ส่อง 'สถานการณ์ทั่วโลก' ฉีด 'วัคซีนโควิด-19' ไปเท่าไหร่
'สถานการณ์ทั่วโลก' การฉีด 'วัคซีนโควิด-19' หลายประเทศเริ่มเห็นผลจากความพยายามฉีดครอบคลุมประชากรให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน'เชื้อกลายพันธุ์' ยังก่อปัญหาในหลายประเทศ เช่น สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่เริ่มพบระบาดในอังกฤษ
นับตั้งแต่ วันที่ 8 ธ.ค. 63 ที่หญิงวัย 91 ปี ฉีด 'วัคซีนโควิด-19' เป็นคนแรกของโลก จนปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 12 มิ.ย. 64) รวมฉีดวัคซีนแล้ว 2,303,866,151 โดส ฉีดวันละ 35,731,046 โดส เริ่มเห็นอุบัติการณ์การติดเชื้อและอัตราการตายลดลง แต่เดิมประชากรโลกติดเชื้อราว 6 แสนรายต่อวัน ตอนนี้ ลงมาเหลือราว 3 แสนราย ขณะเดียวกัน ผู้เสียชีวิตจากเดิมราว 12,000 รายต่อวัน เหลือราว 7,000 - 9,000 รายต่อวัน ประเทศที่ควบคุมได้ดี คือ ประเทศกลุ่มที่ฉีดวัคซีนไปอันดับต้นๆ
- 'สถานการณ์โลก' ดีขึ้นจาก 'วัคซีนโควิด-19'
วันนี้ (15 มิ.ย. 64) “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เรื่องควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 โดยระบุว่า 'สถานการณ์โลก' โดยรวมดีขึ้น ปัจจัยสำคัญน่าจะเป็นจากการที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากและเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีหลากหลายประเทศที่ประชากรของประเทศได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสมากกว่า 50% ซึ่งข้อมูลแสดงให้เห็นชัดเจนถึงการลดลงของอัตราการเสียชีวิต รวมถึงการลดลงของจำนวนผู้ป่วยใหม่ในแต่ละวัน
ข้อมูลจาก WHO แสดงให้เห็นว่า อย่างน้อย 25% ของประชากรในประเทศใดประเทศหนึ่งได้รับการฉีดวัคซีน จะเริ่มเห็นผลบวกของการฉีดวัคซีน แม้ว่าในขณะนี้ ประซากรโลกได้รับวัคซีนแล้วรวมกว่า 25% (ประชากรโลก 7,674 ล้านคนในปี พ.ศ. 2562 และวัคซีนขณะนี้ฉีดแล้วกว่า 2,303 ล้านโดส) แต่การกระจายของวัคซีน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง ประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย ยังมีอัตราการได้รับวัคซีนค่อนข้างต่ำ
- แอสตร้าเซนเนก้า ใช้มากที่สุดในโลก
ปัจจุบัน 'วัคซีนโควิด-19' ที่ใช้มากที่สุด คือ แอสตร้าเซนเนก้า 102 ประเทศ ไฟเซอร์ 85 ประเทศ สปุตนิก วี 68 ประเทศ โมเดอร์นา 49 ประเทศ ซิโนฟาร์ม 47 ประเทศ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 44 ประเทศ และ ซิโนแวค 26 ประเทศ
- แต่ละประเทศฉีด 'วัคซีนโควิด-19' ไปเท่าไหร่
สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศนั้น ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2564 มีดังนี้
สหรัฐอเมริกา
เริ่มฉีด 14 ธ.ค. 63 หญิง 52 ปี
ฉีดแล้ว 306,509,795 โดส
ฉีดวันละ 1,055,610 โดส (ประชากร 332.5 ล้าน)
52.0% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 42.8% ได้ครบโดส
บราซิล
เริ่มฉีด 17 ม.ค. 64 หญิง 54 ปี
ฉีดแล้ว 77,187,235 โดส
ฉีดวันละ 945,678 โดส (ประชากร 212.5 ล้าน)
25.5% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 11.2% ได้ครบโดส
อินเดีย
เริ่มฉีด 16 ม.ค. 64 ชาย 34 ปี
ฉีดแล้ว 249,316,572 โดส
ฉีดวันละ 3,106,957 โดส (ประชากร 1,366 ล้าน)
14.7% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 3.5% ได้ครบโดส
ฝรั่งเศส
เริ่มฉีด 27 ธ.ค. 64
ฉีดแล้ว 43,554,194 โดส
ฉีดวันละ 580,038 โดส (ประชากร 65.2 ล้าน)
46.0% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 23.8% ได้ครบโดส
