รวมทุกเรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ ‘Pfizer’ วัคซีนตัวที่3 ที่รัฐจัดหา

รวมทุกเรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ  ‘Pfizer’ วัคซีนตัวที่3 ที่รัฐจัดหา

การรอคอยใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว สำหรับใครที่กำลังรอวัคซีนโควิด 19 ‘Pfizer’ อีกหนึ่งยี่ห้อ 'วัคซีนที่กำลังจะเข้าไทยภายในปีนี้

หลังจากที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ลงนามในสัญญาเทอมชีท (Term Sheet) กับวัคซีน ‘Pfizer’ (ไฟเซอร์)  โดยมีการทำบันทึกความตกลงจะซื้อจะขาย ซึ่งจะมีเวลา 1 เดือน ในการตกลงเงื่อนไขและราคา เบื้องต้นจำนวน 20 ล้านโดส ส่งมอบภายในปีนี้

บริษัท ไฟเซอร์ มีหลายร้อยประเทศทั่วโลกได้ฉีดไปแล้ว เรียกได้ว่าเป็น 1ใน วัคซีนโควิด 19ที่หลายๆ คนทั่วโลกกำลังรอคอยรวมถึงคนไทย วันนี้ กรุงเทพธุรกิจจะชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักกับวัคซีน ‘Pfizer’

  • วัคซีนโควิด ‘Pfizer’ คืออะไร?   

วัคซีนโควิด ‘Pfizer’ มีชื่อทางการว่า BNT162b2 เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ชนิด mRNA ที่คิดค้นโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมันชื่อไอโบเอ็นเท็ค (BioNTech) โดยวัคซีนชนิดนี้ เป็นการสังเคราะห์สารพันธุกรรมเลียนแบบเชื้อไวรัสขึ้นมา ดังนั้น ในวัคซีนจึงไม่ได้มีอนุภาคของเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียที่ตายแล้วอยู่ภายใน

162333756266

เมื่อ mRNA ถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) เหมือนกับโคโรนาไวรัส ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการติดเชื้อจนเป็น โควิด 19เมื่อร่างกายเห็นโปรตีนส่วนหนามของไวรัสแล้ว จึงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันไว้สำหรับป้องกันไวรัสจริงๆ ที่จะเข้ามาได้

วัคซีน‘Pfizer’ ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 สำหรับผู้ที่อายุ 12 ปีขึ้นไป

วัคซีน  ‘Pfizer’ เป็นวัคซีนโควิด 19’ บริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จในการทดลองเฟสสาม โดยบริษัทได้ประกาศว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพมากกว่า 90% เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 และต่อมาได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2563 ให้ใช้ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป

  • วัคซีน ‘Pfizer’ มีประสิทธิภาพอย่างไร?

วารสารทางการแพทย์ The New England Journal of Medicine ในเดือนธันวาคม 2563 ทดลองในอาสาสมัคร 43,548 คน อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป แบ่งครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีน อีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอก พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 95%

ต่อมาวันที่ 22 เม.ย.2564 ผู้วิจัยได้รายงานตัวเลขใหม่คือ 94.8% และแก้ไขประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มแรกเป็น 92.6% จากเดิม 52.4% เนื่องจากตัวเลขเดิมวิเคราะห์รวมช่วง 2 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งร่างกายยังไม่ทันสร้างภูมิคุ้มกัน ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับของวัคซีน Moderna ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนกันคือ 92.1%

162333757811

นอกจากนี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) กำหนดให้วัคซีน‘Pfizer’มีประสิทธิภาพสูงถึง 100% ในการป้องกันความรุนแรงของโรคที่เกิดจากโควิด 19

ในขณะที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) กำหนดให้ประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรงที่เกิดจากโรคโควิด 19 ไว้ที่ 95.3%

วัคซีน‘Pfizer’  ยังมีผลการทดลองเฟส 3/4 ที่น่าสนใจอีก 2 การทดลองคือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในสหราชอาณาจักรระหว่างเดือนธันวาคม 2563 ถึงมกราคม 2564 พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการหลังฉีดเข็มแรกประมาณ 75%

