5 ไทม์ไลน์ยุบสภาในมือ “ประยุทธ์” "3 โจทย์ใหญ่" ปมล่มรัฐบาล

5 ไทม์ไลน์ยุบสภาในมือ “ประยุทธ์” "3 โจทย์ใหญ่" ปมล่มรัฐบาล

3 โจทย์ใหญ่ “โควิด-เศรษฐกิจ-การเมือง” ซึ่งเป็นปมที่ล่มรัฐบาลได้ หรือเป็นผลงานที่จะดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปต่อ คาดว่าจะต้องถูกแก้ปัญหาให้จบก่อนยุบสภา

พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สั่งการให้ “รัฐมนตรี” ทุกกระทรวงเร่งทำผลงานให้เป็นรูปธรรมในช่วงอายุรัฐบาลที่เหลืออยู่กว่า 1 ปี บรรดานักการเมืองทั้ง “บิ๊กเนม-โนเนม” ต่างรีเช็คทันทีว่า ไทม์ไลน์การ “ยุบสภา” ที่เป็นไปได้ที่สุดจะอยู่ในช่วงเวลาใด
ด้วยปัญหาความขัดแย้งภายใน “พรรคร่วมรัฐบาล” โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ปะฉะดะโดยตรงกับ “3 ป.” แม้หน้าฉาก-หลังฉาก ยังพอคุยกันได้ แต่อุบัติเหตุทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ หากผลประโยชน์การเมืองไม่ลงตัว
ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้ “พล.อ.ประยุทธ์-พรรคร่วมรัฐบาล” ยังติดกับดักปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต้องทำภารกิจหาซื้อวัคซีนโควิด และเร่งกระจายฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งอาจจะหมายรวมถึงภูมิคุ้มกันทางการเมืองของรัฐบาลด้วย และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลพยายามทุกทางเพื่อฟื้นกลับมาให้ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เวลานี้คะแนนนิยมในตัวของ พล.อ.ประยุทธ์-พรรคร่วมรัฐบาล ยังอยู่ในสภาพขาลงอย่างต่อเนื่อง หากคิดเรื่องยุบสภาคงต้องทอดเวลาออกไปอีกสักระยะ เพื่อฟื้นคะแนนนิยมให้กลับมาอยู่ในแดนบวกเสียก่อน ไม่เช่นนั้นโอกาสที่จะพ่ายยับคาสนามการเลือกตั้งย่อมมีสูง
“กรุงเทพธุรกิจ” กาง 5 ไทม์ไลน์ ที่มีความเป็นไปได้ในการเลือกยุบสภาฯ ของนายกฯประยุทธ์ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลมีอายุอีก 1 ปี 9 เดือน โดยจะครบเทอม 4 ปี วันที่ 23 มี.ค.2566


ไทม์ไลน์แรก ยุบสภาปลายปี 2564
เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ย.2564 และต้องใช้ระยะเวลาให้เบิกจ่ายโครงการสำคัญ หรือโครงการระดับท้องถิ่นประมาณ 3-4 เดือน อาจทำให้ “พรรคร่วมรัฐบาล” มีปัจจัยและข้อได้เปรียบมากพอที่จะลงสู้ศึกเลือกตั้ง
หากใช้เหตุผลเกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่ออัดงบฯ ลงในพื้นที่ เวลาที่เหมาะสมที่สุดในการยุบสภา จะอยู่ในช่วงเดือนปลายปี หรือช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2564
ขณะเดียวกัน ก็ยังต้องลุ้นถึงปัญหาความขัดแย้งภายใน “พรรคร่วมรัฐบาล” ว่าจะเคลียร์กันได้หรือไม่ เพราะการเมืองถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ อาจตัดสินใจยุบสภาเร็วขึ้น เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการรถไฟทางคู่ เป็นเค้กก้อนใหญ่สำหรับนักเลือกตั้ง หากแบ่งกันไม่ลงตัว ย่อมมีโอกาสที่จะไปถึงขั้นแตกหัก
ทว่า อีกจุดหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องคิดหนักมากกว่ารอยร้าวพรรคร่วมรัฐบาลคือ กระแสบริหารจัดการสถานการณ์โควิดที่ตกต่ำ จะเป็นตัวฉุดคะแนนนิยมของทั้งพล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งรัฐบาลหรือไม่

