เช็คเงื่อนไขรัฐ ‘เยียวยา’ 4 กลุ่ม 6 จังหวัด ไม่เกิน 7,500 บาท
เปิดรายละเอียดมาตรการ "เยียวยา" ผู้ประกอบการและลูกจ้าง ทั้งในระบบและนอกระบบ "ประกันสังคม" ในพื้นที่ 6 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศฉบับที่ 25 ได้แก่ กลุ่มก่อสร้าง, สถานบริการ, ร้านอาหาร, กลุ่มศิลปะบันเทิงและสันทนาการ
หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมทีมเศรษฐกิจ เพื่อจัดทำมาตรการ "เยียวยา" ให้แก่ผู้ประกอบการและลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 25 โดยมีรายงานว่ารัฐได้เตรียมวงเงิน 7,500 ล้านบาท สำหรับการเยียวยากลุ่มดังกล่าว โดยสรุปมีเงื่อนไข ดังนี้
- เช็คพื้นที่ที่ได้รับการเยียวยา 6 จังหวัด
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยรายละเอียดการเยียวยากรณีพิเศษ หลังการประชุมของทีมเศรษฐกิจ ระบุว่า มาตรการที่จะทำในครั้งนี้เป็น “มาตรการพิเศษ” ที่ออกมาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วง 1 เดือนต่อจากนี้ ตามระยะเวลาของประกาศข้อกำหนด ฉบับฯ ที่ 25 โดยจะพุ่งเป้าไปที่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด ได้แก่
- กรุงเทพฯ
- นนทบุรี
- สมุทรปราการ
- นครปฐม
- สมุทรสาคร
- ปทุมธานี
ส่วนพื้นที่ 4 จังหวัดทางภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบประกาศข้อกำหนด ฉบับฯ ที่ 25 นั้น ยังสามารถใช้เงื่อนไขของข้อกำหนดตามประกาศฉบับฯ ที่ 24 อยู่ ดังนั้นจะเป็นคนละส่วน
ทั้งนี้การเยียวยาหากอยู่ในระบบ "ประกันสังคม" รัฐจะจ่ายให้ 50% ของค่าแรง แต่ไม่เกิน 7,500 บาท อย่างไรก็ตามหากมีคุณสมบัติ สัญชาติ คนไทย จะเพิ่มอีก 2,000 บาท หากรายใด ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ไปลงทะเบียนแอพพลิเคชั่น "ถุงเงิน" โดยสรุปเงื่อนไขดังนี้
- เงื่อนไขการเยียวยาในกลุ่ม "ประกันสังคม"
เยียวยาลูกจ้าง ผู้ที่ได้รับผลกระทบในระบบ “ประกันสังคม” ทางกระทรวงแรงงาน พร้อมจะจ่ายชดเชยเนื่องจากเหตุสุดวิสัยให้แก่ลูกจ้าง โดยจะจ่ายให้ลูกจ้าง 50% ของฐานเงินเดือน แต่สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท นี่คือสำหรับลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม ในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
เยียวยาลูกจ้างอีกเช่นกัน โดยทางภาครัฐจะให้เงินเพิ่มเติมกับลูกจ้างในระบบประกันสังคม อีก 2,000 บาทต่อคน ซึ่งมีสาเหตุมาจากว่า ลูกจ้างบางแห่งอาจจะถูกตัดเงินเดือนไปเลยในช่วง 1 เดือนนี้ แม้จะได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม 50% ก็อาจจะไม่เพียงพอ รัฐจึงเพิ่มเติมเงินให้อีก เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่าย
นายจ้าง/ผู้ประกอบการ ก็จะได้รับการเยียวยาเช่นกัน โดยจะได้เงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวของลูกจ้างที่อยู่ในบริษัท แต่สูงสุดไม่เกิน 200 คน นั่นหมายความว่าหากผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง 1 คน ก็จะได้เงินช่วยเหลือจากทางรัฐบาลมอบให้ผู้ประกอบการ 3,000 บาท / ถ้ามีลูกจ้าง 5 คน รัฐก็จะโอนเงินช่วยเหลือส่งให้ผู้ประกอบการ 15,000 บาท เป็นต้น
ถ้ามีลูกจ้างมากกว่านี้ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือมากขึ้นตามไป ตามจำนวนหัวของลูกจ้าง แต่สูงสุดไม่เกิน 200 คน รวมระยะเวลา 1 เดือน
- เงื่อนไขการเยียวยา นายจ้าง/ลูกจ้าง ที่อยู่ "นอกประกันสังคม"
สำหรับการเยียวยาผู้ที่อยู่นอกระบบ “ประกันสังคม” แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มนายจ้างที่มีลูกจ้าง และ นายจ้างที่ไม่มีลูกจ้าง รายละเอียดดังนี้
1. นายจ้าง/ผู้ประกอบการ ที่มีลูกจ้างแต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม
ในกรณีที่ผู้ประกอบการ/โรงงาน ที่ยังไม่อยู่ในระบบ และต้องการความช่วยเหลือให้ไปขึ้นทะเบียนเข้าในระบบประกันสังคม ในช่วง 1 เดือนจากนี้ ทางกระทรวงแรงงานจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่อยู่ในระบบให้เข้าระบบได้สะดวก โดยจะชดเชยเยียวยาให้ในรายละเอียดดังนี้
- ลูกจ้างที่มีสัญชาติไทย จะได้รับเงินเยียวยาคนละ 2,000 บาทต่อคน แต่ในส่วนที่เป็นเงินช่วยเหลือ 50% ซึ่งเป็นเงินที่ให้จากเหตุสุดวิสัยนั้น ในทางกฎหมายของประกันสังคมกำหนดเอาไว้ว่า จะต้องจ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน จึงจะได้เงินในส่วน 50%
- นายจ้าง ได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวของลูกจ้าง (ไม่เกิน 200 คน)
2. ผู้ประกอบการนอกระบบประกันสังคมที่ไม่มีลูกจ้าง
ในส่วนของ ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้เพราะไม่มีลูกจ้าง ก็ยังสามารถไปขึ้นทะเบียนเข้าสู่แอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” ได้ภายใน 1 เดือนนี้ และต้องขอความร่วมมือจากทางกระทรวงมหาดไทยให้ลงไปช่วยตรวจสอบ ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท
ทั้งนี้ มาตรการชดเชยดังกล่าว อยู่ในกรอบวงเงิน 7,500 ล้านบาท จากรัฐบาลราว 4,000 ล้านบาท และในส่วนประกันสังคมก็ใช้วงเงินประมาณ 3,500 ล้านบาท