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สหราชอาณาจักร
เริ่มฉีด 8 ธ.ค. 64 หญิง 91 ปี
ฉีดแล้ว 70,253,625 โดส
ฉีดวันละ 500,570 โดส (ประชากร 67.9 ล้าน)
61.5% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 43.7% ได้ครบโดส
เยอรมนี
เริ่มฉีด 27 ธ.ค. 63 หญิง 101 ปี
ฉีดวัคซีนแล้ว 59,038,531 โดส
ฉีดวันละ 804,819 โดส (ประชากร 83.8 ล้าน)
47.6% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 24.8% ได้ครบโดส
อิสราเอล
เริ่มฉีด 19 ธ.ค. 63 ชาย 71 ปี
ฉีดวัคซีนแล้ว 10,618,819 โดส
ฉีดวันละ 3,855 โดส (ประชากร 8.8 ล้าน)
60.5% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 56.8% ได้ครบโดส
ญี่ปุ่น
เริ่มฉีด 17 ก.พ.64 ชาย 58 ปี
ฉีดวัคซีนแล้ว 20,383,612 โดส
ฉีดวันละ 826,859 โดส (ประชากร 60.5 ล้าน)
12.1% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 4.1% ได้ครบโดส
มาเลเซีย
เริ่มฉีด 24 ก.พ.64 ชาย 74 ปี
ฉีดวัคซีนแล้ว 4,102,936 โดส
ฉีดวันละ 110,357 โดส (ประชากร 31.95 ล้าน)
8.7% ของประชากร ได้รับ 1 โดส และ 3.9% ได้ครบโดส
- ประเทศไทยฉีด 'วัคซีนโควิด-19' 6.5 ล้านโดส
ขณะที่ ข้อมูลล่าสุด 15 มิ.ย. พบว่า ตั้งแต่ 28 ก.พ.2564 ประเทศไทย มีการจัดสรรวัคซีนแล้ว 7,082,361 โดส มีการฉีดแล้ว 6,511,184 โดส เป็นเข็ม 1 จำนวน 4,762,063 ราย และครบ 2 เข็มจำนวน 1,749,121 ราย
โดยพื้นที่ กทม. และปริมณฑล มีประชากรรวม 14,852,388 ราย มีการฉีดเข็ม 1 แล้วจำนวน 2,057,625 ราย ครอบคลุม 13.85% เข็ม 2 จำนวน 660,375 ราย ครอบคลุม 4.45%
เมื่อแยกรายจังหวัด พบว่า กทม.ประชากร 7,699,174 คน ฉีดวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 1,433,304 ราย ครอบคลุม 18.62% เข็ม 2,395, 057 ราย ครอบคลุม 4.45% นนทบรี ประชากร 1,609,191 คน ฉีดเข็ม 1 จำนวน 194,056 ราย ครอบคลุม 12.06% เข็ม 2 จำนวน 70,551 ราย ครอบคลุม 4.38 %
- 'วัคซีนโควิด-19' กับ 'เชื้อกลายพันธุ์
หลายคนอาจยังมีข้อสงสัยว่า โควิด-19 ที่เป็น 'เชื้อกลายพันธุ์' อยู่ในขณะนี้ 'วัคซีนโควิด-19' ที่ใช้ในประเทศ ซึ่งเป็นวัคซีนหลักๆ ได้แก่ ซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิภาพต่อ 'เชื้อกลายพันธุ์' เป็นอย่างไร ทั้งนี้ สำหรับ โควิด-19 'เชื้อกลายพันธุ์' ที่เป็นที่น่าจับตาขณะนี้มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่
B.1.1.7 สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) แพร่ระบาดเร็ว และระบาดไปกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ขณะนี้มีหลักฐานว่ากำลังกลายพันธุ์อีก
B.1.351 สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) แพร่ระบาดเร็ว และระบาดไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก รวมถึงสหราชอาณาจักร มีคุณลักษณะอาจหลุดจากระบบภูมิคุ้มกัน
B.1.617.2 สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) แพร่ระบาดเร็ว เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) นอกจากในอินเดียแล้ว กำลังแพร่ระบาดมากในสหราชอาณาจักร
P.1 สายพันธุ์แกมมา (บราซิล) แพร่ระบาดเร็ว และระบาดไปกว่า 10 ประเทศทั่วโลก รวมถึงสหราชอาณาจักร มีคุณลักษณะอาจหลุดจากระบบภูมิคุ้มกัน
- ผลศึกษา 'วัคซีนโควิด-19'
'แอสตร้าเซนเนก้า'