การทดลองในอิสราเอล ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนให้กับประชากรจำนวนมาก พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 92%  ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 94%  และป้องกันอาการรุนแรง 92%

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีนวัดจากการทดลองทางคลินิก ซึ่งอาจมีการควบคุมกลุ่มทดลอง แต่ในการนำมาใช้กับประชากรจริง ประสิทธิภาพมีโอกาสที่จะต่ำกว่าผลที่สรุปในการทดลองเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น การกลายพันธุ์ของไวรัสใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้ใช้ในการทดลอง

  • วัคซีน‘Pfizer’ ป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่”

เว็บไซต์ของ ‘Pfizer’ เผยว่าวัคซีน‘Pfizer’ มีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันโควิดในแอฟริกาใต้ สถานที่ซึ่งพบสายพันธุ์ B.1.351 เป็นครั้งแรก  นอกจากนี้ การศึกษาอื่นพบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน‘Pfizer’ ครบ 2 เข็ม มีโอกาสติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร หรือ B.1.1.7 น้อยลง 90%

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในห้องทดลอง โดยนำน้ำเหลืองของผู้ที่ได้รับวัคซีนมาทดสอบกับไวรัสที่กลายพันธุ์พบว่ามีประสิทธิภาพลดลง 2.0, 6.5 และ 6.7 เท่าต่อสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7), สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) และสายพันธุ์บราซิล (P.1) ตามลำดับ  ฉะนั้น ข้อมูลที่มีอยู่ยังคงต้องการการสังเกตและพัฒนาในระยะยาวต่อไป

162333759430

  • วัคซีน ‘Pfizer’ ฉีดอย่างไร?

วัคซีน‘Pfizer’ ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21-28 วัน ใช้วิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแขนด้านบน ภูมิคุ้มกันจะเริ่มเกิดหลังจากฉีดวัคซีน‘Pfizer’ ไปแล้ว 12 วัน แต่ภูมิคุ้มกันจะทำงานเต็มที่หลังจากฉีดครบ 2 เข็ม

สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้รุนแรงไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในเข็มที่สอง (วัคซีนไม่มีส่วนประกอบของไข่หรือลาเท็กซ์ แต่มีโพลีเอทิลีนไกลคอล ซึ่งเป็นตัวทำละลายในยาหรือเครื่องสำอาง)

  • ‘Pfizer’ มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ผลการทดลองในเฟสสาม พบว่าวัคซีน ‘Pfizer’ มีความปลอดภัย ส่วนใหญ่เป็นผลข้างเคียงไม่รุนแรง กลุ่มอายุน้อย (16-55 ปี) พบผลข้างเคียงได้มากกว่ากลุ่มอายุมากกว่า 55 ปี เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด 83% พบในกลุ่มอายุน้อย 71% พบในกลุ่มอายุมากกว่า 55 ปี (83% ต่อ 71%) ไม่ค่อยพบอาการบวม/แดงบริเวณที่ฉีด อาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย (47% ต่อ 34%) ปวดศีรษะ (42% ต่อ 25%) หนาวสั่น (14% ต่อ 6%)

ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงพบ 4 ราย ได้แก่ หัวไหล่บาดเจ็บจากการฉีดวัคซีน ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ขวาโต หัวใจเต้นผิดจังหวะชั่วคราว และชาขาข้างขวา แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ขณะที่ภายหลังจากสหรัฐอเมริกาเริ่มฉีดวัคซีนในประชากรจำนวนมาก พบอัตราการแพ้วัคซีนรุนแรง 4.5 รายต่อ 1 ล้านโดสใน 1 เดือนแรก จนถึงขณะนี้วัคซีนถูกฉีดไปแล้วมากกว่า 150 ล้านโดส

