการแผนปฏิบัติที่ กทม.จะดำเนินการควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนนับจากนี้ไป
โดย กทม.ได้รายงานสถานการณ์แพร่ระบาด มาตรการควบคุมโรค มาตรการป้องกัน และเฝ้าระวังในพื้นที่ ซักซ้อมแผนการบูรณาการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ กทม. เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
โดยเฉพาะการจัดทำแผนเฝ้าระวังตลาด ชุมชน แคมป์ก่อสร้าง มีแนวทางการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดจะดำเนินการในระดับเขต และบริหารจัดการในรูปแบบกลุ่มเขต โดยสำนักงานเขตพื้นที่และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. จะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย การติดตามสถานการณ์ กำหนดแนวทางการดำเนินงาน การวิเคราะห์สถานการณ์ จัดทำมาตรการการเฝ้าระวัง ค้นหาเชิงรุก สอบสวนโรค และจัดทำมาตรการควบคุมโรคทั้งในกลุ่มเสี่ยง และผู้สัมผัสเสี่ยง
แผนการรักษาพยาบาลรองรับผู้ป่วยทุกระดับ ทั้งเตียง บุคลากร ทรัพยากรในการรักษา จัดระบบการส่งต่อจากหน่วยบริการทุกระดับไปยังสถานพยาบาล บริหารจัดการในชุมชนให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมป้องกันโรค ควบคุมกำกับการเคลื่อนย้าย และการกักตัวที่บ้าน จัดสิ่งสนับสนุน เช่น อาหาร ของใช้จำเป็น เฝ้าระวังการเจ็บป่วยในชุมชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจในมาตรการต่าง ๆของรัฐ
จัดทำแผนและจัดหาวัสดุทางการแพทย์ และวัคซีนให้เพียงพอ จัดระบบการสนับสนุนวัสดุทางการแพทย์ บริหารจัดการ เตรียมการฉีดวัคซีน รวมถึงรูปแบบการรายงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการแสดงผล การบูรณาการข้อมูลเพื่อการควบคุมโรคและการรักษาพยาบาล และการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ
โควิด-19 ระลอก 3 ลากยาวมา 2 เดือน ยอดผู้ติดเชื้อสะสมใน กทม.ตั้งแต่ 1 เม.ย.-6 มิ.ย.ยังเพิ่มต่อเนื่อง ตัวเลขปัจจุบันรวม 46,536 ราย เสียชีวิต 13 ราย และในห้วง 2 เดือนข้างหน้า มิ.ย.-ก.ค.2564 นี้ จะเป็นเดิมพัน 60 วัน หลังการกระจายวัคซีน 5 ล้านโดส หากเป็นไปตามแผนหลัก
ทว่า กทม.กำลังถูกจับตาว่าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น รัฐบาลจะเลือกใช้มาตรการยุติแพร่ระบาดอย่างไหนระหว่างชะลอ “คลายล็อก”ไปเรื่อยๆ หรือใช้กฎเหล็ก “ล็อกดาวน์”