รายงานจากสหราชอาณาจักร นับจนถึงวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 24.5 ล้านคน ซึ่งไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ส่วนใหญ่เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรงและมักหายไปภายใน 24 ชม. เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ มีไข้ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อาการเหล่านี้สามารถดีขึ้นได้โดยทานยาพาราเซตามอล อาการเหล่านี้พบได้ในการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ เช่นกัน และไม่ได้เกิดจากการได้รับไวรัสโควิด-19 เข้าไป ประสิทธิภาพต่อเชื้อสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ประมาณ 60%
นับจนถึงวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานการเกิดลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำขึ้น 372 คน ในผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ารวม 24.5 ล้านคน (0.0015% หรือ 15 คนต่อผู้ได้รับวัคซีน 1 ล้านคน) หากคิดตามจำนวนโดสหรือจำนวนครั้งของการฉีดพบเกิด 372 ครั้งหลังจากฉีดวัคซีนรวม 40.2 ครั้งโดส (0.0009% หรือ 9 ครั้งต่อการฉีด 1 ล้านครั้ง) ในจำนวนนี้ เสียชีวิตรวม 66 คน (ประมาณ 2.7 คนต่อผู้ได้รับวัคซีน 1 ล้านคน)
หน่วยงานของสหราชอาณาจักรที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของยา/วัคซีนที่ใช้ในสหราชอาณาจักร Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency (MHRA) เสนอให้มีการวิจัยเพื่อหาสาเหตุการเกิดลิ่มเลือดและภาวะเกร็ดเลือดต่ำหลังการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตามข้อมูลสรุปว่าวัคซีนมีความปลอดภัยสูงมาก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19
'ซิโนแวค'
ได้รับการอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินจาก WHO เมื่อ วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเกณฑ์การประเมินครอบคลุมทั้งข้อมูลของการใช้และการลงเยี่ยมดูกระบวนการผลิต The Strategic Advisory Group of Experts on Immunization (SAGE) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปรึกษาของ WHO เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าร่วมในการประเมินและรับรอง ผลข้างเคียงที่พบ คือ ปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน (13-21%) อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว ปวดกล้ามเนื้อทั่วไป อาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 2 วัน สำหรับไข้ พบน้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่น ข้อสรุปของ WHO คือ สามารถฉีดได้ในคนสูงอายุ (ไม่จำกัดอายุสูงสุดที่จะได้รับวัคซีนนี้) ประสิทธิภาพต่อเชื้อสายพันธุ์ P.1 สายพันธุ์แกมมา (บราซิล) ในการป้องกันการเกิดอาการประมาณ 50%
- 'วัคซีนโควิด-19' ลดการระบาด - เสียชีวิต
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ สรุปว่า การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรจำนวนมากและเร็ว มีส่วนสำคัญในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และลดอัตราการเสียชีวิต ชัดเจนเมื่อประชากรในประเทศได้รับวัคซีนเกิน 50% วัคซีนต่อเชื้อโควิด-19 มีความปลอดภัยสูง ขณะนี้ฉีดแล้วกว่า 2,303 ล้านโดส การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 บางสายพันธุ์อาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนลง
“แต่เนื่องจากสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศมีหลากหลาย ดังนั้น การฉีดวัคซีนยังมีประโยชน์มาก มาตรการส่วนบุคคล ใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่คนหนาแน่น ยังมีประโยชน์มากกับการป้องกันเชื้อในทุกสายพันธุ์” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าว