ไทม์ไลน์สอง ยุบสภาต้นปี 2565
ปัจจัยการยุบสภาต้นปี 2565 ไม่แตกต่างกับการยุบสภาปลายปี 2564 มากนัก แต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์-พรรคร่วมรัฐบาล ต้องคิดหนักคือการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของ “ขั้วฝ่ายค้าน” ที่จ้องจะเปิดศึกซักฟอกในช่วงต้นปี
โดยในปี 2563 ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ระหว่างวันที่ 24-27 ก.พ. ในปี 2564 ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ. ฉะนั้นหากนายกฯประยุทธ์ เลือกไทม์ไลน์การยุบสภาในช่วงต้นปี 2565 ก็ต้องเผชิญกับศึกซักฟอกเสียก่อน
เพราะเป็นเวทีที่ “ขั้วฝ่ายค้าน” จะได้ชำแหละแผลของรัฐบาล เพื่อลดเครดิตและคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่ผลดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างแน่นอน ซึ่งต้องยอมรับว่ากระแสหลังเสร็จศึกซักฟอก คะแนนของ “ขั้วรัฐบาล” มักจะติดลบเสมอ


ไทม์ไลน์สาม ยุบสภากลางปี 2565
ในช่วงกลางปี 2565 สถานการณ์ของประเทศไทย และสถานการณ์ของโลก ถูกคาดหมายว่าจะอยู่ในช่วงฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ภายหลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงินลงไปยังภาคธุรกิจ และกระจายเม็ดเงินลงไปในระดับท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น
หากเป็นไปตามแผนและเป้าหมาย แน่นอนว่าคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์-พรรคร่วมรัฐบาล ก็มีโอกาสจะกระเตื้องขึ้น และเมื่อโครงการต่างๆ เริ่มผลิดอกออกผล รวมทั้งประชานิยมที่โดนใจประชาชนอย่าง โครงการไทยชนะ คนละครึ่ง ม.33 เรารักกัน เป็นต้น อาจถูกนำมาใช้เพิ่มแต้มให้ “ขั้วรัฐบาล” อีกระลอก ก่อนยุบสภา
ทว่า การยุบสภาในช่วงกลางปี ก็มีข้อจำกัดอยู่ที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เพราะเป็นหมุดหมายของ “นักการเมือง” ต้องการผลักดัน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีให้เสร็จก่อนลงสู้ศึกเลือกตั้ง ยิ่ง “ขั้วรัฐบาล” ด้วยแล้ว การมีปัจจัยช่วยตุนไว้ก่อนย่อมได้เปรียบคู่แข่ง
รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำปี ในช่วงเดือน ก.ย. ที่ พล.อ.ประยุทธ์-พรรคร่วมรัฐบาล จำเป็นต้องจัดทัพใหม่ เพื่อรองรับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายระดับผู้ว่าราชการจังหวัด และที่สำคัญตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ ที่จำเป็นต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนเลือกตั้งใหม่ โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ “บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จะเกษียณอายุราชการในปี 2565
ฉะนั้นหาก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการจะยุบสภากลางปีหน้า ก็อาจต้องคำนวณว่าจะได้หรือเสียมากกว่ากัน หากยังไม่จัดทำงบประมาณ และยังไม่แต่งตั้งโยกย้าย “บิ๊กข้าราชการ”

