‘โรคไข้หูดับ’ จากการกินหมูดิบ ทำไมอันตรายถึงชีวิต?
จากกรณีครูสาวเสียชีวิตด้วย "โรคไข้หูดับ" เพราะกินเนื้อหมูดิบ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนดู "โรคไข้หูดับ อาการเป็นอย่างไร ทำไมถึงร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แล้วเราจะป้องกันตัวเองจากโรคร้ายนี้อย่างไร?"
จากกรณีที่ครูสาวรายหนึ่งได้ทำการหั่น “หมูดิบ” เพื่อทำหมูกระทะไว้รับประทาน แต่ด้วยเพราะมือของเธอ “เป็นแผล” จึงทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตลงด้วย “โรคไข้หูดับ”
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนรู้ “โรคไข้หูดับ” อาการเป็นอย่างไร พบในหมูดิบอย่างเดียวหรือไม่ ทำไมถึงร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ตามไปหาคำตอบกัน
- โรคหูดับ คืออะไร?
“โรคไข้หูดับ” เป็นโรคที่เกิดจากแบคทีเรียใน “หมู” ที่ปกติมีอยู่ในตัวหมูอยู่แล้วเกือบทุกตัว อยู่ภายในต่อมทอนซิล ไม่ได้ทำให้เกิดโรคระบาดร้ายแรง แต่หากเมื่อตัวหมูมีสภาพร่างกายที่ไม่ดี เช่น มีความอ่อนแอ เครียด หรือมีความเจ็บป่วย โรคนี้จะทำการเพิ่มจำนวนแบคทีเรียด้วยตัวเอง อันซึ่งนำมาสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดของตัวหมูเอง และทำให้หมูล้มป่วยจนเสียชีวิตลงได้
“โรคไข้หูดับ ในทางการแพทย์มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส” หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Streptococcus Suis
- โรคไข้หูดับ ทำไมเกิดขึ้นแค่กับ เนื้อ “หมูดิบ” ?
อันที่จริงแล้ว โรคไข้หูดับ สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ 2 ทาง ดังนี้
1.การบริโภคเนื้อหมู เครื่องในหมู หรือเลือดหมู ที่ไม่ได้ผ่านการทำให้สุกมาก่อน รวมถึงการผ่านการทำอาหารมาแบบกึ่งดิบกึ่งสุกด้วย
2.รับเชื้อเข้าผ่านทางบาดแผลของร่างกาย เช่น ทางรอยถลอก แผลเยื่อบุตา การสัมผัสโรค หรือหมูที่เป็นโรค
- โรคไข้หูดับ อาการเป็นอย่างไร?
เมื่อได้รับเชื้อโรคไข้หูดับเข้าสู่ร่างกายแล้ว ภายในระยะเวลา 3 วัน จะมีอาการดังต่อไปนี้
-มีไข้สูง
-ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดตามข้อ
-มีจ้ำเลือดตามตัวและผิวหนัง
-ซึม คอแข็ง ชัด
-มีการเปลี่ยนแปลงระกับความรู้สึก อย่างไม่คงที่
-นอกจากนี้ยังนำไปสู่ “การเสียชีวิต” ได้หากอาการทรุดหนักจนถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด แต่ผู้ที่ไม่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะ “มีความพิการ” ตามมาด้วย เช่น สูญเสียการทรงตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง หูหนวก บางรายแย่ถึงขั้นหูดับ
-หากสังเกตเห็นได้ถึงความผิดปกติของร่างกายและไม่ได้ทำการ “รักษาภายในระยะเวลา 14 วัน” อาจพิการและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
- โรคหูดับจากหมู ป้องกันอย่างไร?
-ไม่รับประทานเนื้อหมูดิบ (ไม่สุก)
-ไม่ควรรับประทานหมูที่ป่วย ตายจากโรค -โดยวิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือการเลือกบริโภคเนื้อหมูที่ผลิตจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน
-ป้องกันตัวเองด้วยการสวมใส่ชุด รองเท้า หน้ากาก ถุงมือ เพื่อป้องกันตนเองจากหมูที่ป่วย -สำหรับคนที่ต้องทำงานในฟาร์มหมู
-ล้างมือ ล้างเท้า และร่างกายให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสหมู
-เมื่อมีแผลควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหมูโดยตรง
-ทำการกำจัดเชื้อในฟาร์มตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ -เพื่อป้องกันไม่ให้หมูเกิดการป่วยและลามไปทั่วทั้งฟาร์ม
- เกร็ดความรู้ การค้นพบ “โรคไข้หูดับ”
มีการพบผู้ติดเชื้อโรคนี้ครั้งแรกในประเทศเดนมาร์ก ปี 2511 หลังจากนั้นได้พบผู้ป่วยโรคนี้จำนวนมากส่งต่อไปยังหลายๆ ประเทศที่มีการเลี้ยงหมูเป็นจำนวนมาก และมีการระบาดครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 2548 ในประเทศจีน มณฑลเสฉวน โดยมีอาการพิการไปจนถึงขั้นเสียชีวิต
อ้างอิง: โรงพยาบาลสินแพทย์, สถาบันวิจัยสาธารณสุข