162333761574

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.มีรายงานผลการติดตามการฉีดวัคซีนเบื้องต้นพบว่า 86.1% ตั้งครรภ์จนคลอดเป็นทารก (ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนในไตรมาสที่ 3) ในจำนวนนี้คลอดก่อนกำหนด 9.4% ส่วนอัตราการแท้งไม่แตกต่างจากช่วงก่อนที่จะมีการระบาด คณะกรรมการที่รับผิดชอบด้านวัคซีนจึงแนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนเหมือนคนทั่วไป

ผลข้างเคียงที่พบได้ยาก อาจมีดังนี้ เป็นลม เวียนศีรษะ การมองเห็นผิดปกติ รู้สึกชาตามร่างกาย หากมีอาการดังที่กล่าวมานี้หลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที นอกจากนี้การหาที่นั่งพัก หรือนอนราบอาจช่วยให้อาการบรรเทาลงได้

  • เช็ค! อาการแพ้วัคซีน‘Pfizer’มีอะไรบ้าง

อาการแพ้วัคซีน ‘Pfizer’ ถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแพทย์ทันที อาจมีดังนี้  มีผื่นขึ้นตามตัว มีอาการคัน บวม ตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะใบหน้า ลิ้น และลำคอ เวียนศีรษะมาก หายใจลำบาก

อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวอาจไม่ใช่อาการทั้งหมดที่มีโอกาสเกิดได้ หากคุณมีอาการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากด้านบน ควรติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ทันที

1623337648100

  • วัคซีน‘Pfizer’ เหมาะ- ไม่เหมาะกับใคร?

วัคซีน‘Pfizer’ เหมาะกับผู้อยู่ในเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
  • ผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุข และมีโอกาสสัมผัสรับเชื้อมากกว่าคนอื่น
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลให้อาการรุนแรงหากติดเชื้อโควิด 19 เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหอบหืด โรคปอด โรคตับ โรคไต และโรคติดเชื้อเรื้อรังอื่นๆ
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ควรได้รับวัคซีนหลังจากปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลแล้วเท่านั้น
  • ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV เพราะมีโอกาสเสี่ยงสูง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
  • ผู้ที่เคยติดโควิด 19 มาแล้ว อาจรับวัคซีนไฟเซอร์หลังจากติดโควิด 19 มาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน
  • สตรีที่กำลังอยู่ระหว่างให้นมบุตร โดยเฉพาะหากเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านสาธารณสุข ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
  • สตรีมีครรภ์ อาจควรรับวัคซีนหากแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่จะได้รับ มีมากกว่าความเสี่ยง เช่น สตรีมีครรภ์มีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงเมื่อติดโควิด

ทุกเงื่อนไขที่กล่าวมา ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้ชำนาญการก่อนรับวัคซีน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิดได้ที่บทความ คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวัคซีนโควิด

ส่วน ‘Pfizer’ ไม่เหมาะกับผู้ที่มีเงื่อนไขต่อไปนี้ 

หากอยู่ในเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ไม่ควรรับวัคซีนไฟเซอร์ หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

  • ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปี เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์ทำการทดสอบกับผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป องค์การอนามัยโลกจึงยังไม่แนะนำให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปีฉีดวัคซีนไฟเซอร์
  • ผู้ที่มีอาการแพ้ หรือโรคภูมิแพ้ทั้งแบบรุนแรง และไม่รุนแรง ต่อส่วนผสมของ mRNA ในวัคซีนโควิด-19 ไม่ควรรับวัคซีนชนิดนี้
  • ผู้ที่มีอาการแพ้โพลี เอธิลีน ไกคอล (Polyethylene glycol: PEG) และ พอลิซอร์เบต (Polysorbate) เป็นสารชนิดหนึ่งที่ใช้ในเครื่องสำอาง และยาบางชนิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: คร.ลงนามสัญญาจอง'วัคซีนไฟเซอร์'แล้ว 20 ล้านโดส ส่งมอบปี64