ไทม์ไลน์สี่ ยุบสภาปลายปี 2565
ในช่วงปลายปี 2565 ประเทศไทยอาจจะฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 จนทุกอย่างมีโอกาสจะเข้าสู่ภาวะปกติมากที่สุด ภาคการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักเหมือนเดิม ภาคธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ ภาคการลงทุนถูกขับเคลื่อนด้วยรัฐบาล หากไม่มีอะไรผิดไปจากแผนฟื้นฟูประเทศของรัฐบาล ทุกกลไกจะกลับมาอยู่ในแดนบวก
ขณะเดียวกัน การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 มีผลบังคับใช้แล้ว การแต่งตั้งโยกย้ายถูกดำเนินการเสร็จสรรพ
หาก พล.อ.ประยุทธ์-พรรคร่วมรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ กระแสอาจจะดีขึ้น บวกกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เริ่มมีการเบิกจ่าย เมื่อ “กระแส-กระสุน” พร้อม ย่อมเป็นเวลาทองของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคร่วมรัฐบาล
ทว่า ปัญหาใหญ่ของการลากไปยุบสภาปลายปี 2565 อาจหนีไม่พ้นปัญหาความขัดแย้งของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่จะกลับมาปะทุขึ้นอีกหรือไม่ ขัดแย้งหนักกว่าเดิมหรือไม่ ก็ยากจะคาดเดา


ไทม์ไลน์ห้า ยุบสภาต้นปี 2566
โจทย์นี้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกเสียจาก พล.อ.ประยุทธ์ อยากได้ชื่อว่าเป็น “รัฐบาลครบเทอม” โดยเทอมของสภาฯ จะมีวาระถึงวันที่ 23 มี.ค.2566 หากต้องการอยู่ครบเทอมสภาฯ 
สำหรับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ คงจะไม่แตกต่างกันหากเลือกไทม์ไลน์ยุบสภาปลายปี 2565 ต่างกับด้านการเมือง สิ่งที่นายกฯ หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของ “ขั้วฝ่ายค้าน” ซึ่งแน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์-พรรคร่วมรัฐบาล จะโดนชำแหละแผลอีกครั้ง หากพลาดก็จะทำให้ “ขั้วรัฐบาล” เสียแต้มได้โดยง่าย เพราะฝ่ายค้านก็จ้องขุดคุ้ยโครงการที่ส่อทุจริต เพื่อนำไปโจมตีทำให้เสียคะแนนนิยม
รอบส่งท้ายนี้ นายกฯ ประยุทธ์ ไม่อาจประมาทได้ เพราะที่สุดแม้แต่นักเลือกตั้งขั้วเดียวกัน ก็ไม่มีใครยอมให้ใครมีกระแสเหนือกว่า โดยเฉพาะพรรคแกนนำรัฐบาลที่อาจเคลมผลงานได้มากกว่า ดังนั้นจึงต้องจับตาเกมใต้ดิน การส่งข้อมูลให้ฝ่ายค้าน ฝ่ายแค้น เล่นงาน่กันเองอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ก็อาจมีให้เห็นได้อีก 
ยังไม่นับสถานการณ์ ที่ต้องลุ้นกับความเคลื่อนไหวนอกสภาฯ ของกลุ่มการเมือง รวมทั้งม็อบเด็ก ม็อบผู้ใหญ่ ที่จ้องหาจังหวะออกมาไล่ส่งรัฐบาลทุกขณะ
ทั้งหมดคือ 5 ไทม์ไลน์ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีทางเลือกในการยุบสภาได้ตลอดเส้นทางปีกว่าที่เหลืออยู่ ที่ต้องประเมินความเสี่ยงรอบด้าน เพราะเกมการเมืองยุคนี้คือ “การรักษาอำนาจให้ยาวนานที่สุด” ไม่ใช่เกมการเมือง “แตกหักแล้วแยกกันเดิน” ง่ายๆ อย่างในอดีต
ดังนั้น 3 โจทย์ใหญ่ “โควิด-เศรษฐกิจ-การเมือง” ซึ่งเป็นปมที่ล่มรัฐบาลได้ หรือเป็นผลงานที่จะดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปต่อ
คาดว่าจะต้องถูกแก้ปัญหาให้จบก่อนยุบสภา ในเมื่อชัดเจนแล้วว่า “3 ป.” พร้อมลุยหนักเพื่อกลับเข้าสู่อำนาจการเมือง “รอบ 3” ให้ได้