                     สิ่งที่ไทยต้องระวัง!! หลังฉีด 'วัคซีนโควิด-19' หมู่มาก

                     'ไบออนเทค-ไฟเซอร์'ขออนุมัติใช้วัคซีนโควิดในวัยรุ่น12-15 ปี

  • การนำ วัคซีน‘Pfizer’ มาใช้ในไทย

‘Pfizer’ ยังไม่ได้มีการนำเข้ามาในประเทศไทย แต่ผ่านการขึ้นทะเบียนและมีการลงนามในสัญญาเรียบร้อยแล้ว  นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า‘Pfizer’ ได้เข้ามานำเสนอข้อมูลผลการวิจัยในระยะต่างๆ รวมถึงผลการใช้จริงในต่างประเทศให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรคเป็นระยะ ซึ่งเดิมวัคซีนของ‘Pfizer’ ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส และเก็บใน2-8องศาฯได้เพียง 5 วัน ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกกับประเทศไทยในการจัดเก็บและขนส่ง เนื่องจากมีสถานที่จัดเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาฯจำนวนน้อย การจะนำวัคซีนมาใช้ในวงกว้างเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ต่อมามีผลการศึกษาเพิ่มเติมของบริษัทแสดงให้เห็นว่าการจัดเก็บและการขนส่งวัคซีนทำได้สะดวกขึ้นและมีข้อมูลสนับสนุนว่าวัคซีนสามารถใช้ได้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปรวมทั้งเงื่อนไขที่บริษัทสามารถส่งวัคซีนให้ใช้ได้ภายในปี 2564 จึงมีการเจรจาต่อเนื่อง เพื่อจองซื้อ ‘Pfizer’ โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมประชากรในกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา

162333773013

 "การจองซื้อวัคซีนไฟเซอร์ของประเทศไทย เพื่อนำมาใช้ปิดช่องว่างฉีดให้กับเด็กกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีแนวโน้มระบาดเป็นกลุ่ม เนื่องจากขณะนี้เป็นวัคซีนตัวเดียวที่มีผลการศึกษาในกลุ่มอายุดังกล่าว ขณะที่ตัวอื่นมีข้อจำกัดให้ใช้ในอายุ 18 ปีขึ้นไป จึงเป็นประโยชน์ต่อประเทศทำให้มีการจองซื้อ และหากได้จำนวนมากก็จะฉีดให้กลุ่มประชากรอื่นด้วย"นพ.นครกล่าว

  • ‘Pfizer’พิสูจน์แล้วมีความปลอดภัยสูง

นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่ากล่าวอีกว่าหากดูจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของแต่ละประเทศที่มีการใช้วัคซีน‘Pfizer’ ก็พบว่าประเทศเหล่านั้นไม่มีปัญหาในแง่ของการจัดการวัคซีนแต่อย่างใด ดังนั้นควรจะต้องจัดการให้ได้ และไม่มาเป็นอุปสรรคในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน

อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนกังวลคือวัคซีน‘Pfizer’เป็นวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งอาจส่งผลต่อสารพันธุกรรมของมนุษย์  นพ.มานพ อธิบายว่า วัคซีนชนิด 162333781665

mRNA ผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามีความปลอดภัยสูง mRNA เป็นสารพันธุกรรมจริง แต่มีความเสถียรสูง เป็นเหตุผลว่าทำไมวัคซีนชนิดนี้จึงต้องเก็บในห้องเย็นจัด เนื่องจากหากเจออุณหภูมิสูง mRNA จะสลายตัวได้ง่ายมาก

นพ.มานพ อธิบายต่อว่า ทันทีที่ฉีดวัคซีนชนิดนี้เข้าสู่ร่างกาย mRNA จะทำหน้าที่เป็นพิมพ์เขียว เป็นต้นแบบของการผลิตโปรตีนที่เป็นสไปค์โปรตีนของเชื้อโควิด 19 หลังจากนั้นเมื่อผลิตโปรตีนเสร็จ mRNA จะสลายจนหมด โปรตีน โควิด 19 ก็จะทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ซึ่งกระบวนเหล่าเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง และอีกนัยหนึ่งถือว่าปลอดภัยกว่าวัคซีนของ AstraZeneca ด้วย

นอกจากนี้ หากดูข้อมูลการใช้วัคซีนจะพบว่า mRNA ได้รับการเลือกใช้มากที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ ไม่มีวัคซีนชนิดใดที่ถูกนำไปใช้งานกว้างขวาง และมีจำนวนการฉีดมากเท่า‘Pfizer’ในส่วนของข้อมูลประสิทธิภาพความปลอดภัยก็ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เคสของประเทศอิสราเอล ที่มีการฉีดวัคซีนจนสามารถสร้างภูมิคุ้มหมู่สำเร็จ ซึ่งนี่ถือเป็นข้อมูลที่ดีที่สุด ดีกว่าผลการศึกษาเฟส 3 ใดๆ ที่เคยมีมา

วัคซีนของPfizerกลายมาเป็นความหวังใหม่ของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวัคซีนหลัก 2 ชนิดที่ไทยมีอยู่ ณ ตอนนี้ กำลังเผชิญกับการตั้งคำถามถึงความปลอดภัยทั้งกรณีการเกิดลิ่มเลือดในผู้ฉีด AstraZeneca และล่าสุด มีรายงานว่าพบผู้ฉีดวัคซีน Sinovac จำนวน 6 คนมีอาการอัมพฤกษ์ ซึ่งอยู่ในระหว่างตรวจสอบความเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีนหรือไม่

นพ.มานพ ยืนยันว่า ผลข้างเคียงใดๆ สามารถเกิดขึ้นได้ อยู่ที่ระดับความรุนแรงของอาการ เนื่องจากการใช้วัคซีนในสนามจริงกับการทดลองเฟสต่างๆ นั้นมีขนาดและปริมาณการใช้งานแตกต่างกันมาก ดังนั้นยิ่งมีการใช้ 'วัคซีนเยอะเท่าไหร่ ก็มีโอกาสพบอาการข้างเคียงมากขึ้นเช่นกัน

162333784448

  •  วัคซีน ‘Pfizer’ ราคาเท่าใด? มีกี่ประเทศฉีด

วัคซีน ‘Pfizer’ ราคาโดสละ 19.5 ดอลลาร์ แพงกว่าวัคซีน AstraZeneca (2-5 ดอลลาร์) แต่วัคซีน ‘Pfizer’ อาจต้องลงทุนเพิ่มในส่วนของการเก็บรักษาและการขนส่งเนื่องจากต้องเก็บในตู้แช่แข็ง -80 ถึง -60 องศาเซลเซียส แต่ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US CDC) สามารถเก็บในอุณหภูมิ -25 ถึง -15 องศาเซลเซียสได้ถึง 2 สัปดาห์

ส่วนตู้เย็นปกติอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้ 120 ชั่วโมง (5 วัน) แต่ไม่สามารถนำกลับมาแช่แข็งได้อีก ในขณะที่อุณหภูมิห้อง 2-25 องศาเซลเซียส เก็บไว้ได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง

ขณะนี้วัคซีนได้รับอนุมัติให้ใช้ใน 48 ประเทศ รวมถึงประเทศในอาเซียน ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ นอกจากนี้วัคซีน‘Pfizer’ ยังอยู่ในโครงการ COVAX ซึ่งมีแผนกระจายวัคซีน 14 ล้านโดสให้กับ 47 ประเทศภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยเฉพาะบราซิล โคลอมเบีย เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ และยูเครน

อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีการ 'ฉีดวัคซีนโควิด 19' แล้ว ทุกคนก็ควรปฎิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขต่อไป  ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น ล้างมือบ่อยๆ  หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนเยอะ หากจำเป็นต้องเข้าสถานที่ที่มีผู้อื่น ควรเปิดหน้าต่างระบายอากาศเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